รีเซต

หมอจุฬาฯ ย้ำ วัคซีนโควิดเชื้อตายปลอดภัยกับเด็กที่สุด ยันทุกชนิดมีโอกาสเกิดภาวะอักเสบในร่างกายได้

หมอจุฬาฯ ย้ำ วัคซีนโควิดเชื้อตายปลอดภัยกับเด็กที่สุด ยันทุกชนิดมีโอกาสเกิดภาวะอักเสบในร่างกายได้
มติชน
8 ตุลาคม 2564 ( 15:17 )
120

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กรณีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในเด็ก ที่รัฐบาลไทยให้ฉีดวัคซีน mRNA ของไฟเซอร์ ว่า ความวิตกกังวลเป็นส่วนหนึ่ง เพราะทั้งวัคซีนไฟเซอร์ หรือ โมเดอร์นา ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และเยื่อบุหัวใจอักเสบได้ ซึ่งพบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง อายุตั้งแต่ 12-17 ปี และมีอาการหลังฉีดเข็มที่ 2 ค่อนข้างมาก ซึ่งในหลายๆ การศึกษาจะพบ 1 คน ต่อการฉีด 1,000 คน หรือ 1 คน ต่อการฉีด 10,000 คน ซึ่งข้อมูลดังกล่าว เป็นกระบวนการติดตามผลหลังการฉีดอย่างใกล้ชิด

 

“มันเป็นความเสี่ยง แม้ว่าจะมีคนบอกว่าน้อยก็ตาม แต่มันอาจจะเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ในกลุ่มผู้ปกครอง อีกประการหนึ่งคือ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบนั้น แม้จะมีรายงานว่าสามารถหายเองได้ หรือใช้เวลารักษา 7 วันก็หาย อย่างไรก็ตาม อยากให้ดูคู่มือการวินิจฉัย หรือการรักษากล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในเด็กที่ออกมาในประเทศไทย ของสมาคมโรคหัวใจแห่งประเทศไทย ซึ่งในกระบวนการขั้นตอนนั้นเป็นที่ทราบกันดีว่า มีความซับซ้อนอยู่ระดับหนึ่ง และอาจไปถึงกระบวนการที่จะต้องใช้คอมพิวเตอร์สนามแม่เหล็กไฟฟ้าในการดูการอักเสบของหัวใจ และการติดตามว่าจะเกิดเยื่อพังผืดในกล้ามเนื้อหัวใจหรือไม่” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

 

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า หากเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบแล้ว ต้องติดตามดูว่ากระบวนการอักเสบนั้น จะหายไปได้เองหรือไม่ หรือเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไป ขณะเดียวกัน การเกิดเนื้อเยื่อพังผืดนั้น คอมพิวเตอร์สนามแม่เหล็กไฟฟ้าสามารถวินิจฉัยได้ ซึ่งอาจจะลุกลามต่อไปได้ในอนาคตหรือไม่ และยังไม่ทราบผลกระทบที่เกิดกับการใช้ชีวิตของเด็กมากน้อยแค่ไหน ซึ่งในประเทศไทยเพิ่งเริ่มนำวัคซีนทางเลือกมาฉีดให้เด็ก และการติดตามผลจะต้องติดตามอย่างน้อยครึ่งปี

 

สำหรับการรักษาในช่วงที่มีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบรุนแรงนั้น ยาที่ใช้จะประกอบด้วย สารสกัดน้ำเหลือง เพื่อควบคุมการอักเสบ ซึ่งราคาของสารสกัดน้ำเหลืองนั้น หากสั่งจากต่างประเทศจะอยู่ที่ราคา 200,000 กว่าบาทต่อการรักษา 1 ครั้ง หรือไม่ก็ต้องใช้ยาฉีดสเตียรอยด์ขนาดสูง เช่น หากน้ำหนัก 50 กิโลกรัม (กก.) จะต้องฉีดสเตียรอยด์ขนาดสูง 1,000 มิลลิกรัม (มก.) ซึ่งอาจใช้เวลาถึง 3 วัน หรือมากกว่าในการให้ยาดังกล่าว

 

“ครอบครัวของเด็กมีสิทธิที่จะแสดงความกังวลได้ ดังนั้น ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จึงได้เสนอทางออก และเราก็เห็นด้วยว่าเหตุใดไม่ฉีดวัคซีนเชื้อตายในเด็กแทน เพราะวัคซีนเชื้อตายมีความปลอดภัยกว่า และหากต้องการให้มีความปลอดภัยสูงที่สุด คือ การฉีดเข้าชั้นผิวหนังตั้งแต่ต้น ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนยี่ห้อไหนก็ตาม หากจะฉีดวัคซีนเชื้อตาย เช่น ซิโนฟาร์ม ก็อาจจะเป็นการฉีดเข้าชั้นผิวหนังตั้งแต่เข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 แต่วัคซีนซิโนฟาร์มนั้น ไม่เก่งที่จะครอบคลุมโควิด-19 สายพันธุ์อัลฟ่า และเดลต้าได้ดี ดังนั้น อาจมีการกระตุ้นเข็มที่ 3 ด้วย วัคซีนไฟเซอร์ หรือ โมเดอร์นา ซึ่งกระบวนการนี้เด็กจะได้รับความปลอดภัยสูงสุด” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

 

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า กระบวนการของวัคซีนทุกชนิด อาจจะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบต่อเนื่องระยะยาวได้ ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนทางเลือก mRNA หรือวัคซีนไวรัลเวคเตอร์ อย่างแอสตร้าเซนเนก้า เองก็ตาม เนื่องจากที่ผ่านมา พบผู้ที่มีอาการแทรกซ้อนจากการฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ ซิโนฟาร์ม ไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา เมื่อได้รับการฉีดไปแล้ว บางคนเกิดปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์ โรคประจำตัวที่มีอยู่แล้วที่เคยควบคุมได้ เช่น กระดูกอักเสบ ข้ออักเสบ โรคพุ่มพวง โรคสมองอักเสบ ที่เคยควบคุมได้ตอนนี้กลับมามีอาการทั้งหมด หลังจากที่ได้รับวัคซีน

 

“นอกจากนี้ ยังมีอาการใหม่ๆ เกิดขึ้น โดยที่ผู้ที่ได้รับวัคซีนนั้นไม่เคยมีมาก่อน เช่น สมองอักเสบ ซึ่งเป็นอาการเรื้อรัง โดยเรามีตัวอย่างที่เรารักษาอยู่เยอะพอสมควร โดยพบหลังการฉีดวัคซีนทุกชนิด แต่ในกรณีของวัคซีนทางเลือกนั้น เนื่องจากว่า กระบวนการเป็นแบบ mRNA เมื่อเกิดปัญหา หรือมีอาการขึ้นแล้ว ไม่รู้ว่าจะเนิ่นนานมากกว่าวัคซีนชนิดอื่นๆ หรือไม่ ซึ่งจะต้องคอยติดตามอาการต่อไป ผมไม่ให้ความมั่นใจเลย สำหรับวัคซีนทางเลือกดังกล่าว เพราะเรามีทางออกที่ทำให้มั่นใจว่า เด็กจะได้รับความปลอดภัยสูงสุดก็คือ การฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตายเข้าชั้นผิวหนังก่อน และตามด้วยวัคซีนทางเลือกเป็นเข็มที่ 3 ให้แก่เด็ก ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็ออกแถลงการณ์เองว่าเป็นความยินยอมของผู้ปกครองเอง ซึ่งผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นเป็นเรื่องของผู้ปกครองที่จะตัดสินใจ” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวย้ำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง