เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากลที่ใช้ในการสื่อสาร ซึ่งในปัจจุบันนี้คนที่สามารถสื่อสารด้วยภาษานี้ได้กลับไม่ใช่คนที่ได้เปรียบเหนือคนอื่น ๆ มากนัก จากการที่ภาษานี้มีความจำเป็นในการเรียนและการทำงานมากขึ้นทุกวันจนเรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการทำงานของหลายอาชีพมากขึ้นไม่ใช่แค่อาชีพที่ใช้ภาษาเป็ยหลักอย่างนักแปล ล่าม หรือมัคคุเทศก์เท่านั้นความจำเป็นของการรู้ภาษาอังกฤษนี้สังเกตได้จากการให้ความสำคัญในภาษานี้ของคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการสอบเข้าปริญญาโทมหาวิทยาลัยต่าง ๆ การสมัครงาน รวมไปถึงการศึกษาต่อต่างประเทศแม้ว่าประเทศนั้น ๆ จะไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการในการสื่อสารก็ตาม เพราะนอกจากเรื่องการสื่อสารแล้ว การที่เราสามารถสื่อสารได้มากกว่าหนึ่งภาษาก็ยังบ่งบอกทักษะในการเรียนรู้ในภาษาใหม่ ๆ ได้อีกด้วยซึ่งตัวเราที่กำลังเรียนอยู่มหาวิทยาลัยก็เป็นอีกคนหนึ่งที่มองเห็นโอกาสของการใช้สิทธิการเป็นนิสิต เพื่อเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ ๆ จากต่างประเทศ เราเลยเป็นเด็กคนหนึ่งที่ต้องการเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน และเป็นอีกครั้งที่คะแนนสอบภาษาอังกฤษเข้ามามีบทบาทกับชีวิต แม้ว่าสุดท้ายแล้วเราจะไม่ได้ไปยังประเทศนั้นด้วยข้อจำกัดหลาย ๆ อย่างที่เกิดขึ้น แต่การเตรียมตัวครั้งนี้ก็ไม่เคยสูญเปล่าในสายตาเราวันนี้เราเลยจะมาแชร์ประสบการณ์การเตรียมสอบ TOEFL ที่เป็นหนึ่งในเกณฑ์คะแนนที่จำเป็นของการไปแลกเปลี่ยนครั้งนี้ ที่ให้อะไรหลาย ๆ อย่างกับเราค่ะทำความรู้จักกับข้อสอบหลังจากที่ตัดสินใจได้แล้วว่าอยากไปแลกเปลี่ยนประเทศอะไร ขั้นตอนแรกของการเตรียมตัวสอบก็คือการทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อสอบ โดยส่วนใหญ่แล้วคะแนนที่ต้องใช้ในการสอบเข้าจะหนีไม่พ้น IELTS หรือ TOEFL ซึ่งประเทศจุดหมายปลายทางของเราอย่างไต้หวัน ใช้คะแนนสอบขั้นต่ำ 79 คะแนนในการยื่นค่ะข้อสอบ TOEFL หรือ Test of English as a Foreign Language ที่วัดทักษะทั้งในเรื่องของ Listening, Speaking, Reading และ Writing ซึ่งเป็นการวัดระดับการใช้ภาษาในชีวิตประจำวัน ห้องเรียน หรือสถานการณ์ต่าง ๆ หลังจากที่เราทำความเข้าใจเกี่ยวกับรูปแบบของข้อสอบ เราชอบความเป็นเหตุเป็นผลของการจัดสอบของ TOEFL มาก ๆ เพราะรูปแบบของการสอบในแต่ละพาร์ทมีความสำคัญต่อกระบวนการคิดในชีวิตประจำวัน เช่น Listening มักจะใช้เนื้อหาเฉพาะทางอย่างวิชาวิทยาศาสตร์หรือประวัติศาสตร์ศิลปะเพื่อจำลองการเลคเชอร์ในชั้นเรียน Speaking จะมีทั้งการแนะนำตัวเองและการสรุปบทสนทนาเพื่อฝึกทักษะความเข้าใจในการสื่อสาร Reading เป็นเหมือน Checklist ของการทำความเข้าใจบทความที่ไม่ต่างอะไรกับการมอบหมายให้อ่านหนังสือด้วยความเข้าใจก่อนเข้าชั้นเรียน และ Writing เป็นทักษะการเขียนที่เน้นการเล่าเรื่องให้ผู้อ่านเข้าใจผ่านจำนวนคำที่กำหนดเพราะอย่างนี้เราถึงมองว่าการทำความรู้จักกับข้อสอบถึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะถ้าเราเข้าใจจุดประสงค์ของการออกข้อสอบในแต่ละส่วน ก็จะเห็นความสำคัญว่าทำไมถึงต้องตั้งใจทำแต่ละพาร์ทค่ะ อย่างข้อสอบ TOEFL นี้ก็เป็นการวัดระดับอย่างง่าย ๆ ว่าเราจะมีความสามารถมากเพียงพอในการเรียนต่างประเทศได้อย่างตลอดรอดงฝั่งนั่นเองPre-test วัดระดับตัวเองหลังจากที่เรารู้รูปแบบของข้อสอบแล้ว สิ่งแรกที่เราทำก็คือการวัดขีดความสามารถของตัวเองก่อนการอ่านหนังสือ ซึ่งเรามีเป้าหมายหลักในการพิจารณาว่าเราควรใช้เวลากับพาร์ทไหนมากที่สุด และใช้เวลาในการอ่านส่วนไหนน้อยถ้าเรามีความถนัดอยู่บ้างแล้วในเบื้องต้นในช่วงแรกเราตัดสินใจที่จะลงเรียนพิเศษแบบกลุ่มในสถาบัน เพราะคิดว่าการมีคนให้ถามว่าอะไรถูกอะไรผิดจะช่วยลดเวลาและเพิ่มความเข้าใจในเนื้อหาของแต่ละส่วน แต่ด้วยราคาของที่เรียนพิเศษแต่ละที่ทำให้เรารต้องล้อมเลิกความคิดนี้ไป อย่างไรก็ตาม เราได้เข้าไปสอบวัดระดับเบื้องต้นกับทางสถาบัน Keaes Academics ซึ่งเป็นสถานที่ที่เราเดินทางไปเรียนได้สะดวกที่สุดการทำ Pre-test ในครั้งนี้ทำให้เราเห็นความสามารถจริงของตัวเอง ซึ่งในตอนแรกเราคิดว่าจะได้มากกว่า 70 คะแนน (เต็ม 120 คะแนน) แต่จริง ๆ แล้วความสามารถของเราอยู่ที่ประมาณ 60 คะแนนต้น ๆ เท่านั้น ซึ่งการสอบครั้งนี้ทำให้เราวางแผนการสอบได้ละเอียดมากขึ้นจัดตารางอ่านหนังสือช่วงนั้นเป็นเวลาหลังจากที่เราอ่านหนังสือของ โคโนะ เก็นโตะ ซึ่งเป็นหนังสือที่ให้อะไรหลาย ๆ อย่างกับเรา ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดที่เราได้รับมาก็คือไฟในการอ่านหนังสือและความสำคัญของการวางแผนและวัดผลค่ะ เราเลยตัดสินใจจะสอบโดยใช้เวลาอ่านหนังสือ 3 เดือนในเวลานั้น เรากำลังฝึกงานในบริษัทเล็ก ๆ แห่งหนึ่งอยู่ค่ะ ทำให้แผนในการอ่านหนังสือของเราตอนนั้นเป็นแผนที่เหมาะสำหรับคนในวัยทำงานมาก ๆ เพราะเราใช้เวลาก่อน หลังการทำงาน รวมถึงวันหยุดในการอ่านหนังสือตลอด 3 เดือนค่ะซื้อหนังสือเราตัดสินใจซื้อแค่หนังสือในพาร์ทที่เราไม่ถนัดที่สุดนั่นก็คือ Writing เพื่อหาเทคนิคในการเขียนที่เหมาะกับตัวเอง ที่สำคัญคือเน้นปริมาณการฝึกฝนทบทวนเพื่อให้ตัวเองเคยชินกับรูปแบบของข้อสอบมากที่สุดค่ะ นอกจากนี้สิ่งที่เราควรมีก็คือข้อสอบเก่าค่ะ เพื่อที่จะมั่นใจได้ว่าเราสามารถจัดการกับความเครียดในการสอบติดกันหลายชั่วโมงได้และไม่มึนหัวไปเสียก่อนที่จะทำได้ครบทุกพาร์ท เพราะการทบทวนแยกทีละพาร์ทไม่เหมือนกับการสอบติดต่อกันทั้งหมดนั่นเอง ซึ่งเค็ดลับสำคัญในส่วนนี้ก็คือการใช้หนังสือของหน่วยงานที่ออกข้อสอบเพื่อที่จะเรียนรู้แนวที่คล้ายข้อสอบจริงที่สุดค่ะเรียนพิเศษด้วยงบและเวลาที่มีจำกัด ทำให้เราหาตัวช่วยในการเรียนที่คนวัยทำงานใช้กัน ซึ่งทางออกของเราก็คือเว็บไซต์ NoteFull ที่เรียกได้ว่าเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้ทักษะภาษาอังกฤษของเราพัฒนาขึ้นอย่างมาก เพราะเป็นการเรียนแบบติวเตอร์สอบพิเศษที่ถ่ายทอดประสบการณ์การสอบออกมาเป็นแบบฝึกหัดและเลคเชอร์ในแต่ละวันซึ่งเราก็ได้ทำการเรียนตามระบบของทางเว็บไซต์รวมถึง Live ของอาจารย์ที่คอยอัพเดทอยู่เสมอเมื่อข้อสอบมีการเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญคือเราฝึกฝนรูปแบบของข้อสอบอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ตัวเองจดจำและคุ้นเคยกับรูปแบบการให้คะแนนของ TOEFL ค่ะ จุดเปลี่ยนสำคัญเมื่อเวลาเลยผ่านไปประมาณ 2 เดือน เราหยุดการอ่านหนังสือทั้งหมด เพราะเกิดปัญหาใหญ่ที่เราไม่สามารถควบคุมได้.. ในวันที่เราตัดสินใจวางแผนการสอบ TOEFL เราวางแผนทำงานพิเศษและลงแข่งขันในงานต่าง ๆ เพื่อเก็บเป็นทุนการศึกษาในการเรียนและการใช้ชีวิตในประเทศไต้หวันซึ่งเป็นเป้าหมายของเรา แต่ระหว่างทางที่เราอ่านหนังสือ กลายเป็นว่าการเงินที่บ้านของเรากลับสั่นคลอน ทำให้เราต้องนำเงินเก็บมาใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้นจนต้องล้มเลิกความฝันไปค่ะแต่ไม่ต้องเป็นห่วงไปนะคะ เพราะเรายังคงมีความตั้งใจที่จะอ่านหนังสือทบทวนอีกครั้งหลังจากที่เรามีความพร้อมมากพอ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของการเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนหรือการศึกษาในระดับปริญญาโทก็ตาม ผลลัพธ์ที่สัมผัสได้แม้ว่าเราจะไม่ได้เห็นผลลัพธ์ของคะแนนสอบ TOEFL หลังจากการอ่านหนังสือ แต่ทักษะภาษาอังกฤษยังคงอยู่กับเราค่ะ เนื่องจากว่ามหาวิทยาลัยที่เราเรียนอยู่ซึ่งก็คือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดการสอบวัดระดับอย่าง CUTEP ให้กับนิสิตปี 1 และปี 3 ซึ่งเรามองว่าการสอบครั้งนี้น่าจะเป็นการชี้วัดอะไรหลาย ๆ อย่างได้เพราะการสอบมีความคล้ายกันอยู่บ้างซึ่งคะแนนที่ออกมาทำให้เราดีใจมาก เพราะเราไม่ได้อ่านหนังสือก่อนไปสอบเลยด้วยความที่ว่าช่วงของการสอบ CUTEP อยู่ใกล้กับการสอบกลางภาค เราจึงให้ความสำคัญกับการสอบที่ส่งผลต่อเกรดเฉลี่ยโดยรวมมากกว่า แต่คะแนนกลับเพิ่มขึ้นมาเกือบ 20 คะแนน นอกจากนี้คะแนนตรงนี้ยังมีอายุยาวนานถึง 2 ปีทำให้เราสามารถใช้คะแนน CUTEP ในการยื่นหลักสูตรปริญญาโทของจุฬาฯได้ด้วยค่ะ!นอกจากคะแนน CUTEP แล้ว คะแนนสอบวิชาภาษาอังกฤษของเราดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับการสอบในปี 1 ซึ่งเป็นหลักฐานอย่างดีในการยืนยันว่าทักษะภาษาอังกฤษของเราดีขึ้นจริง ๆ ค่ะ ถึงเราจะทุ่มเทให้กับการเตรียมตัวสอบไปพร้อม ๆ กับการฝึกงานช่วงปิดเทอมโดยที่ไม่ได้วัดระดับอย่างจริงจังหลังจากการอ่านหนังสือจึงไม่เห็นผลลัพธ์จากการพยายามตลอด 2 เดือน แต่เราก็สามารถพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าทักษะภาษาอังกฤษของเราในหลาย ๆ ด้านพัฒนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งการฟังอย่างเข้าใจที่ได้จากข้อสอบ Listening การพูดที่ชัดเจนจากการฝึกฝน Speaking นิสัยการอ่านก่อนเข้าเรียนที่ได้จาก Reading และการเขียนบรรยายให้เข้าใจจาก Writing ดังนั้น สำหรับใครที่กำลังเตรียมสอบวิชาอะไรอยู่ก็ตาม ไม่ต้องกังวลว่าคะแนนสอบไม่ดีอย่างที่คิดหรือเกรดไม่ดีอย่างที่หวังไว้นะคะ เพราะการได้ทำอย่างเต็มที่ก็เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้ทักษะของเราพัฒนาอยู่เสมอ และแรงทั้งหมดที่เราทุ่มเทลงไปจะไม่มีทางเสียเปล่าแน่นอนค่ะ!เครดิตภาพถ่ายจาก _miizzion และขอบคุณรูปภาพจากเว็บไซต์ NoteFull