เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร หรือเคอร์ฟิว ออกไปอีก 1 เดือน คือ ตั้งแต่วันที่ 1 - 31 พฤษภาคม 2563 ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด -19 ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย อย่างไรก็ดี แม้รัฐบาลจะขยายระยะเวลาการประกาศเคอร์ฟิวออกไป แต่มาตรการบางส่วนจะถูกผ่อนคลายลงตามความหนักเบาของการแพร่ระบาดในแต่ละจังหวัด เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชน และผู้ประกอบการสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้เกือบปกตอเพื่อทำมาหาเลี้ยงชีพได้บ้าง โดยรัฐบาลและผู้ว่าราชการจังหวัดจะได้ทยอยประกาศมาตรการให้ประชาชนรับทราบในเร็ววันนี้นะคะ ทั้งนี้ แม้ว่ามาตรบางส่วนจะถูกผ่อนคลายลง แต่การใช้ชีวิตของเราทุกคนก็ยังไม่สามารถกลับสู่ภาวะปกติได้ในระยะเวลาอันสั้น เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดไม่ได้เกิดขึ้นกับประเทศไทยเพียงประเทศเดียว หากแต่ทั่วโลกต่างก็เผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่นกัน ดังนั้น ตราบใดที่ยังมีการเคลื่อนย้ายประชากร การระบาดของโรคก็ยังไม่ยุติลงได้ง่าย ๆ ซึ่งในเรื่องด้งกล่าวนี้ ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้รายงานผลการวิจัยเกี่ยวกับการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ซึ่งสาระสำคัญของงานวิจัยฉบับนี้ คือ ประเทศต่าง ๆ ยังคงต้องดำเนินชีวิตตามแนวทาง Social Distancing หรือการเว้นระยะห่างทางสังคม ต่อไปจนถึงปี 2022 จนกว่าจะมีวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 หรือจนกว่าจะมีวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ เพราะหากยกเลิกมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมโดยทันที ก็มีโอกาสที่โรคโควิด-19 จะกลับมาระบาดหนักอีกครั้ง จนเกินขีดความสามารถที่ระบบสาธารณสุขของประเทศจะรองรับได้ ซึ่งจะทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ Social Distancing เป็นมาตรการด้านสาธารณสุขที่คนไทยคุ้นเคยกันมาหลายเดือนแล้วนะคะ เช่น ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น ใส่หน้ากากอนามัยเมื่อออกนอกบ้าน พกเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ยืน/นั่งห่างจากผู้อื่น 1 - 2 เมตร งดการไปในที่พื้นชุมชนแออัด ทำงานที่บ้าน ปรับรูปแบบการทำงานผ่านระบบออนไลน์ หลีกเลี่ยงการใช้รถสาธารณะในช่วงเวลาที่แออัด พกถุงผ้าเพื่อเลี่ยงการสัมผัสสิ่งของสาธารณะร่วมกับผู้อื่น ฯลฯ สำหรับครอบครัวเราได้ปฏิบัติตามมาตรการ Social Distancing อย่างเคร่งครัดมาหลายเดือนแล้วนะคะ แม้แต่การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันภายในบ้านก็ต้องมีระยะห่างระหว่างกัน เพราะที่บ้านของเรามีเด็กอายุ 6 ขวบ และคุณยายอายุ 74 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มอ่อนไหวที่มีโอกาสจะป่วยหนักหากได้รับเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยมาตรการที่บ้านเราดำเนินกันมา คือ สวมหน้ากากอนามัยทั้งในและนอกบ้าน ล้างมือบ่อย ๆ แยกกันรับประทานอาหาร นั่งกันคนละมุมบ้าน ส่วนเราเป็นคนที่ออกจากบ้านเพียงคนเดียว เพราะต้องกลับไปทำงานตามปกติ ดังนั้น จึงต้องป้องกันตนเองด้วยการสวมแว่นตานิรภัย ใส่หน้ากากอนามัย และใส้ Face Shield ทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน เป็นต้น ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป แม้รัฐบาลจะผ่อนคลายบางมาตรการที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางสังคมของผู้คน เพื่อให้เศรษฐกิจและสังคมบางส่วนขับเคลื่อนไปได้ แต่อย่างไรก็ดี มาตรการ Social Distancing เป็นสิ่งที่เราทุกคนยังคงต้องตรึงไว้อย่างเข้มข้นนะคะ "ไม่ประมาท การ์ดอย่าตก" เพราะโรคโควิด-19 จะยังคงอยู่กับเราอีก 1 - 2 ปี จนกว่าจะมียาต้านไวรัสหรือวัคซีนที่ป้องกันโรคโควิด-19 แม้วิถีชีวิตของคนเราอาจจะจะเปลี่ยนไปบ้าง แต่ก็เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของตัวเราเอง ครอบครัว และทุกคนในประเทศไทยนั่นเองค่ะ มาช่วยกันทำ Social Distancing กันต่อ จนกว่าการระบาดของโรคโควิด-19 จะคลี่คลายลงนะคะ เครดิตภาพประกอบ ภาพปก (ฟรี) จาก Canva Application ภาพที่ 1 ภาพประกอบ (ฟรี) จาก Canva Application ภาพที่ 2 ภาพจากเว็บไซต์คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ภาพที่ 3 ภาพประกอบโดยผู้เขียน