11 วิธีลดผลกระทบจากสารเคมีในบ้าน สร้างสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืน กดอ่านเลย! เขียนโดย ภัคฒ์ชาลิสา จำปามูล ในแต่ละวันเราใช้ชีวิตอยู่ในบ้านที่เต็มไปด้วยผลิตภัณฑ์มากมาย ตั้งแต่น้ำยาทำความสะอาดห้องน้ำ สบู่ ยาสีฟัน ไปจนถึงสเปรย์ปรับอากาศ หรือแม้กระทั่งยาฆ่าแมลงที่เราใช้กำจัดศัตรูพืชรอบบ้าน สิ่งเหล่านี้ล้วนมีสารเคมีเป็นส่วนประกอบ และหลายครั้งเราอาจไม่ได้ตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเราและคนที่เรารัก ซึ่งสารเคมีบางชนิดอาจดูเหมือนไม่เป็นอันตรายในระยะสั้น แต่เมื่อสะสมอยู่ในร่างกายเป็นเวลานาน หรือสัมผัสอย่างต่อเนื่อง ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาได้ตั้งแต่การระคายเคือง แพ้ ไปจนถึงปัญหาระบบต่างๆ ของร่างกายที่ซับซ้อนขึ้นในระยะยาว ดังนั้นการทำความเข้าใจและเรียนรู้วิธีลดผลกระทบจากสารเคมีในบ้าน จึงไม่ใช่แค่เรื่องของคนรักตัวเอง แต่เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับทุกคนที่ต้องการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและดีต่อชีวิตอย่างแท้จริง เพราะหากเราเพิกเฉย ไม่ใส่ใจ หรือมองข้ามเรื่องสารเคมีในบ้านไป ผลที่ตามมาอาจไม่คุ้มค่าเลยทีเดียว ลองนึกภาพว่าในแต่ละวัน เราหายใจเอาไอระเหยจากสารเคมีทำความสะอาดเข้าไป หรือผิวหนังของเราสัมผัสกับสารตกค้างจากน้ำยาซักผ้าอย่างต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้อาจค่อยๆ บั่นทอนสุขอนามัยของเราโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นการเลือกที่จะเรียนรู้และป้องกันไว้ก่อน จึงเป็นการตัดสินใจที่ชาญฉลาดและคุ้มค่าที่สุดค่ะ และต่อไปนี้คือแนวทางที่สามารถลดผลกระทบได้นะคะ 1. เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คุณผู้อ่านรู้ไหมคะว่า หัวใจสำคัญคือการหันมาเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แทนผลิตภัณฑ์ที่เต็มไปด้วยสารเคมีรุนแรงที่เราคุ้นเคยกันดี การเปลี่ยนนี้ไม่ได้แค่ช่วยลดการสะสมสารพิษในบ้านเท่านั้น แต่ยังช่วยปกป้องแหล่งน้ำและดินจากการปนเปื้อนสารเคมีอีกด้วยค่ะ เพราะผลิตภัณฑ์ประเภทนี้มักจะทำจากส่วนผสมจากธรรมชาติ จึงย่อยสลายง่าย และไม่มีสารตกค้างที่เป็นอันตราย ซึ่งนับเป็นการลงทุนเพื่อสุขอนามัยที่ดีของเราและโลกใบนี้ในระยะยาว ซึ่งในปัจจุบันมีตัวเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่ให้ประสิทธิภาพการทำความสะอาดที่ดีให้เลือกมากมายค่ะ 2. ทำความสะอาดด้วยวิธีธรรมชาติ การลดการสัมผัสสารเคมีในชีวิตประจำวัน ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารเคมีที่ซ่อนอยู่ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบ้านที่เราใช้กันอยู่ทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นน้ำยาทำความสะอาดห้องน้ำ น้ำยาเช็ดกระจก หรือแม้แต่น้ำยาล้างจาน ซึ่งสารเคมีเหล่านี้สามารถส่งผลเสียในระยะยาวได้ ทั้งต่อตัวเราเอง สัตว์เลี้ยง และสิ่งแวดล้อม แต่ข่าวดีคือเราสามารถลดผลกระทบเหล่านี้ได้ง่ายๆ เพียงแค่เปลี่ยนมาใช้วิธีการทำความสะอาดแบบธรรมชาติ ซึ่งไม่เพียงแต่ปลอดภัยกว่า แต่ยังประหยัดและดีต่อโลกอีกด้วย การหันมาใช้วัตถุดิบในครัวเรือนอย่างน้ำส้มสายชู เบกกิ้งโซดา หรือมะนาว มาเป็นตัวช่วยในการทำความสะอาด ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการสร้างบ้านที่ปราศจากสารเคมี และนำไปสู่สุขอนามัยที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนค่ะ 3. ปลูกต้นไม้ฟอกอากาศในบ้าน นอกจากจะเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจากธรรมชาติแล้ว การนำต้นไม้ฟอกอากาศมาไว้ในบ้านก็เป็นอีกหนึ่งวิธีง่ายๆ ที่ช่วยลดผลกระทบจากสารเคมีที่เราอาจสูดดมเข้าไปได้ เพราะต้นไม้ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มความสดชื่นและความสวยงาม แต่ยังทำหน้าที่เสมือนปอดสีเขียวที่ช่วยดูดซับสารพิษต่างๆ ที่ลอยอยู่ในอากาศ การมีต้นไม้ฟอกอากาศอย่างไว้ในบ้าน จึงเปรียบเสมือนการสร้างเกราะป้องกันตามธรรมชาติ ช่วยให้เราและคนที่รักได้หายใจในอากาศที่บริสุทธิ์ขึ้น ลดความเสี่ยงต่อปัญหาสุขอนามัยในระยะยาว และสร้างสภาพแวดล้อมในบ้านให้เป็นโอเอซิสแห่งความสดชื่นและยั่งยืนมากขึ้นค่ะ 4. ตรวจสอบและบำรุงรักษาระบบระบายอากาศ รู้ไหมคะว่าวิธีง่ายๆ ที่ช่วยลดผลกระทบได้คือการตรวจสอบและบำรุงรักษาระบบระบายอากาศภายในบ้านให้ดีอยู่เสมอค่ะ เพราะระบบระบายอากาศที่ดีเปรียบเสมือนปอดของบ้าน ที่ช่วยถ่ายเทอากาศเสียออกไป และนำอากาศบริสุทธิ์จากภายนอกเข้ามาหมุนเวียน ทำให้สารเคมีต่างๆ ไม่สะสมอยู่ในบ้านมากเกินไป หากระบบระบายอากาศไม่ดี เช่น หน้าต่างถูกปิดสนิท มีพัดลมดูดอากาศที่สกปรกอุดตัน หรือเครื่องปรับอากาศไม่เคยล้าง สารพิษก็จะวนเวียนอยู่ในบ้าน ทำให้เราสูดดมเข้าไปได้ตลอดเวลา ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาทางเดินหายใจ ภูมิแพ้ หรือแม้กระทั่งอาการป่วยเรื้อรัง ดังนั้นการหมั่นทำความสะอาดพัดลมดูดอากาศ ล้างแอร์ เปลี่ยนแผ่นกรองอากาศ หรือเปิดหน้าต่างเพื่อระบายอากาศบ่อยๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยลดสารเคมีที่มองไม่เห็นเท่านั้น แต่ยังสร้างสภาพแวดล้อมที่สดชื่น และส่งเสริมสุขอนามัยที่ดีให้กับทุกคนในครอบครัวได้อย่างยั่งยืนค่ะ 5. ลดการใช้พลาสติกและเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน การลดปริมาณพลาสติกและหันมาเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนมากขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องของแฟชั่นรักษ์โลกนะคะ แต่เป็นก้าวสำคัญที่เราจะช่วยลดผลกระทบจากสารเคมีในบ้านได้โดยตรง เคยลองสังเกตไหมคะว่า ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เครื่องสำอาง หรือแม้แต่อาหารที่เราบริโภคในแต่ละวัน หลายอย่างบรรจุในพลาสติก ซึ่งอาจมีสารเคมีบางชนิด ที่สามารถละลายปนเปื้อนออกมาสู่ผลิตภัณฑ์และสิ่งแวดล้อมได้ โดยเฉพาะเมื่อพลาสติกสัมผัสความร้อนหรือมีความเสียหาย และสารเคมีไม่เพียงแต่สามารถส่งผลกระทบต่อคนเราได้เท่านั้น และยังสะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย ซึ่งการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ทางเลือกอย่าง แก้ว โลหะ หรือกระดาษที่ย่อยสลายได้ จึงเป็นการลดความเสี่ยงที่เราจะสัมผัสกับสารเคมีโดยไม่รู้ตัวค่ะ ทั้งยังช่วยลดขยะพลาสติกที่ส่งผลกระทบต่อโลกของเราในระยะยาวด้วย 6. จัดเก็บสารเคมีอย่างปลอดภัย การจัดเก็บสารเคมีในบ้านอย่างปลอดภัยอาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่จริงๆ แล้วสำคัญมากในการลดผลกระทบที่เราจะได้รับจากสารเคมีเหล่านั้นค่ะ โดยหลายคนอาจมีน้ำยาทำความสะอาด ยาฆ่าแมลง หรือแม้แต่น้ำยาล้างห้องน้ำวางรวมๆ กัน โดยไม่รู้ว่าไอระเหยหรือการปนเปื้อนข้ามกันของสารเคมีเหล่านี้ สามารถส่งผลเสียต่อสุขอนามัยได้โดยที่เราไม่รู้ตัว ยิ่งไปกว่านั้น หากไม่ได้จัดเก็บให้มิดชิดและพ้นมือเด็กเล็กหรือสัตว์เลี้ยง ก็อาจเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง เช่น การกลืนกิน หรือการสัมผัสโดยตรง ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้เลยทีเดียว ดังนั้นการแยกประเภทสารเคมี และจัดเก็บในภาชนะเดิมที่มีฉลากชัดเจน วางไว้ในที่แห้ง ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก พ้นจากแสงแดดและความร้อน รวมถึงพ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง และนี่คือวิธีง่ายๆ ที่เราจะช่วยป้องกันตัวเองและคนที่เรารักจากอันตรายที่ไม่คาดคิด และสร้างสภาพแวดล้อมในบ้านให้ปลอดภัยยิ่งขึ้นค่ะ 7. ลดการใช้สเปรย์ปรับอากาศ หลายคนอาจคุ้นเคยกับการฉีดสเปรย์ปรับอากาศ เพื่อกลบกลิ่นไม่พึงประสงค์ แต่รู้ไหมคะว่ากลิ่นหอมจากสเปรย์ปรับอากาศ มักมาจากน้ำหอมสังเคราะห์ ซึ่งอาจมีส่วนผสมของสารเคมีที่ระคายเคืองได้ ที่สามารถทำให้เกิดอาการแพ้ได้ง่ายๆ โดยเฉพาะในบ้านที่มีเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีปัญหาภูมิแพ้และระบบทางเดินหายใจอ่อนแออยู่แล้ว การสูดดมสารต่างๆ ในสเปรย์ปรับอากาศเป็นประจำสามารถส่งผลเสียต่อคนเราในระยะยาวได้ นอกจากนี้สารเคมีจากสเปรย์ยังสามารถตกค้างในอากาศและบนพื้นผิวต่างๆ ภายในบ้านได้อีกด้วย ซึ่งการลองเปลี่ยนมาใช้วิธีธรรมชาติในการกำจัดกลิ่น เช่น การเปิดหน้าต่างระบายอากาศ การวางถ่านดูดกลิ่น หรือการใช้พืชสมุนไพรไล่ยุงและดูดซับกลิ่นแทน นอกจากจะช่วยให้บ้านมีอากาศบริสุทธิ์แล้ว ยังปลอดภัยต่อสุขอนามัยของทุกคนในครอบครัว และดีต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วยค่ะ 8. ลดการใช้น้ำยาปรับผ้านุ่ม การลดหรืองดใช้น้ำยาปรับผ้านุ่ม อาจเป็นเรื่องที่หลายคนไม่เคยคิดถึง แต่รู้ไหมคะว่านี่คือหนึ่งในวิธีง่ายๆ ที่จะช่วยลดผลกระทบจากสารเคมีในบ้านของเราได้ เนื่องจากน้ำยาปรับผ้านุ่มส่วนใหญ่มักมีส่วนผสมของสารเคมีหลายชนิด เช่น น้ำหอมสังเคราะห์ สีย้อม หรือสารลดแรงตึงผิว ซึ่งสารเหล่านี้อาจตกค้างอยู่บนเสื้อผ้าของเราและสัมผัสกับผิวหนังโดยตรง ทำให้บางคนอาจมีอาการแพ้ ผื่นคัน หรือระคายเคือง โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่มีผิวบอบบาง โดยหลายคนยังไม่รู้ว่า การสูดดมไอระเหยจากน้ำหอมสังเคราะห์เป็นประจำ ยังสามารถส่งผลต่อคนเราได้ในระยะยาว นอกจากนี้สารเคมีเหล่านี้ยังสามารถปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำเมื่อเราซักผ้า ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระให้กับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย การหันมาใช้น้ำส้มสายชูเล็กน้อยในการซักผ้าแทน หรือเลือกน้ำยาปรับผ้านุ่มสูตรธรรมชาติที่ปราศจากสารเคมีรุนแรง จึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ที่ไม่เพียงแต่ดีต่อเราและคนที่เรารักแล้ว แต่ยังเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อโลกใบนี้ด้วยค่ะ 9. ลดการใช้ยาฆ่าแมลงและสารกำจัดศัตรูพืชในบ้าน การลดหรือเลิกใช้ยาฆ่าแมลงและสารกำจัดศัตรูพืชในบ้าน เป็นสิ่งที่เราควรทำอย่างยิ่งเพื่อสุขอนามัยของทุกคนในครอบครัวค่ะ เพราะสารเคมีประเภทนี้ถูกออกแบบมาเพื่อฆ่าสิ่งมีชีวิต และมักมีส่วนผสมที่อันตรายและเป็นพิษอย่างมาก เมื่อเราฉีดพ่นหรือใช้งานสารกลุ่มนี้ ไม่ว่าจะเป็นยากำจัดยุง สเปรย์ฆ่าแมลงสาบ หรือยาฆ่ามด ไอระเหยของสารเคมีสามารถลอยฟุ้งอยู่ในอากาศที่เราหายใจเข้าไป หรือตกค้างอยู่บนพื้นผิว เฟอร์นิเจอร์ และของใช้ต่างๆ ในบ้านได้ โดยสารพิษสามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง ทั้งจากการหายใจ การสัมผัสทางผิวหนัง หรือแม้แต่การปนเปื้อนในอาหาร จึงส่งผลให้เกิดอาการระคายเคือง แพ้ วิงเวียนศีรษะ ไปจนถึงปัญหาด้านร่างกายที่รุนแรงขึ้นในระยะยาว โดยเฉพาะในเด็กเล็ก สัตว์เลี้ยง และผู้สูงอายุที่อาจมีความไวต่อสารเคมีมากกว่า ยังไงนั้นให้ลองเปลี่ยนมาใช้วิธีธรรมชาติในการไล่แมลง เช่น การทำความสะอาดบ้านให้ปราศจากเศษอาหาร การใช้สมุนไพร หรือปลูกต้นไม้ไล่แมลงแทนดีกว่าค่ะ เพราะนอกจากจะปลอดภัยกว่าแล้ว ยังช่วยให้บ้านของเราเป็นพื้นที่ที่สะอาดและปราศจากมลพิษจากสารเคมีอย่างแท้จริงอีกด้วย 10. อ่านฉลากผลิตภัณฑ์อย่างละเอียด การอ่านฉลากผลิตภัณฑ์อย่างละเอียดก่อนตัดสินใจซื้อและใช้งาน อาจดูเป็นเรื่องเล็กๆ ที่หลายคนมองข้ามไป แต่เชื่อไหมคะว่านี่คือกุญแจสำคัญที่จะช่วยลดผลกระทบจากสารเคมีในบ้านของเราได้อย่างมหาศาล เพราะฉลากคือแหล่งข้อมูลสำคัญที่จะบอกเราว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ มีส่วนผสมของสารเคมีอะไรบ้าง มีอันตรายหรือไม่ ควรใช้งานอย่างไร และมีข้อควรระวังอะไรบ้าง หากเราไม่ใส่ใจอ่าน เราอาจเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีรุนแรงโดยไม่รู้ตัว ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการแพ้ ระคายเคือง หรือสะสมในร่างกายจนส่งผลเสียต่อร่างกายในระยะยาวได้ การทำความเข้าใจคำเตือน เช่น "ระคายเคืองผิวหนัง" "ห้ามสูดดม" หรือ "เป็นอันตรายหากกลืนกิน" จะช่วยให้เราตัดสินใจได้ว่าควรซื้อผลิตภัณฑ์นั้นๆ หรือไม่ และหากซื้อมาแล้ว จะใช้งานและจัดเก็บได้อย่างปลอดภัยได้อย่างไร การใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีในการอ่านฉลาก จึงเป็นการลงทุนเพื่อสุขอนามัยที่ดีของตัวเรา ครอบครัว และสร้างความมั่นใจว่าบ้านของเราจะเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยจากสารเคมีที่เราสามารถควบคุมได้ค่ะ 11. ใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกายและเครื่องสำอางจากธรรมชาติ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ทั่วไปในท้องตลาดจำนวนไม่น้อย มักมีส่วนผสมของสารเคมีสังเคราะห์ โดยสารเคมีต่างๆสะสมอยู่ในร่างกายเป็นเวลานาน อาจก่อให้เกิดการระคายเคือง แพ้ หรือแม้กระทั่งส่งผลกระทบต่อระบบต่างๆ ภายในร่างกายได้ การเลือกผลิตภัณฑ์ที่มาจากส่วนผสมธรรมชาติ เช่น น้ำมันหอมระเหยจากพืช สารสกัดจากพืชพรรณ หรือวิตามินจากธรรมชาติ จึงเป็นการลดความเสี่ยงที่เราจะสัมผัสกับสารเคมีโดยตรง นอกจากจะอ่อนโยนต่อผิวและร่างกายของเราแล้ว ยังมักจะย่อยสลายได้ง่ายและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าด้วยค่ะ ซึ่งถือเป็นการลงทุนเพื่อความงามที่ยั่งยืนและสุขอนามัยที่ดีอย่างแท้จริง ทั้งสำหรับตัวเราและโลกใบนี้ค่ะ และนั่นคือแนวทางที่เป็นไปได้สำหรับลดผลกระทบจากสารเคมีภายในบ้านของเราค่ะ ที่โดยสรุปแล้วการที่เราได้รู้ถึงวิธีการลดผลกระทบจากสารเคมีในบ้าน ทั้งหมดนี้ไม่ใช่แค่ความรู้ทางทฤษฎี แต่เป็นแนวทางปฏิบัติจริง ที่ส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของเราและคนที่เรารัก เพราะสารเคมีที่ซ่อนอยู่ในผลิตภัณฑ์ที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นภาชนะพลาสติก น้ำหอมสังเคราะห์ หรือสารเคมีในน้ำยาทำความสะอาด ฯลฯ ล้วนมีโอกาสที่จะเข้าสู่ร่างกายของเราและสะสมจนส่งผลเสียต่อสุขอนามัยในระยะยาวได้ การที่เราตระหนักและเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ จึงเป็นการสร้างเกราะป้องกันตัวเองจากอันตรายที่มองไม่เห็น และสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและดีต่อสุขอนามัยในระยะยาวให้กับทุกคนในบ้านค่ะ โดยในสถานการณ์จริงนั้น ข้อมูลในบทความนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะช่วยให้เราสามารถตัดสินใจอย่างชาญฉลาด ในทุกๆ ครั้งที่เราเลือกซื้อสินค้าหรือใช้งานผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในบ้าน เราสามารถเป็นผู้บริโภคที่รู้เท่าทัน ไม่หลงไปกับโฆษณาที่เน้นเพียงความสะดวกสบาย แต่ขาดความปลอดภัย เมื่อเราเลือกผลิตภัณฑ์ที่ปลอดสารเคมีหรือมีสารเคมีน้อยที่สุด เรากำลังลงทุนเพื่อสุขอนามัยที่ดีของครอบครัว ลดความเสี่ยงในการเจ็บป่วย และยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก การทำความสะอาดบ้านด้วยวิธีธรรมชาติ หรือการเลือกซื้อเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมออร์แกนิก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ เมื่อทำอย่างต่อเนื่องจะสร้างผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ ทั้งในระดับบุคคล ชุมชน และโลกใบนี้ในที่สุด ทำให้เรามีชีวิตที่มีคุณภาพและยั่งยืนอย่างแท้จริงค่ะ เพราะผู้เขียนก็พยายามทำตลอดค่ะ ตั้งแต่เรื่องที่เกิดขึ้นทุกวัน เช่น ในช่วงหน้าฝนที่ต้องกำจัดยุง ผู้เขียนเลือกใช้เคมีให้น้อยที่สุด โดยเน้นใช้ไม้ช็อตยุงไฟฟ้าและการกำจัดแหล่งเพราะพันธุ์ยุงลายแทน สำหรับการซักผ้าผู้เขียนเลือกใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มเพียงบางครั้งเท่านั้นค่ะ ซึ่งในขณะที่เขียนบทความนี้เผยแพร่ สำหรับผู้เขียนแล้วตอนนี้ไม่มีน้ำยาปรับผ้านุ่มค่ะ หากใช้น้ำยาซักผ้าก็ใช้แค่เท่าที่ต้องใช้เท่านั้นค่ะ โดยหลายๆ อย่างก็จะปรับเปลี่ยนไป ที่ยังยึดหลักการใช้น้อยลง ลดได้ลง ตัดได้ตัดค่ะ ยังไงนั้นอยากเชิญชวนคนไทยทุกคนให้หันมาเห็นความสำคัญเรื่องผลกระทบเรื่องสารเคมีภายในบ้าน และมาช่วยกันลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกันค่ะ โดยแนวทางว่าต้องทำยังไงบ้างนั้น ผู้เขียนก็ได้นำเสนอไว้แล้วข้างต้น ด้วยความตั้งใจ ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับคุณผู้อ่านไม่มากก็น้อย หากสนใจเนื้อหาเช่นนี้อีก อย่าลืมกดติดตามหรือบุ๊กมาร์กโปรไฟล์ไว้ เพื่อรับข้อมูลใหม่ๆ ในบทความต่อไป และถ้าต้องการอ่านบทความทั้งหมดโดยผู้เขียน ให้กดดูโปรไฟล์ได้เลยค่ะ #ลดสารเคมีในบ้าน #สร้างสุขอนามัย #ลดมลพิษ #ChemicalFreeLiving เครดิตรูปภาพประกอบบทความ รูปภาพทำหน้าปก โดย JESHOOTS.COM จาก Unsplash และออกแบบหน้าปกโดยผู้เขียน ใน Canva รูปภาพประกอบเนื้อหา: ภาพที่ 1-2 โดยผู้เขียน, ภาพที่ 3 โดย Freepik จาก FREEPIK และภาพที่ 4 โดย Bee Naturalles จาก Unsplash เกี่ยวกับผู้เขียน ภัคฒ์ชาลิสา จำปามูล จบการศึกษา: พยาบาลศาสตรบัณฑิต จากวิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม กระทรวงสาธารณสุข และสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต (อนามัยสิ่งแวดล้อม) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความสนใจและประสบการณ์เกี่ยวกับ: สุขภาพ จิตวิทยาเชิงบวก การบำบัดน้ำเสียและกำจัดสิ่งปฏิกูล 8 วิธีแก้ปัญหายุงเยอะและมากัด ในห้องนอนที่บ้าน แบบธรรมชาติ 11 ตัวอย่างนำถุงพลาสติกมาใช้ซ้ำ ทำอะไรได้บ้าง เพื่อลดการทิ้ง ขั้นตอนขัดเครื่องครัวสะอาด ด้วยเบกกิ้งโซดา ขจัดคราบรอยไหม้ดำ เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !