SAMARTถึงรอบโต SAVเข้าเทรดเพิ่มค่า
#SAMART #ทันหุ้น - SAMART เล็งยื่นไฟลิ่งบริษัทลูก SAV เข้าตลาดหุ้นไทย หวังปลดล็อกมูลค่า-เสริมแกร่งระยะยาว คาดชัดเจนต้นปีหน้า ปักธงปี 2566 รายได้ทะยาน 25-30% รับท่องเที่ยวรุ่ง-โครงการเรียงคิวรับทรัพย์อื้อ ส่วนปีนี้ผลงานพลิกเป็นบวก อานิสงส์ทุกธุรกิจฟื้นแรง
นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาธุรกิจใหม่ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือSAMART เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนยื่นแบบแสดงข้อมูล (ไฟลิ่ง) บริษัท สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ จํากัด (มหาชน) หรือ SAV (บริษัทย่อยที่ถือหุ้นโดย SAMART ในสัดส่วน 100%) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต. ) ในเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียน เพื่อเสริมความแข็งแกร่งในระยะยาว ตลอดจนเพิ่มมูลค่า (แวลู) ของธุรกิจในอนาคต
@ปั้น SAV เข้าตลาด
ปัจจุบัน SAV ดำเนินการจัดตั้งระบบและให้บริการควบคุม การจราจรทางอากาศในประเทศกัมพูชาเพียงรายเดียว โดยขณะนี้มีทุนจดทะเบียนราว 320 ล้านบาท และมีมูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท หรือ ประมาณ 640 ล้านหุ้น ซึ่งเป็นทุนที่ชำระแล้ว 288 ล้านบาท หรืออยู่ที่ 576 ล้านหุ้น โดยจะขายหุ้นส่วนที่เหลือจากทุนชำระแล้วราว 10% และจะนำหุ้นที่ทาง SAMART เดิมถืออยู่อีกไม่ต่ำกว่า 15% รวมทั้งสิ้น 25% เสนอขายให้กับประชาชนทั่วไป คาดน่าได้เห็นความชัดเจนเกี่ยวกับรายละเอียดต่างๆ ได้ในช่วงต้นปี 2566 และหวังเข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในไตรมาส 3/2566
สำหรับโครงสร้างรายได้ของ SAV ปัจจุบันมาจากทั้งการนำเครื่องลงจอดในกัมพูชาและการบินผ่านน่านฟ้าของประเทศข้างต้น รวมทั้งมีอายุสัมปทานเหลือสูงถึง 29 ปี ซึ่งหลังภายหลังการเปิดประเทศและการปรับเปลี่ยนเส้นทางเดินของประเทศต่างๆ ส่งผลให้ปริมาณการจราจรช่วง 9 เดือนแรกขยับเพิ่มปีนี้อยู่ที่ 44,200 เที่ยว และมีรายได้เพิ่มเป็น 50-60 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งคาดในปี 2566 ผลงานของ SAV จะฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญและน่าจะผลักดันให้ผลงานไปอยู่ราว 80% จากช่วงปี 2563 ที่มีกำไรราว 600 ล้านบาท ตามสถานการณ์โควิดที่คลี่คลาย ส่งผลให้บรรยากาศการเดินทางทางอากาศหวนกลับมาเติบโตได้ดียิ่งขึ้นด้วย
ปี 66 รายได้โต 30%
นายวัฒน์ชัย กล่าวเสริมว่า ในปี2566 บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโตประมาณ 25-30% เมื่อเทียบกับปี 2564 เนื่องจากธุรกิจจะมีรายได้โครงการการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการการเก็บภาษีสรรพสามิต สินค้าประเภทสุราแช่ชนิดเบียร์ที่ผลิตในประเทศเข้ามาเต็มปี หลังได้มีการเริ่มรับรู้รายได้ส่วนดังกล่าวตั้งแต่ช่วงกรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา (อายุสัญญา 7 ปี)
ขณะเดียววันยังจะมีการรับรู้รายได้จากงานในมือ (Backlog) ของบริษัท สามารถเทลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ SAMTEL เพิ่มสูงขึ้น หลังคาดสิ้นปี 2565 จะมีตัวเลข Backlog เพิ่มเป็นราว 8 พันล้านบาท หลังมีการยื่นประมูลงานใหม่ต่อเนื่อง จากปัจจุบันที่มีงานในมือราว 4.9 พันล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่รับรู้ในปี 2566 และต่อเนื่องในปีถัดไป
พร้อมกันนี้ยังประเมินว่าบริษัท สามารถ ดิจิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ SDC จะกลับมาฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ หลังเตรียมเปิดตัวแพลตฟอร์มใหม่เกี่ยวกับการทำบุญออนไลน์ทั่วไทย จากเดิมที่มีแพลตฟอร์มเกี่ยวกับการดูดวง ซึ่งหากทุกอย่างสำเร็จคาดสิ้นปี 2566 จะมีฐานผู้ใช้บริการเพิ่มไปแตะ 1 แสนราย จากเดิมที่ 3 หมื่นราย และคงทำให้รายได้ขยายตัวมากขึ้น ยังไม่นับรวมกับการเข้าไปร่วมมือกับพาร์เนอร์ใหม่ๆ เพื่อขยายฐานลูกค้าอีกทางหนึ่ง
"ธุรกิจกลุ่ม SAMART เริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจน โดยเฉพาะธุรกิจการบินของ SAV ที่น่าจะฟื้นตามการท่องเที่ยวที่กลับมาสดใส และช่วยสนับสนุนให้ภาพรวมธุรกิจเติบโตได้ตามที่วางไว้ได้"
ลุ้นงบปีนี้พลิกบวก
ส่วนปี2565 ทางSAMART คาดผลการดำเนินงานจะพลิกกลับมาเป็นบวก แม้ในช่วงครึ่งแรกปีนี้จะขาดทุนราว 111 ล้านบาท เพราะมีรายได้จากธุรกิจใหม่จัดการการเก็บภาษีสรรพสามิต สินค้าประเภทสุราแช่ชนิดเบียร์ที่ผลิตในประเทศเข้ามาเพิ่มเติมเฉลี่ยเดือนละ 60-70 ล้านบาท ประกอบกับธุรกิจของ SAV ฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งโดยปกติแล้วทั้ง 2 ธุรกิจข้างต้นในไตรมาส 4/2565 จะถือเป็นช่วงไฮซีซันการท่องเที่ยว ตลอดจนยังมี Backlog ในส่วนของ SAMTEL ที่รอส่งมอบอีกเป็นจำนวนมาก นอกเหนือ จากธุรกิจอื่นๆ ที่ขยายตัวด้วย