ภาพเอกซเรย์ 3 มิติ เผยคนอียิปต์โบราณหักคอลูกแมวทำมัมมี่
ทีมนักวิทยาศาสตร์ในเวลส์ใช้เครื่องเอกซเรย์ความละเอียดสูงศึกษามัมมี่สัตว์อายุกว่า 2,000 ปี และพบว่าแมวที่คนอียิปต์ในยุคโบราณนำมาทำมัมมี่นั้นมีร่องรอยถูกหักคอ และเป็นเพียงลูกแมวอายุไม่ถึง 5 เดือน - BBCไทย
ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสวอนซี ได้นำมัมมี่แมว นก และงู ที่เก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์ที่ศูนย์อียิปต์ของมหาวิทยาลัยมาทำการศึกษาโดยใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ระดับไมโครเมตร (micro CT) ซึ่งสามารถประมวลข้อมูลออกมาเป็นภาพ 3 มิติได้
ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Scientific Reports ไม่เพียงจะแสดงให้เห็นถึงวิธีการทำมัมมี่ของคนอียิปต์โบราณ แต่ยังเผยให้เห็นถึงสาเหตุการตายของสัตว์เหล่านี้ด้วย
นักวิทยาศาสตร์ค้นพบอะไรบ้าง
ผลเอกซเรย์กระดูกมัมมี่แมวพบว่า แมวตัวนี้เป็นแมวบ้าน (Felis catus) โดยฟันกรามที่ยังไม่งอกออกมาและซ่อนอยู่บริเวณขากรรไกรล่างบ่งชี้ว่ามันยังเป็นลูกแมวอายุไม่เกิน 5 เดือน นอกจากนี้ ที่กระดูกสันหลังยังพบหลักฐานที่แสดงว่าคอของมันถูกทำให้หักอย่างจงใจ
- เครื่องเอกซเรย์ความละเอียดสูงช่วยให้นักวิจัยศึกษามัมมี่แมวได้โดยไม่สร้างความเสียหายแก่ตัวมัมมี่ / EGYPT CENTRE/SWANSEA UNIVERSITY/PA WIRE
ส่วนมัมมี่งู นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าเป็นงูเห่าอียิปต์ (Egyptian cobra) ที่ยังไม่โตเต็มวัย โดยผลวิเคราะห์ภาพเอกซเรย์พบว่ามันตายจากการถูกจับหางแล้วฟาดเข้ากับพื้นหรือกำแพงจนคอหัก นอกจากนี้ยังพบหลักฐานว่าไตได้รับความเสียหาย ซึ่งอาจเป็นผลมาจากภาวะที่ร่างกายขาดน้ำอย่างรุนแรงในวาระสุดท้ายของชีวิต
แทนที่จะเอกซเรย์มัมมี่ทั้งตัว ทีมนักวิจัยได้มุ่งศึกษาเป็นส่วนๆ ไป เพื่อให้ได้รายละเอียดมากขึ้นสำหรับการสร้างแบบจำลองมัมมี่โดยใช้เทคโนโลยีการจำลองภาพเสมือนจริง (virtual reality หรือ VR) แบบ 360 องศา
- เครื่องเอกซเรย์ความละเอียดสูงช่วยให้นักวิจัยศึกษากะโหลกศีรษะแมวได้อย่างละเอียด / SWANSEA UNIVERSITY
ศาสตราจารย์ริชาร์ด จอห์นสัน หนึ่งในทีมวิศวกรที่ใช้เครื่องเอกซเรย์ความละเอียดสูงในการศึกษาครั้งนี้กล่าวว่า "ด้วย VR ผมสามารถทำให้กะโหลกศีรษะแมวมีขนาดใหญ่เท่าบ้านแล้วเข้าไปสำรวจรอบ ๆ ได้ ซึ่งนั่นทำให้ทีมงานได้ค้นพบฟันกรามที่ยังไม่งอกของลูกแมว อันเป็นเบาะแสที่บอกให้รู้ว่ามันมีอายุไม่ถึง 5 เดือน"
ขณะที่มัมมี่นกพบว่ามีลักษณะเหมือนกับเหยี่ยวเคสเตรล ชนิดที่พบได้ในทวีปยุโรปและเอเชีย (Eurasian kestrel) แต่ผลการเอกซเรย์ไม่พบหลักฐานแน่ชัดว่ามันตายด้วยสาเหตุอะไร
เหตุใดคนอียิปต์โบราณจึงทำมัมมี่สัตว์
ผลการค้นพบครั้งนี้สอดคล้องกับสิ่งที่ศูนย์อียิปต์แห่งมหาวิทยาลัยสวอนซีมีความเชื่ออยู่แล้วเรื่องที่คนอียิปต์โบราณใช้มัมมี่สัตว์ในเชิงพิธีกรรม
โดยผลเอกซเรย์มัมมี่งูพบกระบวนการ "เปิดปาก" โดยมีวัสดุคล้ายหินอยู่ข้างในปาก ซึ่งอาจเป็นแร่เนตรอน (natron) ซึ่งเป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่งที่คนอียิปต์โบราณใช้ชะลอการเน่าเปื่อยของศพ
- ภาพเอกซเรย์มัมมี่งูพบกระบวนการ "เปิดปาก" โดยมีวัสดุคล้ายหินอยู่ข้างในปาก / SWANSEA UNIVERSITY
คนแต่งศพในยุคนั้นมักเปิดปากและตาของมัมมี่เพื่อให้คนตายสามารถมองเห็นและสื่อสารกับคนเป็นได้ แต่ในอดีตมักพบกระบวนการนี้ในมัมมี่มนุษย์ ผู้เชี่ยวชาญสันนิษฐานว่ามัมมี่งูตัวนี้อาจถูกใช้เป็นตัวแทนในการส่งสารระหว่างเทพเจ้ากับผู้บูชาเทพเจ้า
- ภาพมัมมี่งู เมื่อมองดูจากด้านนอก / EGYPT CENTRE/SWANSEA UNIVERSITY/PA WIRE
- ผลวิเคราะห์ภาพเอกซเรย์พบว่างูเห่าอียิปต์ตัวนี้ตายจากการถูกจับหางแล้วฟาดกับพื้นหรือกำแพงจนคอหัก / SWANSEA UNIVERSITY
คนอียิปต์โบราณซึ่งมีความเชื่อเรื่องโลกหลังความตายมักนำสัตว์ชนิดต่าง ๆ เช่น แมว นกช้อนหอย นกเหยี่ยว งู จระเข้ และสุนัข มาทำมัมมี่ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น การฝังมัมมี่สัตว์เลี้ยงไปพร้อมกับเจ้าของ
นอกจากนี้ ยังพบการฝังมัมมี่สัตว์ที่เป็นอาหารของมนุษย์เพื่อใช้เป็นแหล่งอาหารในปรโลก รวมทั้งมีการนำมัมมี่สัตว์ศักดิ์สิทธิ์มาบูชา แต่ที่พบบ่อยที่สุดคือการนำมัมมี่สัตว์ไปถวายเป็นเครื่องสักการะต่อเทพเจ้า นักโบราณคดีเชื่อว่าอาจมีมัมมี่สัตว์มากถึง 70 ล้านตัวถูกฝังไว้ตามสุสานใต้ดินทั่วอียิปต์