'สาธิต' เตรียมส่งเรื่อง 'กจว.' วินิจฉัย ลดหรืองดค่าปรับ 'ซิโน-ไทย' เชื่อไม่ทิ้งงาน
เมื่อวันที่ 13 มกราคม นายสาธิต ประเสริฐศักดิ์ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจการจ้างโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พร้อมอาคารประกอบ ให้สัมภาษณ์ว่าสัปดาห์นี้ทางสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้ว่าจ้างบริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่พร้อมอาคารประกอบ จะส่งหนังสือไปยังคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ (กจว.) กรมบัญชีกลาง เพื่อขอให้พิจารณาต่อกรณีที่บริษัทซิโน-ไทยฯ ขอใช้สิทธิให้สำนักงานพิจารณาลดหรืองดค่าปรับ ซึ่งบริษัทซิโน-ไทยฯ อ้างถึงผลกระทบในหลายประเด็น อาทิ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กระทบต่อการเดินทางของแรงงานจากพื้นท่ี จ.นนทบุรี เข้าสู่กทม.กว่า 700 คน การเสนอขอขยายเวลาจัดทำป้ายข้อความที่ใช้ติดตั้งภายในอาคารรัฐสภา เช่น ป้ายหน้าห้องกรรมาธิการ ป้ายหนีไฟที่มีกว่า 4,000 รายการ แต่ได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการไปเพียงบางส่วน และขณะนี้ติดปัญหาการนำเข้าวัสดุจากต่างประเทศ การปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำ วันละ 300 บาท ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อปี 2556 เป็นต้น ว่าตามเงื่อนไขและรายละเอียดของกฎหมายสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน ส่วนระยะเวลาที่กจว. จะพิจารณานั้นไม่สามารถระบุได้ เพราะเป็นดุลยพินิจของกรรมการ ที่จะนัดประชุมเดือนละ 1 ครั้ง
นายสาธิต กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นหลังจากที่สำนักงานฯ ไม่ต่อสัญญาก่อสร้างให้ผู้รับจ้าง ทำให้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 บริษัทซิโน-ไทยฯ ต้องจ่ายค่าปรับวันละ 12,280,000 บาท อย่างไรก็ตามกรณีไม่ต่อสัญญาดังกล่าว เชื่อว่าจะไม่เป็นปัญหาที่ทำให้ผู้รับจ้างทิ้งงานเนื่องจาก บริษัทซิโน-ไทยฯ ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าจะดำเนินการก่อสร้างตามสัญญาหลักให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 30 เมษายน 2564 อีกทั้งบริษัทซิโน-ไทยฯ ถือเป็นบริษัทใหญ่ หากทิ้งงานอาจเกิดความเสียหายต่อธุรกิจในอนาคตได้
สำหรับความคืบหน้างานก่อสร้างตามสัญญาหลักนั้น นายสาธิต กล่าวว่า อาคารรัฐสภาพร้อมอาคารประกอบนั้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้รับแจ้งว่าแล้วเสร็จไป 95.06% และขณะนี้ยังเหลือส่วนของอาคารโถงกลาง ที่เป็นห้องทำงานของส.ส. ที่งานก่อสร้างแล้วเสร็จ และเหลืองานตกแต่ง การติดตั้งเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ขณะที่ประเด็นของงานติดตั้งพระราชานุสาวรีย์รัชกาลที่7 นั้น ได้แยกออกจากสัญญาหลักแล้ว ดังนั้นกรณีที่มีสมาชิกวุฒิสถา(ส.ว.)ท้วงติงต่อนั้นจะไม่เป็นปัญหาต่องานก่อสร้าง สำหรับการยุติข้อท้วงติงดังกล่าวต้องให้กรรมการอนุสาวรีย์แห่งชาติ หรือนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา พิจารณารายละเอียด