รีเซต

รมว.ดีอีเอส ชี้ปิดแพลตฟอร์ม ต้องรอศาลสั่ง วอนระมัดระวังเนื้อหาก่อนโพสต์

รมว.ดีอีเอส ชี้ปิดแพลตฟอร์ม ต้องรอศาลสั่ง วอนระมัดระวังเนื้อหาก่อนโพสต์
มติชน
9 พฤษภาคม 2565 ( 11:30 )
39
รมว.ดีอีเอส ชี้ปิดแพลตฟอร์ม ต้องรอศาลสั่ง วอนระมัดระวังเนื้อหาก่อนโพสต์

รมว.ดีอีเอส’ ชี้ ปิดแพลตฟอร์ม ต้องรอศาลสั่ง วอน ระมัดระวังเนื้อหาก่อนโพสต์ หวั่น กระทบความรู้สึกคนไทย จ่อใช้ พ.ร.ฎ.กำกับแพลตฟอร์มดิจิทัล คลอดเร็วๆ นี้

 

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 9 พฤษภาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ไปยื่นเรื่องต่อกระทรวงดีอีเอส เพื่อขอให้ร้องศาลสั่งปิดเว็บไซต์และแพลตฟอร์มขายสินค้าชื่อดังที่ปล่อยให้มีการเผยแพร่โฆษณาที่มีเนื้อหาหมิ่นสถาบัน ว่า

 

ทางกระทรวงดีอีเอส ได้ติดตามเรื่องนี้ตั้งแต่ได้ทราบข่าว ว่ามีการโพสต์ไม่เหมาะสมในแพลตฟอร์มชื่อดัง จึงได้รวบรวมพยาน หลักฐานจากทุกช่องทาง ยูทูป เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ พบว่ามี 42 ยูอาร์แอล ที่แชร์ข้อมูล จึงได้ประสานงานกับทางแพลตฟอร์มให้มีการปิดกั้น เทคดาวน์ไปแล้ว และจะดำเนินคดีตามกฎหมาย ให้ถึงที่สุดกับผู้มีความผิด และจะขอคำสั่งศาลสั่งปิดกั้นด้วยหากแพลตฟอร์มยังไม่ปิดกั้น แต่คิดว่าน่าจะปิดได้หมด ไม่มีปัญหา

 

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ฝากเตือนไปยังอินฟลูเอนเซอร์ หรือผู้ที่จะโพสต์ข้อความ คลิปต่างๆ รวมถึงเอเจนซี่โฆษณาอยากให้มีความระมัดระวัง โพสต์ที่จะ กระทบความรู้สึกของคนไทยหรือผิดกฎหมาย ผิดจรรยาบรรณสื่อในการโฆษณา จึงอยากให้ทำงานด้วยความระมัดระวัง ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก ทั้งนี้จะดำเนินคดีตามกฎหมายให้ถึงที่สุดกับผู้กระทำผิดทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น นาราเครปกระเทย ที่เป็นเจ้าของโพสต์ บริษัทโฆษณา ตัวแพลตฟอร์ม ประกอบด้วย 3 กลุ่มนี้ซึ่งต้องดำเนินคดีทั้ง 3 กลุ่ม ส่วนใครจะมี ความผิดอย่างไรต้องดำเนินไปตามกฎหมาย

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะเชิญบริษัทโฆษณา เอเจนซี่ มาทำความเข้าใจรูปแบบการนำเสนอหรือไม่ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของสมาคมโฆษณา ที่มีมาตรฐานวิชาชีพ มีจรรยาบรรณ ที่จะต้องดูแลกันเอง ตนเชื่อว่าเขาได้พูดคุยกันอยู่แล้วในการบังคับใช้ มีจริยธรรมอย่างจริงจังและควรมีบทลงโทษคนที่ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมหรือจรรยาบรรณของสมาคมโฆษณา สื่อโฆษณา ซึ่งตนอยากให้พวกเขากำกับกันเองมากกว่า เพราะหากเราไปใช้อำนาจรัฐก็เท่ากับไปแทรกแซง หรือทำให้เขารู้สึกไม่สบายใจ ทางสมาคมเขาจะกำกับดูแลกันเองส่วนทางเราก็คอยไปประสานงาน

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกเพราะกระทบความรู้สึกคนไทย โดยเฉพาะแพลตฟอร์มเองก็โดนกระทบมาก ที่กระทำไม่เหมาะสม คนไทยรับไม่ได้ ถือเป็นอุทาหรณ์ให้กับแพลตฟอร์มหรือการค้าออนไลน์การโฆษณาต่างๆที่จะต้องมีความระมัดระวัง การกระทำใดที่ผิดศีลธรรม ผิดกฎหมาย ขัดความรู้สึกของคนไทยสังคมจะลงโทษทั้งนั้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีบางฝ่ายเสนอให้รัฐบาลออกกฎหมายการให้บริการดิจิทัล (Digital Services Act – DSA) ที่เหมือนกับกฎหมายของสหภาพยุโรป (อียู) เพื่อใช้มากำกับดูแลแพลตฟอร์มต่างๆ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า กฎหมายที่จะดูแลเรื่องแพลตฟอร์มเราได้ร่างแล้ว เพื่อให้มีมาตรฐานสากลเหมือนในยุโรป ขณะนี้อยู่ระหว่างคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายกำลังยกร่างซึ่งใกล้เสร็จแล้วจะได้เข้าสู่สภา

แต่อย่างไรก็ตามเรามีพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำกับแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งได้เสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างสำนักงานกฤษฎีกากำลังตรวจร่าง ก่อนจะประกาศ ซึ่งจะมีการบังคับให้แพลตฟอร์มดิจิทัล อีคอมเมิร์ซ ต่างๆ จะต้องมาจดแจ้งการประกอบการ เพื่อควบคุมการใช้งานไม่ให้ผิดกฎหมาย หรือกระทบต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยมีมาตรการกำกับดูแล เช่น การมีตัวแทนในประเทศไทย มีอัลกอริธึมที่เหมาะสมในการโพสต์หรือแชร์ มีการควบคุมไม่ให้มีปัญหา

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า เห็นด้วยว่าเราควรจะทำให้เร็ว รัฐบาลให้ความสำคัญ พยายามแก้กฎหมาย ปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ตลอดเวลา ก็ต้องเร่งให้เร็วที่สุด แต่ต้องมีความรอบคอบ มีการรับฟังความคิดเห็น ตรวจร่างให้ถูกต้อง จึงต้องใช้เวลา แต่ โดยหลักการวันนี้ปัญหาใหญ่คือประชาชนจะต้องระมัดระวัง ในการใช้โซเชียลมีเดียในการโพสต์หรือแชร์ รวมถึงบริษัทที่ทำโฆษณา หรือ ผู้ขายทางออนไลน์ อินลูเอนเซอร์ จะต้องมีจรรยาบรรณถูกกฎหมาย และถูกบริบทของสังคมด้วย การทำอะไรขอให้ระมัดระวัง ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก

“ประเด็นเรื่องการปิดแพลตฟอร์ม เป็นเรื่องที่จะต้องให้ศาลเป็นผู้พิจารณา ซึ่งโดยหลักกฎหมายแพลตฟอร์มเป็นตัวกลาง ไม่ใช่คนโพสต์ เมื่อแพลตฟอร์มทราบว่ามีคนโพสต์ หรือการให้ข้อมูลที่ผิดกฎหมาย หรือทางกระทรวงดีอีเอส แจ้งไป แล้วเขาปิด หรือเทคดาวน์เขาก็จะไม่มีความผิดเพราะเป็นแค่ตัวกลาง ไม่ใช่คนดำเนินการ แต่ถ้าเขาไม่ปิด ปล่อยให้มีการโพสต์เช่นนั้นต่อไปก็จะมีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ถือว่าเป็นผู้ร่วมกระทำความผิด ก็จะดำเนินคดีพ่วงกันไปเลยทั้งคนโพสต์และตัวกลาง จึงอยู่ที่ว่าหลังจากนี้เขาทำอย่างไรต่อไป ก็ต้องดูที่ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย อยู่ดีๆ จะไปปิดเขาเลยไม่ได้ จะต้องใช้กระบวนการทางกฎหมาย ประเทศไทยเรามีสิทธิเสรีภาพให้กับพี่น้องประชาชน การจะไปจำกัดสิทธิ หรือไปลงโทษก็ต้องผ่านกระบวนการทางกฎหมายก่อนคือให้ศาลเป็นคนตัดสินจะไปปิดเลยไม่ได้เพราะกระทบสิทธิของเขา” นายชัยวุฒิ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง