รีเซต

ตั้ง 'จีเอเอ' ลงทุนระบบน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน

ตั้ง 'จีเอเอ' ลงทุนระบบน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน
มติชน
20 สิงหาคม 2564 ( 05:39 )
81
ตั้ง 'จีเอเอ' ลงทุนระบบน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน

 

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุ เพื่อประกอบการระบบบริการน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ผ่านระบบการประชุมทางไกล ระหว่าง กระทรวงการคลัง
โดย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และบริษัท โกลเบิลแอโร่แอสโซซิเอทส์ จํากัด (จีเอเอ) กิจการร่วมค้าของบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ ว่า ปัจจุบันทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตการณ์ครั้งสำคัญของมนุษยชาติจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและวิถีการดำรงชีวิตและการทำงาน รัฐบาลจำเป็นต้องรักษาสมดุลของการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับระบบบริหารจัดการทางด้านสาธารณสุข และการผลักดันให้ภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม ยังคงดำเนินการต่อไปได้อย่างราบรื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี

 

สำหรับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกนั้น เป็นโครงการร่วมลงทุนที่สำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของอีอีซี เพื่อรองรับการขนส่งทางอากาศทั้งการขนส่งผู้โดยสารและการขนส่งสินค้า และระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานภายในสนามบินก็เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินงานของสนามบิน จำเป็นต้องมีการคัดเลือกเอกชนให้เข้ามาเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งรวมถึงระบบบริการน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน และในวันนี้ สกพอ. ได้ดำเนินการคัดเลือกผู้ประกอบการระบบบริการน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานจนประสบความสำเร็จ จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง และถือเป็นอีกก้าวหนึ่งในการพัฒนาอีอีซี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นทางด้านการค้าและการลงทุนให้แก่นักลงทุน และกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในพื้นที่อีอีซีมากขึ้น อันจะนำไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง

 

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดย สกพอ. ร่วมกับกองทัพเรือ ได้คัดเลือกเอกชนเพื่อเข้าร่วมพัฒนาระบบสาธารณูปโภค ซึ่งในส่วนของงานบริการน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานได้ดำเนินการคัดเลือกผู้ประกอบการด้วยความเป็นธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้ จนประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง โดยได้คัดเลือก “กิจการร่วมค้าบาฟส์และโออาร์” เป็นผู้เช่าที่ดินราชพัสดุเพื่อประกอบการระบบบริการน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งเป็นผู้ที่มีประสบการณ์มาอย่างยาวนาน มีความเชี่ยวชาญ และมีมาตรฐานการดำเนินงานในระดับสากล นับเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดประโยชน์ ทั้งในด้านการได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่จากภาคเอกชน อีกทั้ง เป็นการลดภาระในด้านงบประมาณและบุคลากรในส่วนของภาครัฐ และเป็นการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีโอกาสในการดำเนินธุรกิจได้มากขึ้น ทำให้ภาคประชาชนได้รับประโยชน์และความสะดวกสบายจากการบริการสาธารณะที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

หม่อมหลวงณัฐสิทธิ์ ดิศกุล ประธานกรรมการ บริษัท โกลเบิลแอโร่แอสโซซิเอทส์ จํากัด (จีเอเอ) กล่าวว่า จีเอเอพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง และการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับสังคม ด้วยความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจด้านการบริหารจัดการและการให้บริการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานและธุรกิจด้านพลังงาน มามากกว่า 30 ปี โดย บาฟส์ และ โออาร์ จะสนับสนุนให้จีเอเอ มีศักยภาพ ด้วยความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อให้การบริหารจัดการและการให้บริการณสนามบินอู่ตะเภามีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการค้าน้ำมันเสรี ดูแลระบบท่อส่งน้ำมันใต้ลานจอด และในทุกกระบวนการตามขั้นตอนและมาตรฐานสากลที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก

 

สำหรับ จีเอเอ จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ด้วยมีทุนจดทะเบียน 600 ล้านบาท โดย บาฟส์ ถือหุ้น 55% และ โออาร์ ถือหุ้น 45% สำหรับโครงการเช่าที่ดินราชพัสดุดังกล่าวมีมูลค่าการลงทุนเริ่มแรกประมาณ 2,300 ล้านบาท ซึ่ง จีเอเอ จะจัดเตรียมความพร้อมในด้านระบบบริการน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน ส่งเสริมศักยภาพสนามบินอู่ตะเภาที่สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 60 ล้านคนต่อปี เพื่อสร้างความมั่นคงด้านการให้บริการเติมน้ำมันอากาศยานรองรับการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของสนามบินอู่ตะเภา ในปี 2568 และการเติบโตของอีอีซีตามนโยบายการพัฒนาประเทศของรัฐบาล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง