..." การพูดเป็นการสื่อสารที่มีความสำคัญมากเป็นการสร้างความสัมพันธ์กันระหว่างผู้พูดและผู้ฟังไม่ว่าจะในการทำงาน หรือในชีวิตประจำวันซึ่งเราก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะไม่พูดก็ไม่ได้ถึงแม้เราจะมีการติดต่อสื่อสารกันทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้นก็ตามแต่รูปแบบของการติดต่อสื่อสารกันโดยการพบหน้าพูดคุยกันก็ยังคงมีความสำคัญและยังจำเป็นอยู่เหมือนเดิม จึงทำให้การพูดก็ยังสำคัญตลอดไป ดังนั้นทักษะการพูดจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่เราจะต้องเรียนรู้และพัฒนาการพูดของเราอยู่เสมอนะคะ เพราะยุคเวลาเปลี่ยนบางทีภาษาพูดการสื่อสารท่าทางอาจเปลี่ยนตามไปบ้างก็ว่าได้ เพราะฉะนั้นไม่มีความรู้ใดคงที่ เราจึงต้องพัฒนาทักษะการพูดขึ้นไปเรื่อยๆเพื่อให้ทันยุคทันสมัยนะคะ และทักษะเหล่านี้ยังเป็นผลดีต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงานของเราอีกด้วย ซึ่งวันนี้ผู้เขียนมีเทคนิคในการพูดเพื่อสร้างความเชื่อใจคือพูดอย่างไรให้ผู้ฟังเชื่อใจเราและเทคนิคนี้เราอาจจะนำไปใช้ต่อยอดในหน้าที่การงานที่เกี่ยวข้องของเราก็ได้ หรือใช้ในการพูดคุยพบปะสังสรรค์กัน หรือเป็นการพูดเพื่อสร้างความประทับใจในการคุยกันครั้งแรกก็ได้นะคะ เทคนิคต่างๆเหล่านี้เราสามารถฝึกฝนกันได้ดังนั้นเราไปดูพร้อมๆกันเลยค่ะว่ามีอะไรบ้าง "...1.ฟังอย่างตั้งใจ...ก่อนอื่นอันดับแรกเลยคือเราต้องฟังอย่างตั้งใจก่อน เราต้องเป็นผู้ฟังที่ดีนะคะโดยให้ความสนใจและฟังอย่างตั้งใจเมื่อพูดคุยกัน อย่างเช่น การแสดงออกทางสายตา ให้มองตาของผู้ที่สนทนากับเราซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าเรามีความสนใจและอยากทราบในสิ่งที่เขาพูดมากขึ้น, ไม่พูดคุยพร้อมทั้งฟัง ให้เราพยายามหลีกเลี่ยงการพูดคุยในขณะที่คู่สนทนาของเรากำลังพูด หรือไม่ควรพูดแทรกเข้าไปก่อนที่คู่สนทนาของเราจะพูดจบนะคะเพื่อเป็นการรักษามารยาทและให้เกียรติผู้พูดด้วยค่ะ, ฟังอย่างเปิดใจโดยการให้ความสนใจอย่างจริงจังคือเราต้องพิจารณาและรับฟังข้อเสนอแนะหรือความคิดเห็นของคู่สนทนาด้วยนะคะเพื่อแสดงให้เห็นว่าเราให้ความสำคัญต่อความคิดเห็นของเขา, อย่าเพิ่งตีความคำพูดที่ได้ยินทันทีจากคู่สนทนาของเรา ให้เรารับรู้และพิจารณาให้ดีก่อนการตอบคำถามที่คู่สนทนาได้ถามกลับมาทุกครั้ง เพื่อให้เขารู้ว่าเราตั้งใจฟังในสิ่งที่เขากำลังพูดอยู่นะคะ การให้สัญญาณทางร่างกายก็คือให้เราใช้ท่าทางที่แสดงถึงความสนใจอย่างเช่น การยิ้ม การพยักหน้า หรือการเคลื่อนไหวเล็ก ๆ น้อยๆ เพื่อให้คู่สนทนารู้ว่าเราฟังอย่างตั้งใจ เป็นต้น เพราะฉะนั้นการฟังอย่างตั้งใจจากท่าทางที่เราแสดงออกมาจะทำให้คู่สนทนาของเราเห็นว่าเราตั้งใจฟังในสิ่งที่เขาพูดแล้วเขาก็จะตั้งใจฟังในสิ่งที่เราพูดเช่นกัน ดังนั้นเราควรสร้างความเชื่อใจและใส่ใจในการพูดและการฟังที่มีต่อกันเพราะจะทำให้การสนทนาในครั้งนั้นเต็มไปด้วยบรรยากาศที่ดีและน่าจดจำค่ะ คำพูดของเราจะมีค่าก็อยู่ที่คนฟังด้วยน๊า...2.การถามคำถาม...ในการสนทนาระหว่างกันนั้นเราสามารถสอดแทรกคำถามกับคู่สนทนาของเราก็ได้เพื่อสร้างบรรยากาศในการพูดคุยให้สนุกยิ่งขึ้น ให้ผู้ฟังได้มีส่วนร่วมในการพูดคุย ได้พูดแสดงความคิดเห็นในสิ่งที่เราพูดสื่อสารออกไป เพราะจะทำให้เราเข้าใจผู้ฟังของเรามากยิ่งขึ้น ว่าเขาเข้าใจ มีปัญหา หรือ มีความคิดเห็นกับสิ่งที่เราพูดอย่างไรบ้าง แต่ทั้งนี้ต้องเป็นคำถามเชิงบวกนะคะและต้องหลีกเลี่ยงคำถามเชิงลบเพราะอาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นได้เนื่องจากความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน ดังนั้นเราควรคิดให้รอบคอบทุกครั้งก่อนที่เราจะถามคำถามกับคู่สนทนาของเรา โดยเฉพาะผู้ถามจะต้องไม่แสดงความคิดเห็นมากจนเกินไปเพราะเราเป็นฝ่ายถามเขา เราจะต้องให้เขาแสดงความคิดเห็นให้เต็มที่แม้ว่าสิ่งที่เขาได้พูดมาบางส่วนอาจจะขัดกับความคิดเห็นของเราบ้างก็ตาม การตั้งคำถามเช่นนี้ก็เพื่อแสดงให้เราเห็นว่าคู่สนทนาของเราเป็นคนแบบไหน มีทัศนะคติอย่างไรกับเรื่องนี้ มีความเข้าใจในเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน และทำให้เราสมารถเข้าใจคู่สนทนาของเราได้มากยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องเป็นคำถามที่ให้เกียรติระหว่างกัน เป็นคำถามที่สุภาพและสร้างสรรค์ ซึ่งวิธีนี้จะทำให้เขามองว่าเรามีทัศนะคติเดียวกับเขาหรือมีทัศนะคติกันเอง ทำให้เขากล้าพูดคุยกับเรา ทำให้เขากล้าคิดและแสดงความคิดเห็นกับเราได้อย่างเต็มที่ และให้เราคิดเสมอว่า " เพราะอิสระในการคิดจึงทำให้คนเรามีความคิดเห็นที่แตกต่างกันตามเหตุและผล " ดังนั้นเราควรยอมรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกันนะคะ สร้างความเชื่อใจให้กับผู้ฟัง และเขาจะรับฟังเราอย่างตั้งใจค่ะ...3.ใช้ภาษาที่เข้าใจ...การใช้ภาษาในการพูดเป็นสิ่งที่สำคัญนะทุกคน เราควรใช้ภาษาที่เข้าใจและเหมาะสมกับผู้ฟังด้วย เพื่อให้การสื่อสารของเรามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งการใช้ภาษาที่เข้าใจในการพูดมีหลายแง่มุมนะคะ ยกตัวอย่างเช่น การใช้คำศัพท์ที่เหมาะสมโดยเราควรเลือกใช้คำศัพท์ที่เหมาะสมต่อบริบทและผู้ฟัง เพื่อให้ข้อความหรือประโยคของเรามีความชัดเจนมากขึ้น, เราควรหลีกเลี่ยงภาษาทางการโดยพยายามให้ภาษาของเราไม่เข้าสังคมหรือมีคำที่ซับซ้อนมากเกินไป ควรเลือกใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย, เราควรหลีกเลี่ยงการใช้ภาษาทางเทคนิคลงบ้างและควรใช้ภาษาที่เข้าถึงง่ายไม่ทำให้ผู้ฟังเกิดอาการงงได้, พยายามให้ความชัดเจนในการอธิบายความคิดหรือแนวคิดของเราให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้ผู้ฟังเกิดการสับสน หรือเราจะใช้ความรู้สึกจากประสบการณ์ส่วนตัวมาพูดอธิบายเสริมเพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจมากขึ้นซึ่งจะทำให้การพูดของเรามีความน่าสนใจ เพราะฉะนั้นการพัฒนาทักษะในการใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายในการพูดจึงเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาและต้องปฏิบัติเพื่อปรับปรุงตนเองอยู่เสมอ ซึ่งเราอาจจะดูปฏิกิริยาของผู้ฟังก็ได้ว่าเขามีสีหน้าท่าทางเข้าใจในสิ่งที่เราพูดหรือไม่ ถ้าไม่เข้าใจก็ให้ถามหรือลองเปลี่ยนภาษาพูดใหม่ก็ได้นะคะ...4. ความรู้ความเชี่ยวชาญ...ความรู้และความเชี่ยวชาญในเรื่องที่พูดเป็นสิ่งที่สำคัญนะคะซึ่งในเวลาที่เราจะพูดหรืออธิบายเรื่องอะไรก็ตาม เราจะต้องมีความรู้หรือความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆก่อน เพราะจะทำให้ผู้ฟังสนใจฟังเรามากยิ่งขึ้น หรือเราจะต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม ฟังข่าว ฟังบทสัมภาษณ์ หรือสอบถามผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ในเรื่องนั้นโดยเฉพาะก็ได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ฟังของเรานะคะ และจะทำให้ผู้ฟังเชื่อใจในสิ่งที่เราพูด ทั้งนี้เราในฐานะผู้พูดจะต้องมีความจริงใจต่อผู้ฟังด้วยน๊าไม่ใช่ว่าจะพูดอะไรก็พูดได้หรือให้ข้อมูลในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เป็นต้น เราต้องมีจรรยาบรรณและมีศิลธรรมในการพูดด้วยนะคะ เพราะถ้าเราให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือบิดเบือนไปจากความเป็นจริงที่อาจมีผลกระทบต่อผู้ฟังในการคิดวิเคราะห์และลงมือปฏิบัติตามนั้น ข้อมูลที่เราพูดออกไปอาจจะเข้าข่ายเป็นการพูดที่หลอกลวงและอาจจะมีผลเสียต่อเราในอนาคตก็ได้ เพราะฉะนั้นแล้วถ้าเราอยากได้ความเชื่อใจจากผู้ฟังเราจะต้องจริงใจต่อผู้ฟังด้วยน๊า...5.บุคลิกภาพ...บุคลิกภาพเป็นสิ่งสำคัญมากๆเพราะว่าผู้ฟังจะมองเราจากรูปลักษณ์ภายนอกก่อนเสมอเมื่อพบเจอกัน ดังนั้นเราควรสร้างคาแรคเตอร์ของตัวเองในแบบที่เรามั่นใจ มีสไตล์เป็นของตัวเอง แต่ทั้งนี้ก็ย่อมขึ้นอยู่กับวาระและสถานที่ที่เราจะพูดด้วย เช่นถ้าในกลุ่มเพื่อนเราจะแต่งตัวในสไตล์ของเราที่เรามั่นใจ แต่ถ้าเป็นงานเข้าสังคมเราก็ควรแต่งตัวในแบบของตัวเองเช่นกันเพื่อสร้างความจดจำให้กับผู้ฟังในการพบเห็นเรา ผู้ฟังก็จะจดจำเราได้ในครั้งต่อไป แต่ทั้งนี้การแต่งตัวต้องให้เข้ากับคอนเซ็ปต์งานด้วยนะคะ เพื่อเป็นการให้เกียรติผู้ฟังและสถานที่ของงานนั้นๆ เพราะฉะนั้นแล้วเราจะต้องสร้างบุคลิกภาพให้ดูน่าเชื่อถือ ให้ดูเป็นมิตรและเป็นคนที่หน้าเข้าหา รู้สึกได้รับพลังงานบวกและรู้สึกปลอดภัยทุกครั้งเมื่ออยู่ใกล้ เราต้องมีหน้าตาที่มีรอยยิ้ม สดใส และจริงใจ เป็นต้น เราจะมาเขินอายไม่ได้ หน้าตาเครียดคิ้วขมวดไม่ได้นะคะ เราต้องสร้างความเชื่อมั่นในตัวเอง กล้าพูด กล้าคุย ไม่กลัวคำถามจากผู้ฟังที่ถามมา และมีไหวพริบในการตอบได้อย่างดี ถ้าเราเป็นคนคิดบวก เราก็จะเป็นคนที่มีความคิดที่ดีและมีคำพูดที่ดีออกมาได้ง่ายๆโดยไม่ต้องมีการปรุงแต่งและดูเป็นธรรมชาติในแบบของเราได้นะคะ ดังนั้นเราควรสร้างบุคลิกภาพตามความเหมาะสมในแบบของเราด้วยน๊า...6.การสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี...การสร้างสิ่งแวดล้อมหรือบรรยากาศที่ดีในการสนทนานั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก เราควรทำให้การสนทนาของเรามีความผ่อนคลายและสนุกมากยิ่งขึ้นนะคะ เช่นเราอาจจะต้องใช้ภาษากายร่วมด้วยโดยการยิ้มหรือใช้ท่าทางประกอบในการอธิบายเพื่อให้ผู้ฟังสนใจและเข้าใจเมื่อผู้ฟังเกิดความสนใจเขาก็จะตั้งใจฟังเราพูดและสนุกไปกับสิ่งที่เราสื่อสารออกมาค่ะ เราอาจจะใช้คำพูดที่ติดตลกนิดหน่อยแต่ต้องมีสาระนะคะเพื่อเรียกเสียงหัวเราะจากผู้ฟังได้ หรือเราอาจจะต้องสังเกตสิ่งที่อยู่รอบๆตัวว่าผู้ฟังชอบหรือสนใจเรื่องอะไรเป็นพิเศษบ้างอย่างเช่น สนใจดาราศิลปินคนไหน ชอบกินอะไร โดยเราสามารถสังเกตได้จากสิ่งรอบตัวที่เราเห็นเมื่อเราได้สนทนากับเขา เพื่อเป็นการเอาใจผู้ฟังและให้ความสำคัญกับผู้ฟังด้วยแต่ก็อย่าถามเรื่องส่วนตัวมากเกินไปนะคะให้ถามพอดีและเหมาะสมค่ะ นอกจากนี้เราต้องสร้างบรรยากาศที่เป็นกันเองและไม่ตึงเครียดจนเกินไปและให้เหมาะสมกาละเทศะด้วยนะคะ เช่นถ้าผู้ฟังเป็นผู้สูงอายุเราก็ต้องให้ความเคารพ อ่อนน้อมถ่อมตน ให้เกียรติ แต่ทั้งนี้เราต้องดูเพศ อายุ และบุคลิกของผู้ฟังด้วยนะคะซึ่งการเข้าถึงและการสร้างความสนใจของแต่ละเพศและช่วงวัยจะแตกต่างกันค่ะ......" เป็นอย่างไรกันบ้างค่ะกับเทคนิคและวิธีการต่างๆที่เราได้อ่านมาแล้วข้างต้นจะทำให้ทุกคนเห็นว่าไม่ว่าเราจะทำงานอะไรก็ตามการพูดย่อมมีความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง บางครั้งเราก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการพูดคุยกันได้ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเข้าสังคมได้ เพราะเรายังต้องติดต่อสื่อสารกันตลอดเวลา ไม่ว่าจะเรื่องเจรจาธุรกิจ พบปะสังสรรค์กับเพื่อน ครอบครัว การทำงาน การเรียน เป็นต้น ถ้าเรามีทักษะในการพูดที่ดีก็ย่อมมีผลดีต่ออนาคตของเราด้วย เพราะฉะนั้นแล้วเราอย่าโทษตัวเองว่าเราพูดไม่เก่ง ทักษะการพูดเราสามารถฝึกฝนกันได้ค่ะ ผู้เขียนเองตอนแรกก็เป็นคนไม่ค่อยพูดเพราะเขินอายและไม่กล้าที่จะพูดเหมือนกันแต่พอเราเปลี่ยนแปลงตัวเองโดยการฟังให้เยอะขึ้น อ่านให้เยอะขึ้น ฝึกพูด ฝึกคุย และมีความกล้า เราก็จะพูดได้เยอะขึ้นค่ะ และสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือความกล้าค่ะขอให้ทุกคนกล้าพูดเพราะความกล้าเท่านั้นค่ะที่จะช่วยเราได้อย่าไปกลัวน๊า สุดท้ายนี้ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะมีประโยชน์ต่อผู้อ่านได้ไม่มากก็น้อยนะคะ พบกันใหม่ในบทความหน้าสำหรับวันนี้สวัสดีค่ะ "... เครดิต1. ภาพปกและภาพประกอบทั้งหมดโดย Masukaza (เจ้าของบทความ)2. ภาพปกและภาพประกอบทั้งหมดออกแบบโดย Canvaเปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !