รีเซต

ไทยพาณิชย์ หั่นจีดีพีปี’65 เหลือ 3.2% ชี้ศก.ไทยฟื้นตัวช้า-โอมิครอนทุบท่องเที่ยว-หนี้ครัวเรือน-คนว่างงานยังสูง

ไทยพาณิชย์ หั่นจีดีพีปี’65 เหลือ 3.2% ชี้ศก.ไทยฟื้นตัวช้า-โอมิครอนทุบท่องเที่ยว-หนี้ครัวเรือน-คนว่างงานยังสูง
ข่าวสด
9 ธันวาคม 2564 ( 15:11 )
25
ไทยพาณิชย์ หั่นจีดีพีปี’65 เหลือ 3.2% ชี้ศก.ไทยฟื้นตัวช้า-โอมิครอนทุบท่องเที่ยว-หนี้ครัวเรือน-คนว่างงานยังสูง

ไทยพาณิชย์ หั่นจีดีพีปี’65 - นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center หรือ EIC (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ (จำกัด) มหาชน กล่าวว่า อีไอซี ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2564 เป็น 1.1% จากเดิมที่คาดไว้ที่ 0.7% จากโมเมนตัมการฟื้นตัวที่เร็วขึ้นของเศรษฐกิจภายในประเทศหลังการเปิดเมืองและเปิดประเทศ

 

ขณะเดียวกันปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2565 เป็น 3.2% จากเดิมที่คาดไว้ที่ 3.4% เพราะมีประเด็นสำคัญที่ต้องจับตา คือ การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ โอมิครอน ที่คาดกันว่าสามารถแพร่กระจายได้มากขึ้น และอาจลดประสิทธิภาพของวัคซีนลงบ้าง

 

ดังนั้นโอมิครอนจะมีผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว และความเชื่อมั่นในช่วงต้นปี 2565 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่ยังพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก ทำให้การฟื้นตัวอย่างเป็นไปอย่างช้าๆ มากขึ้น โดยอีไอซีคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยในปี 2565 อยู่ที่ 5.9 ล้านคน บนพื้นฐานสมมุติฐานที่ผลกระทบของโอมิครอนจะจำกัดอยู่ในช่วงไตรมาสที่ 1 ขณะที่ในกรณีเลวร้าย ประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจลดลงไปอยู่ที่ 2.6 ล้านคน ตามการจำกัดการเดินทางของประเทศต้นทางนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะจีนที่อาจยืดเวลาการเปิดประเทศออกไปเป็นในปี 2566

 

พร้อมกันนี้ ปัจจัยเรื่องโอมิครอน อาจทำให้ผู้บริโภคบางส่วนชะลอการใช้จ่ายลงจากความกังวลที่เพิ่มสูงขึ้น และอาจมีมาตรการจำกัดการแพร่ระบาดเกิดขึ้นในบางจุดซึ่งจะกระทบกับการใช้จ่ายโดยตรง นอกจากนี้ การฟื้นตัวของการใช้จ่ายในประเทศในภาพรวมจะเป็นไปอย่างช้าๆ จากแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่จะยังมีผลต่อเนื่องไปในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะภาวะตลาดแรงงานที่ซบเซา ล่าสุดอัตราการว่างงานในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2564 อยู่ที่ 2.3% ถือเป็นจุดสูงสุดใหม่สำหรับอัตราการว่างงานในช่วงโควิด-19 และเป็นอัตราการว่างงานที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2550

 

อัตราการว่างงานที่สูงขึ้น เป็นผลมาจากผู้ประกอบการปิดกิจการจำนวนมากในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ทำให้มีแนวโน้มว่าอัตราว่างงานจะนานขึ้น และจะเพิ่มสูงขึ้นในปี 2565 จะส่งผลต่อความสามารถของภาคครัวเรือนในการหารายได้ และการบริหารจัดการหนี้ที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งคาดว่าน่าจะยังเป็นหนึ่งในแรงกดดันต่อการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนไทยต่อเนื่อง

 

อย่างไรก็ตาม อีไอซีมองว่าในภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังเติบโตต่ำกว่าระดับศักยภาพ และมี output loss หรือ การสูญเสียการผลิตที่มีขนาดใหญ่ในระดับสูงและผลของแผลเป็นเศรษฐกิจที่ลึกขึ้น ประกอบกับความเสี่ยงด้านต่ำจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่ยังมีสูง และในกรณีโอมิครอนส่งผลกระทบให้สถานการณ์เลวร้าย เศรษฐกิจไทยอาจจะเติบโตได้เพียง 2.3% ในปี 2565 ภาครัฐจึงยังควรคงบทบาทในการสนับสนุนเศรษฐกิจในปีหน้า โดยการพิจารณากู้เงินเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจเพิ่มเติม ซึ่งควรเน้นการจัดสรรเม็ดเงินเพื่อส่งเสริมการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและการลงทุนเพื่อการเติบโตในอนาคต

 

“ในปี 2565 แรงส่งจากการใช้จ่ายของภาครัฐในภาพรวมมีแนวโน้มลดลงจากปีก่อนหน้าตามการใช้จ่ายอุปโภคบริโภคของภาครัฐภายใต้กรอบงบประมาณที่ลดลง รวมถึงเม็ดเงินที่จะเหลือเพียงราว 2.6 แสนล้านบาท จาก พ.ร.ก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท อย่างไรก็ดี ด้วยความจำเป็นในการเยียวยาแผลเป็นทางเศรษฐกิจและรองรับความเสี่ยงด้านต่ำที่มีสูงขึ้น ภาครัฐจึงควรพิจารณากู้เงินเพิ่มเติม และกว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับไปอยู่ในระดับปี 2562 อาจจะต้องรอถึงช่วงกลางปี 2566 ซึ่งการปล่อยให้เศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำกว่าศักยภาพหรือมีแผลเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นเวลานาน จะส่งผลเสียระยะยาวต่อเศรษฐกิจไทย”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง