VIBHAอัพเกรดIVFรับจีน ลุ้นค่าหัวประกันสังคมเพิ่ม
VIBHA รับอานิสงส์รัฐฯ เตรียมปรับค่ารักษาประกันสังคม ยกระดับศูนย์ IVF รับลูกค้าจีนที่ทยอยกลับเข้ารับคำปรึกษา เพิ่มศักยภาพรักษาโรคซับซ้อน หนุนศักยภาพการทำกำไรอย่างมีนัยสำคัญ มั่นใจรายได้ช่วงครึ่งหลังของปีเร่งตัวโดดเด่น หนุนรายได้รวมทั้งปีทรงตัวต่อเนื่องจากปี 2565 ที่ผ่านมา ย้ำแผนลงทุนขยายโรงพยาบาลตามแผน
นายชัยสิทธิ์ วิริยะเมตตากุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โรงพยาบาลวิภาวดี จำกัด (มหาชน) หรือ VIBHA เปิดเผยว่า VIBHAมีโรงพยาบาลกระจายอยู่ในจังหวัดที่มีศักยภาพทั่วประเทศ อาทิเชียงใหม่, เชียงราย, รวมถึงในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ครอบคลุมหลายอำเภอในจังหวัดชลบุรี - ระยอง มีแนวโน้มได้รับอานิสงส์จากการที่รัฐบาลเตรียมพิจารณาเพิ่มวงเงินเบิกจ่ายรายหัวผู้ป่วยประกันสังคม ที่คาดว่าจะเห็นความชัดเจนไม่เกินวันที่ 15 เมษายน 2566 อย่างมีนัยสำคัญ
ผู้ป่วยPM2.5เพิ่ม
“จากสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ที่แพร่กระจายทางภาคเหนือของไทย ส่งผลให้ปริมาณผู้ป่วยในของโรงพยาบาลเชียงใหม่ราม, โรงพยาบาลเชียงรายรามเร่งตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ส่วนการที่รัฐบาลเตรียมเพิ่มค่ารักษารายหัวผู้ป่วยประกันสังคมจะเป็นปัจจัยสนับสนุนศักยภาพการทำกำไรปีนี้อย่างมีนัยสำคัญเพราะโรงพยาบาลในพื้นที่ EEC ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั้งอมตะ – แหลมฉบับมีปริมาณคนไข้ประกันสังคมมากกว่า 2 แสนคน และการที่บริษัทขยายโรงพยาบาล รวมถึงสร้างโรงพยาบาลใหม่ก็เพื่อจะรองรับปริมาณคนไข้ประกันสังคมที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในอนาคต
สำหรับโรงพยาบาลวิภาวดี อยู่ระหว่างเพิ่มศักยภาพการรักษาโรคซับซ้อน ด้วยการติดตั้งเครื่องเฟมโตเลสิก (FemtoLASIK)เพื่อการผ่าตัดโดยไม่ใช้ใบมีดคาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ภายในเดือนพฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป ควบคู่กับการยกระดับศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก (IVF) ให้มีความลัคชัวรี่ (Luxury) มากขึ้นเพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าจีนที่เริ่มติดต่อเข้ามารับคำปรึกษามากขึ้น
“ผู้ป่วยที่เข้ามารับคำปรึกษาที่ศูนย์ IVF ของ VIBHA มีสถิติประสบความสำเร็จเป็นจำนวนมาก ชื่อเสียงจึงติดอันดับต้นๆ ได้รับความนิยมมากในจีน ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาจึงปรับปรุงศูนย์ IVF ก็พอดีกับการรองรับลูกค้าที่จะกลับมาหลังโควิด-19”
คาดครึ่งปีหลังโตแรง
นางสาวณฐินี ชำนาญกิจโกศล หัวหน้าฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ (Head of Investor Relations)) VIBHA กล่าวว่า บริษัทประมาณการรายได้รวมทั้งปี 2566 ของกลุ่มบริษัทมีแนวโน้มทรงตัวจากปี 2565 ที่มีรายได้ราว 9 พันล้านบาท โดยแนวโน้มรายได้ช่วงครึ่งหลังของปี 2566 (2H66) จะเติบโตได้ดีกว่าช่วงครึ่งแรกของปี 2566 (1H66) กดดันจากรายได้โควิด-19 ที่ลดลงของโรงพยาบาลวิภาวดี
แต่ส่วนแบ่งรายได้จากโรงพยาบาลเชียงใหม่ราม, และ โรงพยาบาลรามคำแหงยังมีแนวโน้มเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จากคนไข้ปกติทั้งผู้ป่วยใน (IPD) และผู้ป่วยนอก (OPD) ที่กลับเข้ามารักษาเพิ่มมากขึ้น รวมถึงผลตอบแทนจากเงินลงทุนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งนี้จะพยายามรักษาศักยภาพการทำกำไรสุทธิให้อยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ เบื้องต้นคาดการณ์รายได้งวดไตรมาส 1/2566 มีแนวโน้มทรงตัวเมื่อเทียบกับงวดไตรมาส 4/2565 (QoQ) แต่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) หนุนจากผลตอบแทนจากเงินลงทุนที่คาดว่าจะอยู่ที่ราว 96 ล้านบาท
“รายได้ช่วงครึ่งแรกของปีจะยังคงอ่อนตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากไม่มีรายได้โควิด-19 แต่ผู้ป่วยปกติที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากหนุนรายได้ช่วงครึ่งหลังของปีให้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งยังคาดหวังว่ารายได้รวมทั้งปีจะใกล้เคียงกับปี 2565 ที่ผ่านมาได้”
เดินหน้าลงทุน
กลุ่มบริษัทตั้งงบประมาณการในการปรับกรุงพื้นที่ในส่วนของในส่วนของโรงพยาบาลวิภาวดี และศูนย์ IVF ปี 2566 ไว้ที่ราว 7 ล้านบาท เพื่อให้มีรูปลักษณ์ที่ทันสมัย – เพิ่มศักยภาพการให้บริการผู้ป่วย นอกจากนี้ยังมีแผนพัฒนา และลงทุนในการเพิ่มประสิทธิภาพรองรับผู้ป่วยในโรงพยาบาลทั้ง 6 แห่ง ประกอบด้วย 1.โรงพยาบาลวิภาราม แหลมฉบัง, 2.โรงพยาบาลวิภาราม อมตะ พานทอง, 3.โรงพยาบาลวิภาราม บ่อวิน, 4.โรงพยาบาล วิภาราม-อ่อนนุช, 5. โรงพยาบาลธนบุรี รังสิต, และ 6.แผนการขยาย โรงพยาบาลวิภาราม