รีเซต

สรท. ชู 4 ข้อ เสนอแบงก์ชาติ เร่งแก้ปัญหาอัตราแลกเปลี่ยน-เพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ

สรท. ชู 4 ข้อ เสนอแบงก์ชาติ เร่งแก้ปัญหาอัตราแลกเปลี่ยน-เพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ
มติชน
12 สิงหาคม 2563 ( 14:29 )
86

สรท. ชู 4 ข้อ เสนอแบงก์ชาติ เร่งแก้ปัญหาอัตราแลกเปลี่ยน-เพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ

 

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า ได้เข้าหารือกับนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลในประเด็นปัญหาค่าเงินบาทที่ปัจจุบันมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง และประเด็นการเข้าถึงมาตรการสนับสนุนสินเชื่อ (ซอฟท์โลน) ของผู้ประกอบการส่งออก

 

ทั้งนี้ สรท. เสนอ 4 ข้อเรียกร้อง ให้ ธปท. เร่งแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการส่งออกในสถานการณ์ปัจจุบัน ประกอบด้วย 1. ขอให้ ธปท. เร่งรักษาเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท เพื่อไม่เป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการส่งออกซึ่งเป็นกลไกหลักที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่กำลังได้รับผลกระทบจากการโควิด-19 2.ขอให้ ธปท. และธนาคารพาณิชย์ ผ่อนปรนหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อซอฟท์โลน ให้มีความยืดหยุ่นเพื่อให้การประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการมีความต่อเนื่อง 3.ขอให้ ธปท. และธนาคารพาณิชย์หาแนวทางขยายระยะเวลาการชำระคืนเงินกู้ตาม พรก.เงินกู้ฯ จากเดิม 2 ปี ให้เป็น 5 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับการฟื้นตัวของสภาพเศรษฐกิจ เนื่องด้วยระยะเวลาโครงการ 2 ปี ค่อนข้างสั้น และอุปสงค์ในตลาดโลกยังคงหดตัว ทำให้ภาคการผลิตและการค้าระหว่างประเทศไม่สามารถฟื้นฟูกิจการและชำระคืนเงินต้นได้ทันตามกำหนด และ 4.ขอให้ ธปท. เพิ่มมาตรการดูแลสภาพคล่องของผู้ประกอบการขนาดกลาง ซึ่งมาตรการในปัจจุบันยังถือว่าค่อนข้างน้อยและไม่เพียงพอ

 

นางสาวกัณญภัค กล่าวว่า ธปท. ตอบรับพิจารณาผ่อนคลายมาตรการซอฟท์โลน เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงวงเงินสินเชื่อและการจัดสรรมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการระดับกลางเพิ่มเติมและได้ชี้แจงถึงสภาพเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 และคาดว่าจะต้องใช้ระยะเวลามากถึง 2 ปี จึงจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้เท่ากับระยะเวลาก่อนช่วงการระบาดของโควิด-19 ขณะที่ค่าเงินบาทของไทยในปี 2563 แม้ปัจจุบันค่าเงินบามเริ่มมีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าอีกครั้ง แต่ยังอยู่ในทิศทางอ่อนค่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่ค้าอื่นและคู่แข่งสำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นผลบวกจากที่ประเทศไทยสามารถบริหารจัดการการระบาดของโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ กอปรกับการอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ ธปท. สนับสนุนให้มีการดำเนินนโยบายการคลัง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะการสนับสนุนการจ้างงานควบคู่กับการดูแลภาคธุรกิจ

 

นอกจากนี้ สรท. และ ธปท. ได้หารือและเห็นพ้องแนวทางความร่วมมือในการดำเนินนโยบายเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการส่งออก อาทิ 1. การเร่งปรับปรุงโครงสร้างการผลิตและการส่งออกของไทย เพื่อปรับตัวให้สอดคล้องกับบริบทของโลกหลังโควิด-19 ด้วยการลดกำลังการผลิตส่วนเกิน และเพิ่มผลิตภาพในการผลิต 2.การผลักดันให้ประเทศไทยเข้าร่วมและเร่งรัดการเจรจาเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี การพัฒนาด้านเทคโนโลยี และการเข้าถึงห่วงโซ่การผลิตที่สำคัญกับประเทศคู่ค้า อาทิ ไทย-สหภาพยุโรป ไทย-สหราชอาณาจักร รวมถึงซีพีทีพีพี

 

3.การช่วยเหลือสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมในลักษณะพี่ช่วยน้อง โดยให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่มีวงเงินหมุนเวียนเพียงพอและมีโอกาสได้รับการอนุมัติวงเงินสินเชื่อจากภาครัฐและธนาคารพาณิชย์ได้มากกว่าเอสเอ็มอี ขยายระยะเวลาการให้เครดิตเทอมแก่เอสเอ็มอี ซึ่งเป็นลูกค้าของตนเองให้ยาวนานขึ้น พร้อมกับเร่งจ่ายเงินค่าสินค้าและบริการให้กับซัพพลายเออร์ของตนให้เร็วขึ้น เพื่อให้เอสเอ็มอี ในซัพพลายเชนของตนที่ไม่สามารถเข้าถึงวงเงินสินเชื่อใหม่มีสภาพคล่องในการทำธุรกิจเพิ่มขึ้น และ 4.ให้ความรู้และสนับสนุนผู้ประกอบการในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และเพิ่มทางเลือกในการชำระค่าสินค้าและบริการระหว่างประเทศในสกุลเงินอื่นนอกเหนือจากดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อกระจายความเสี่ยงและลดความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนสกุลใดสกุลหนึ่ง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง