รีเซต

แย้มแก้กม.ลิขสิทธิ์ เข้มละเมิดออนไลน์ รับโลกยุคดิจิทัล

แย้มแก้กม.ลิขสิทธิ์ เข้มละเมิดออนไลน์ รับโลกยุคดิจิทัล
มติชน
5 สิงหาคม 2563 ( 15:32 )
73

กรมทรัพย์สินทางปัญญา แย้มแก้พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ เข้มละเมิดออนไลน์รับโลกยุคดิจิทัล

ในโลกยุคดิจิทัล ทำให้ไทยสำรวจว่ามีอะไรที่ต้องปรับปรุงรองรับการเปลี่ยนแปลง หนึ่งในนั้นคือการปรับแก้กฎหมายให้ทันและสอดคล้องกับสถานการณ์

หนึ่งในนั้นคือ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์Ž ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา กำลังยกร่างแก้ไข

จิตติมา ศรีถาพร รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา อธิบายถึงเหตุผลการยกร่างแก้ไข พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ว่า เมื่อกฎหมายบังคับใช้แล้วพบว่าทางปฏิบัติยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ จนเกิดความล่าช้าในการสั่งการถอดสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากออนไลน์ และการดำเนินการเอาผิดใช้เวลานาน

 

 

จึงเพิ่มเติมการปกป้อง คุ้มครองการละเมิดลิขสิทธิ์บนอินเตอร์เน็ตให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเพิ่มความรับผิดชอบผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (ISP) ในกระบวนการระงับการละเมิดลิขสิทธิ์บนอินเตอร์เน็ตแบบแจ้งเตือนและเอาออก (Notice and Takedown) หากเจ้าของสิทธิพบว่ามีการละเมิดเกิดขึ้น เช่น เพลง ภาพยนตร์ ละคร บนเว็บไซต์ต่างๆ สามารถแจ้งเตือนไปยัง ISP เพื่อให้นำงานที่ละเมิดลิขสิทธิ์ออกได้ทันที

“กฎหมายปัจจุบัน หากพบว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์ ต้องไปร้องขอต่อศาลเพื่อสั่งให้ระงับ
การเผยแพร่ ซึ่งใช้เวลานาน หรือบางครั้งศาลสั่งแล้ว ก็มีปัญหา หากผู้ที่ละเมิดอยู่ต่างประเทศ หรือมีเซิร์ฟเวอร์อยู่ในต่างประเทศ ก็ทำอะไรไม่ได้ ต้องไปร้องขอให้มีคำสั่งปิดกั้นเว็บไซต์อีก แต่กฎหมายใหม่ ให้เจ้าของสิทธิ์ สามารถส่งหนังสือแจ้งไปยัง ISP ให้ถอดงานละเมิดลิขสิทธิ์ออกได้เลย หากไม่ปรับปรุง อนาคตก็จะเกิดการสะสมของคดีฟ้องร้องมากขึ้นๆ ที่ผ่านมาพบว่าหลายสิบคดีแล้ว”Ž รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาแจกแจง

นอกจากนี้ ใน พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ยังปรับปรุงบทบัญญัติมาตรการที่เกี่ยวกับละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หากบุคคลใดผลิต ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย ให้เช่า เสนอให้เช่า จัดหา นำเข้า หรือการค้าโดยวิธีอื่นใด ซึ่งอุปกรณ์หรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการแฮกบนอินเตอร์เน็ต เช่น กล่องปลดล็อกรหัสเข้าอินเตอร์เน็ต ให้ถือว่าเป็นการละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยี ซึ่งกฎหมายปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมถึงผู้ผลิต และผู้ขายอุปกรณ์เหล่านี้ แต่กฎหมายใหม่ จะเอาผิดกับผู้ผลิต ผู้จำหน่ายอุปกรณ์เหล่านี้ด้วย

ขณะเดียวกัน ได้แก้ไขกฎหมายเพื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิกสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WCT) ปัจจุบันไทยอยู่ระหว่างการขอเข้าเป็นสมาชิก แต่กฎหมายลิขสิทธิ์ของไทยยังไม่สอดคล้องกับสนธิสัญญา จึงต้องแก้ไขให้สอดคล้อง เช่น การขยายระยะเวลาการคุ้มครองภาพถ่าย ที่กฎหมายไทยคุ้มครอง 50 ปีหลังจากสร้างสรรค์ ขยายเป็นคุ้มครองตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ และเพิ่มอีก 50 ปีหลังจากเสียชีวิตตาม WCT ซึ่งจะทำให้การคุ้มครองต่อเนื่อง และยาวนานมากขึ้น

ย้อนไปก่อนหน้านี้ ผลการศึกษาถึงความจำเป็นในการตรา ร่าง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ (ฉบับใหม่) ได้แก่ ยุคที่รัฐบาลมีนโยบายประเทศไทย 4.0 ซึ่งต้องการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้ การศึกษาความคิดสร้างสรรค์ และการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญา การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ในการผลิตสินค้าและบริการที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและคุณค่าทางสังคม โดยมีอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่รัฐบาลให้ความสำคัญ

จากสถิติปี 2557 พบว่า มูลค่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยมีมูลค่าสูงถึง 1.61 ล้านล้านบาท หรือ 13.18% ของจีดีพี และจากผลสำรวจของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) พบว่าปี 2559 มูลค่าอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ของไทย ซึ่งครอบคลุม 3 สาขาหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมแอนิเมชั่น อุตสาหกรรมคาแร็กเตอร์ และอุตสาหกรรมเกม มีมูลค่ารวม 21,981 ล้านบาท แบ่งเป็น อุตสาหกรรมแอนิเมชั่น 3,965 ล้านบาท อุตสาหกรรมคาแร็กเตอร์ 1,687 ล้านบาท และ อุตสาหกรรมเกม 16,328 ล้านบาท แต่ละอุตสาหกรรมเติบโตขึ้นทุกปี

ขณะที่พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปมาก และความก้าวหน้าของเทคโนโลยี สารสนเทศในยุคดิจิทัล ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่ออุตสาหกรรมสร้างสรรค์ จากเดิมที่งานลิขสิทธิ์จะปรากฏอยู่ในสื่อที่จับต้องได้ แต่ปัจจุบันการพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้สามารถแปลง ข้อความ เสียง หรือรูปภาพให้อยู่ในรูปดิจิทัลคอนเทนต์

งานลิขสิทธิ์ในรูปดิจิทัล เช่น เกมออนไลน์ เพลงออนไลน์ ภาพยนตร์ออนไลน์ ละครออนไลน์ และ
อีบุ๊ก จึงถูกส่งผ่านและใช้งานบนสื่ออินเตอร์เน็ตได้อย่างแพร่หลาย ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงงานลิขสิทธิ์เหล่านั้นได้โดยสะดวกรวดเร็วในทุกสถานที่และทุกเวลาที่ต้องการ

“ความสะดวกสบายที่เกิดขึ้นจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้ผู้บริโภคหันมาบริโภคงานลิขสิทธิ์บนสื่อออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้เจ้าของลิขสิทธิ์ต้องปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยใช้ประโยชน์จากสื่อ อินเตอร์เน็ตในการเผยแพร่งานลิขสิทธิ์ของตนไปยังกลุ่มผู้ใช้งานลิขสิทธิ์และดำเนินธุรกิจผ่านสื่ออินเตอร์เน็ตมากขึ้น”Ž จิตติมา อธิบายเพิ่มเติม

อย่างไรก็ดี หลัง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2)พ.ศ.2558 มีผลใช้บังคับ กรมทรัพย์สินทางปัญญาจัดประชุมเพื่อทบทวนประสิทธิผลของการบังคับใช้ พบว่า บทบัญญัติเกี่ยวกับข้อจำกัดความรับผิดของผู้ให้บริการยังมีปัญหาในทางปฏิบัติ อาทิ ผู้ให้บริการไม่สามารถดำเนินการตามคำสั่งศาลที่ให้นำงานที่ละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ เนื่องจาก เซิร์ฟเวอร์อยู่ต่างประเทศ หรือเจ้าของลิขสิทธิ์ไม่สามารถดำเนินคดีต่อผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ ภายในระยะเวลาที่ศาลมีคำสั่งให้ระงับการกระทำที่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ เนื่องจากไม่สามารถหาตัวผู้กระทำละเมิดได้ ประกอบกับยังไม่มีบทลงโทษเกี่ยวกับการนำเข้า หรือจำหน่ายอุปกรณ์ที่สามารถใช้ในการหลบเลี่ยงมาตรการทางเทคโนโลยี ทำให้การคุ้มครองงานอันมีลิขสิทธิ์ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอและไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี

เมื่อรูปแบบการบริโภคและรูปแบบการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป แนวทางการคุ้มครองงานลิขสิทธิ์ ต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วยเพื่อรับมือกับปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์บนสื่ออินเตอร์เน็ต ที่ขยายวงกว้างมากขึ้น

จึงเป็นที่มาของการยกร่างกฎหมายดังกล่าว มีผลเชิงบวกหลายประการ อาทิ ส่งเสริมการสร้างสรรค์และเพิ่มพูนงานด้านศิลปวัฒนธรรม การขยายอายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในงานภาพถ่ายจากระยะเวลา 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้นเป็นตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์และมีอยู่ต่อไปอีก 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย จะทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์และทายาทได้รับผลประโยชน์จากผลงานภาพถ่ายนั้นได้นานขึ้น

อีกทั้ง การส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การสร้างสมดุลระหว่างสิทธิของเจ้าของงานดิจิทัลคอนเทนต์กับหน้าที่และความรับผิดชอบ ช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและดึงดูดการลงทุนด้วยเป็นส่วนหนึ่งของผลที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีกฎหมายที่มีประสิทธิภาพ

ขณะนี้ ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ก่อนนำเข้า ครม.พิจารณาจากนั้นเข้าสู่ขั้นตอนของรัฐสภาต่อไปŽ รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาสรุป

ต้องรอดูว่าร่างแก้ไข พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ จะออกมาบังคับใช้ให้สอดคล้องกับโลกยุคดิจิทัลได้เร็วแค่ไหน