รีเซต

นิด้าโพลเผย กว่าครึ่งของกลุ่มสำรวจ 'เห็นด้วยมาก' กับการจัดที่สำหรับชุมนุมสาธารณะใน กทม.

นิด้าโพลเผย กว่าครึ่งของกลุ่มสำรวจ 'เห็นด้วยมาก' กับการจัดที่สำหรับชุมนุมสาธารณะใน กทม.
มติชน
3 กรกฎาคม 2565 ( 14:39 )
39
นิด้าโพลเผย กว่าครึ่งของกลุ่มสำรวจ 'เห็นด้วยมาก' กับการจัดที่สำหรับชุมนุมสาธารณะใน กทม.

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “กทม. ไฟเขียว 7 สถานที่ จัดชุมนุมได้” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 27-29 มิถุนายน 2565 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้านอยู่กรุงเทพมหานคร กระจายทุกระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการจัดให้มีสถานที่ใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะ 7 แห่ง ในกรุงเทพฯ การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อคำสั่งผู้ว่าฯ กทม. ในการจัดให้มีสถานที่ใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะ 7 แห่ง ในกรุงเทพฯ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 54.89 ระบุว่า เห็นด้วยมาก เพราะ เป็นการจัดระเบียบให้การชุมนุมอยู่ในสถานที่ที่เหมาะสม ไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น ไม่กีดขวางการจราจร และเจ้าหน้าที่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง ขณะที่บางส่วนระบุว่า เป็นการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนสามารถแสดงออกทางความคิดได้ รองลงมา ร้อยละ 29.16 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะ ทำให้การชุมนุมเป็นระเบียบ ไม่วุ่นวาย เจ้าหน้าที่สามารถดูแลและควบคุมได้ ขณะที่บางส่วนระบุว่า ไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ใช้รถใช้ถนน ร้อยละ 9.16 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะทำให้เกิดการชุมนุมบ่อยครั้งขึ้น สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง อาจทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท และความขัดแย้งในสังคม ร้อยละ 6.71 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะ การชุมนุมสร้างความวุ่นวาย ทำให้ประชาชนในบริเวณใกล้เคียงได้รับความเดือดร้อน กังวลว่าเจ้าหน้าที่จะไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ขณะที่บางส่วนระบุว่า กังวลว่าจะเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จากการชุมนุม และร้อยละ 0.08 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ด้านสิ่งที่ผู้ว่าฯ กทม. ควรดำเนินการ หากมีการชุมนุมที่ไม่ได้อยู่ในสถานที่ที่จัดไว้ให้ แต่ไปอยู่บนท้องถนนแทน พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 40.08 ระบุว่า ไม่อำนวยความสะดวกในการชุมนุม (เช่น ไม่จัดห้องน้ำให้) และดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้ชุมนุม รองลงมา ร้อยละ 36.79 ระบุว่า อำนวยความสะดวกในการชุมนุมเหมือนเดิม ร้อยละ 22.44 ระบุว่า ไม่อำนวยความสะดวกในการชุมนุม (เช่น ไม่จัดห้องน้ำให้) เท่านั้น และร้อยละ 0.69 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความเชื่อมั่นของประชาชนต่อ กทม. ในการควบคุมการชุมนุมในกรุงเทพฯ ให้เป็นไปตามประกาศ กทม. เรื่อง จัดให้มีสถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 36.18 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อมั่น รองลงมา ร้อยละ 26.26 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อมั่น ร้อยละ 22.60 ระบุว่า เชื่อมั่นมาก ร้อยละ 14.65 ระบุว่า ไม่เชื่อมั่นเลย และร้อยละ 0.31 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างทั้งหมดมีภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้านอยู่กรุงเทพมหานคร ตัวอย่าง ร้อยละ 45.73 เป็นเพศชาย และร้อยละ 54.27 เป็นเพศหญิง ตัวอย่าง ร้อยละ 12.14 อายุ 18-25 ปี ร้อยละ 16.87 อายุ 26-35 ปี ร้อยละ 19.23 อายุ 36-45 ปี ร้อยละ 26.34 อายุ 46-59 ปี และร้อยละ 25.42 อายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่าง ร้อยละ 93.97 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 4.35 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 1.22นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ และร้อยละ 0.46 ไม่ระบุศาสนา

ตัวอย่าง ร้อยละ 39.47 สถานภาพโสด ร้อยละ 57.17 สมรส ร้อยละ 2.98 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 0.38 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่าง ร้อยละ 11.45 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 26.41 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 6.11 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 44.43 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 11.14 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 0.46 ไม่ระบุการศึกษา

ตัวอย่าง ร้อยละ 9.70 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 28.09 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 24.50ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 0.08 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 6.41 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 24.27 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 6.41 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 0.54 ไม่ระบุอาชีพ

ตัวอย่าง ร้อยละ 25.65 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 5.57 รายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 22.29 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 15.57 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 8.55 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001-40,000 บาท ร้อยละ 11.83รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 10.54 ไม่ระบุรายได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง