ทุกคนเคยมีปัญหาในการเดินหาร้านค้าหรือสถานที่ใดสักแห่งหรือไม่ ในปัจจุบันคนส่วนใหญ่มักจะใช้เทคโนโลยีที่ช่วยแก้ปัญหานี้ ซึ่งถูกเรียกว่า GPS หรือ ระบบการหาตำแหน่งทั่วโลก(Global Positioning System) คือ ระบบการนำทางด้วยดาวเทียม เทคโนโลยีนี้ถูกใช้งานอย่างแพร่หลาย เพราะว่ามีความน่าเชื่อถือและสะดวกในการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็น การระบุตำแหน่งที่ตั้ง การนำทางจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่ง ซึ่งจากที่กล่าวมานี้คงจะบอกได้ว่าเทคโนโลยีนี้นั้นมีประโยชน์มากแต่เทคโนโลยีไม่เคยหยุดพัฒนาเพียงเท่านี้ เนื่องจาก GPS นั้นมีข้อจำกัดที่เห็นได้ชัดอย่างหนึ่งคือไม่สามารถใช้งานในอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างได้ ใช้งานได้เพียงแค่กลางแจ้งและข้อมูลของสถานที่ต่าง ๆ ก็มีเพียงที่พบเห็นได้ในกลางแจ้งเท่านั้น เช่น หลังคา ดาดฟ้า เป็นต้น ปัญหานี้จะถูกแก้ไขจากเทคโนโลยีที่จะกล่าวต่อไป การที่ GPS นั้นไม่สามารถใช้งานในที่ร่มหรือสิ่งปลูกสร้างได้ เป็นเพราะว่าวัสดุที่ใช้ในสิ่งปลูกสร้าง เช่น เหล็ก ไม้ ปูน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ทำให้สัญญาณจากดาวเทียมถูกลดทอน ทำให้การระบุตำแหน่งภายใต้สิ่งปลูกสร้างนั้นไม่มีความถูกต้องมากพอ ดังนั้น จึงมีการพัฒนาเทคโนโลยีระบุตำแหน่งภายในที่ร่ม (Indoor) เพื่อมาแก้ปัญหานี้ ระบบกำหนดตำแหน่งภายในร่ม (Indoor Positioning System) หรือ IPS เป็นเสมือนเครือข่ายของอุปกรณ์ที่ใช้ในการระบุและค้นหาสิ่งมีชีวิตหรือวัตถุสิ่งของที่อยู่ภายใต้สิ่งปลูกสร้าง ซึ่ง GPS ไม่สามารถทำได้ โดยรูปภาพด้านบนแสดงใช้งาน IPS ที่ Siam Paragon ใน Google map ทั้ง 2 มิติ และ 3 มิติ จะเห็นได้ว่าเราสามารถเลือกดูแต่ละชั้นของสถานที่นั้นได้และเห็นรายละเอียดภายในของสถานที่ เนื่องจากมีการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาประยุกต์ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็น บลูทูธ หรือ WiFi เพราะว่าสัญญาณของเทคโนโลยีทั้งสองนี้สามารถทะลุทะลวงสิ่งกีดขวางได้ แต่จะครอบคลุมพื้นที่เพียง 2-3 ตารางเมตร อุปกรณ์ที่ส่งสัญญาณเหล่านี้จะถูกเรียกว่า “Beacon” โดยที่อุปกรณ์พกพาแบบโทรศัพท์มือถือที่ทุกคนใช้นั้นจะมีตัวรับสัญญาณบลูทูธกันอยู่แล้ว แต่ผู้ผลิตมักเน้นพัฒนาไปที่ WiFi ที่มีอยู่รอบตัวมากกว่าและยังสามารถเชื่อมต่อกับการใช้งานร่วมกับ GPS อีกด้วย จนถึงส่วนนี้อาจจะยังนึกภาพการทำงานของ Beacon ไม่ออก จึงขออธิบายพร้อมกับรูปภาพประกอบด้านล่างนี้จากรูปภาพเป็นการทำงานของ Beacon ภายในอาคาร จะเห็นได้ว่าจุดสีแดงคือตัวส่งสัญญาณ Beacon ตามจุดต่าง ๆ ส่วน Covered area คือ พื้นที่สัญญาณครอบคลุมอยู่ ในการระบุตำแหน่งนั้น Beacon ทุกตัวจะส่งสัญญาณไปยัง Locator Nodes และถูกรวบรวมไปยัง Server เพื่อการใช้งานต่อไป ในปัจจุบัน IPS สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการระบุตำแหน่งที่ตั้ง การค้นหาตำแหน่งสถานที่ การช่วยนำทางให้ผู้โดยสารสายการบินหรือรถไฟ การจัดการคลังสินค้า หรือการป้องกันโจรกรรมโดยติดตั้งตัวรับสัญญาณไว้ที่สิ่งของมีค่า นอกจากนั้นยังสามารถทำให้การเดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างเช่น หากต้องการเดินทางไปสถานที่ที่หนึ่ง ซึ่งสถานที่นั้นอยู่ภายในอาคาร เราสามารถใช้ระบบนำทางได้ทั้งกลางแจ้งและอยู่ในที่ร่ม ถึงจะสามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลายแต่คุณภาพของเทคโนโลยีนี้ก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพของอุปกรณ์เครื่องมือด้วย สุดท้ายนี้ขอลาด้วยคำคมตลกๆ "Half the fun of travel is the esthetic of lostness." – Ray Bradburyครึ่งหนึ่งของความสนุกในการเดินทาง คือความงดงามของการหลงทางรูปภาพปก - การสร้างรูปภาพจาก www.canva.comรูปภาพประกอบ 1 - ขอบคุณรูปภาพจาก www.freepik.com โดย macro vectorรูปภาพประกอบ 2 โดย ภูมิรพี วิทย์ธนรัตน์ (ผู้เขียน)รูปภาพประกอบ 3 และ 4 - ขอบคุณรูปภาพจาก Google maps (ค้นคว้าโดยผู้เขียน)รูปภาพประกอบ 5 โดย ภูมิรพี วิทย์ธนรัตน์ (ผู้เขียน)รูปภาพประกอบ 6 - ขอบคุณรูปภาพจาก www.freepik.com โดย user11828431รูปภาพประกอบ 7 - ขอบคุณรูปภาพจาก www.freepik.com