รีเซต

โควิด-19 : อะไรคือ "ออโตแอนติบอดี" มันกำลังทำให้คนติดโควิดอาการหนักกว่าเดิมหรือเปล่า

โควิด-19 : อะไรคือ "ออโตแอนติบอดี" มันกำลังทำให้คนติดโควิดอาการหนักกว่าเดิมหรือเปล่า
ข่าวสด
26 กันยายน 2564 ( 22:46 )
39
โควิด-19 : อะไรคือ "ออโตแอนติบอดี" มันกำลังทำให้คนติดโควิดอาการหนักกว่าเดิมหรือเปล่า

ตั้งแต่การระบาดใหญ่เริ่มต้น นักวิทยาศาสตร์ได้พยายามทำความเข้าใจว่าเหตุใดร่างกายคนแต่ละคนถึงตอบสนองต่อเชื้อไวรัสไม่เหมือนกัน

 

 

ทำไมคนบางคนจึงป่วยกว่าคนอื่น และทำไมในบางกรณีเชื้อโควิดส่งผลกระทบต่ออวัยวะต่าง ๆ เป็นระยะเวลานานต่อเนื่องจนกลายเป็นอาการลองโควิด (long Covid)

 

 

ถึงตอนนี้ เริ่มมีหลักฐานมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วว่าภาวะเหล่านั้นอาจเกิดจากการที่ร่างกายสร้าง "rogue antibodies" ที่อาจแปลได้ว่า "แอนติบอดีเถื่อน" หรือที่รู้จักกันในชื่อ "ออโตแอนติบอดี" (autoantibodies)

 

 

ขณะที่โดยปกติแล้วแอนติบอดีจะต่อสู้กับอาการติดเชื้อในร่างกาย แต่ออโตแอนติบอดีดันไปโจมตีเซลล์ เนื้อเยื่อ และอวัยวะในร่างกายตัวเอง

ผลกระทบของ "แอนติบอดีเถื่อน" เหล่านี้คืออะไร มันจะยิ่งทำให้คนติดโควิดยิ่งมีอาการหนักได้หรือเปล่า

 

 

เมื่อร่างกายหันมาทำร้ายตัวเอง

แม้แต่ร่างกายของคนที่สุขภาพดีก็สร้างออโตแอนติบอดีในตัวเองได้ แต่ส่วนใหญ่จะสร้างในปริมาณที่น้อยกว่าจะสร้างผลเสียต่อระบบภูมิคุ้มกัน

 

 

อย่างไรก็ดี มีการค้นพบแล้วว่า ออโตแอนติบอดีในคนไข้โควิดไม่ได้ทำร้ายระบบภูมิคุ้มกันเท่านั้น ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเยลพบว่า มันไปทำร้ายเนื้อเยื่อสมอง, เส้นเลือด, เกล็ดเลือด, ตับ และระบบทางเดินอาหารด้วย

แอรอน ริง อาจารย์ด้านภูมิคุ้มกันวิทยาจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยล บอกว่า ออโตแอนติบอดีสามารถโจมตีระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายได้หลายทาง

 

 

ในงานวิจัยล่าสุดซึ่งตีพิมพ์ในวารสารเนเจอร์ (Nature) เขาและทีมตรวจเลือดของคนไข้ 194 คนที่ติดโควิดซึ่งมีอาการหนักเบาแตกต่างกัน และพบว่าในร่างกายของคนกลุ่มนี้มีการทำงานของออโตแอนติบอดี "มากขึ้นอย่างชัดเจน" เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้ติดโควิด

 

 

ทีมวิจัยพบว่า ยิ่งเจอออโตแอนติบอดีมากขึ้นเท่าไหร่ คนไข้คนนั้นก็ยิ่งมีอาการจากโควิดหนักขึ้นเท่านั้น

 

 

"มันเป็นดาบสองคม แอนติบอดีเป็นสิ่งสำคัญในการต่อสู้กับการติดเชื้อ แต่ร่างกายของคนไข้โควิด-19 บางคนก็สร้างแอนติบอดีที่มาทำลายเซลล์และเนื้อเยื่อของตัวเอง"

 

 

ขัดขวางระบบภูมิคุ้มกันของโควิด

งานวิจัยของ ดร.ริง เป็นการต่อยอดมาจากงานของฌอง-โลรองต์ คาซาโนวา จากมหาวิทยาลัยร็อกกีเฟลเลอร์ในสหรัฐอเมริกา

 

 

ทีมวิจัยของ ดร.คาซาโนวา ใช้เวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมาศึกษาว่าการแปรผันทางพันธุกรรมส่งผลต่อการต่อสู้กับการติดเชื้อของคนแต่ละคนอย่างไร

งานวิจัยของพวกเขาชี้ว่า ออโตแอนติบอดีไปทำลายโปรตีนอินเตอร์เฟอรอนชนิดที่ 1 (type 1 interferons) ซึ่งเป็นโปรตีนตัวที่ร่างกายสั่งการให้ต่อสู้กับอาการติดเชื้อและการเพิ่มจำนวนของไวรัส

 

 

เมื่อเดือน ต.ค. ปี 2020 ทีมของ ดร.คาซาโนวา ตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารไซแอนซ์ (Science) ซึ่งระบุว่า จากจำนวนคนที่ป่วยสาหัสจากโควิดเกือบ 1,000 คน พบออโตแอนติบอดีในร่างกายคนราว 10%

 

 

รายละเอียดที่น่าสนใจคือ ในจำนวนคนไข้ที่พบออโตแอนติบอดีเหล่านั้น เกือบ 95% เป็นผู้ชาย และนี่อาจเป็นเหตุผลว่าทำไมคนส่วนใหญ่ที่ป่วยสาหัสจากโควิดเป็นผู้ชาย

 

 

เมื่อเดือนที่แล้ว ทีมของ ดร.คาซาโนวา ตีพิมพ์ผลการวิจัยจากการทดลองครั้งใหญ่กว่าโดยดูคนไข้ 3,600 คนที่มีอาการสาหัสจากโควิดและถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล

 

 

พวกเขาพบออโตแอนติบอดีที่ต่อต้านโปรตีนอินเตอร์เฟอรอนชนิดที่ 1 ในเลือดใน 18% ของจำนวนคนที่เสียชีวิตจากโควิด

 

 

มากกว่า 20% ของคนไข้ที่อายุมากกว่า 80 ปีมีออโตแอนติบอดีเหล่านั้น เทียบกับแค่ 9.6% ในหมู่คนไข้ที่อายุต่ำกว่า 40 ปี

 

 

ดร.คาซาโนวา บอกว่า ผลการวิจัยนี้เป็นหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่า บ่อยครั้งที่ "แอนติบอดีเถื่อน" เหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้คนติดโควิดมีอาการหนัก

 

 

ออโตแอนติบอดี และลองโควิด

นอกจากนี้ งานวิจัยชิ้นอื่น ๆ ยังพบความเชื่อมโยงระหว่างออโตแอนดิบอดีและอาการป่วยอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับโควิดแม้ว่าเชื้อจะหายไปจากร่างกายแล้ว

 

 

ในงานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ลงวารสารเนเจอร์ คอมมิวนิเคชันส์ (Nature Communications) ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดพบว่าสำหรับ 1 ใน 5 ของคนที่ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล ร่างกายสร้างออโตแอนติบอดีภายในสัปดาห์แรกที่เข้าโรงพยาบาล

ศาสตราจารย์ พีเจ อัตซ์ จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด บอกว่า ในจำนวนคนไข้ราว 50 คน มี 20% ที่ร่างกายสร้างแอนติบอดีมาทำลายเนื้อเยื่อตัวเองภายในสัปดาห์เดียว แม้จะไม่ได้ตรวจพบตอนเข้าโรงพยาบาลวันแรก

 

 

ศ.อัตซ์ บอกว่า นี่อาจเป็นเหตุผลว่าทำไมบางคนยังมีอาการจากโควิดหลายเดือนหลังจากเชื้อหายไปจากร่างกายแล้ว หรือที่เรียกกันว่า ลองโควิด (long Covid)

 

 

ที่อังกฤษ ทีมนักวิจัยจากอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน พบออโตแอนติบอดีในผู้ป่วยลองโควิด แต่ไม่เจอในผู้ป่วยที่หายจากโควิดจากรวดเร็ว หรือคนที่ไม่ได้ป่วยเป็นโควิด

 

 

ตอนนี้ ศาสตราจารย์ แดนนี อัลต์แมนน์ บอกกับบีบีซีว่า ทีมเขากำลังพยายามหาว่าเราจะสามารถวินิจฉัยอาการลองโควิดจากตัวออโตแอนติบอดีที่พบในร่างกายได้หรือเปล่า แต่ก็ยังอยู่ในขั้นแรก ๆ ของกระบวนการ

 

 

อย่างไรก็ดี แม้ว่าการค้นพบด้านนี้จะเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น แต่นักวิทยาศาสตร์เตือนว่าระบบภูมิคุ้มกันร่างกายต่อโควิดเป็นเรื่องซับซ้อนและออโตแอนติบอดีก็ไม่ใช่ปัญหาทั้งหมด นักวิจัยกำลังศึกษาอีกกลไกหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกันที่ทำงานมากเกินไปในบางกรณี

ในบางกรณี ร่างกายอาจสร้างโปรตีนไซโตไคน์ (Cytokine) มากเกินไปจนถึงระดับอันตรายและไปสร้างความเสียหายให้กับเซลส์ร่างกายตัวเอง

 

ตอนนี้ เรายังไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับเซลล์เราเวลาเชื้อไวรัสเข้าไปในร่างกาย และผลการต่อสู้ภายในร่างกายในแต่ละครั้งจะเป็นตัวกำหนดความร้ายแรงของโรค