รีเซต

งานวิจัยใหม่ชี้ไวรัสโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดตั้งแต่เดือนก.ย.

งานวิจัยใหม่ชี้ไวรัสโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดตั้งแต่เดือนก.ย.
TNN ช่อง16
17 เมษายน 2563 ( 19:14 )
165
วันนี้ (17เม.ย.63) ทีมนักวิจัยจากอังกฤษที่นำโดยมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ คาดว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดทั่วโลกตอนนี้ อาจเริ่มต้นระบาดเร็วสุด ตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนปีที่แล้ว
 
นายปีเตอร์ ฟอรส์เตอร์ นักพันธุศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ระบุว่า จากการศึกษาพบว่า เชื้อไวรัสดังกล่าวอยู่ในตัวค้างคาว หรือสัตว์อื่นๆ และหรือแม้กระทั่งในมนุษย์มาหลายเดือนแล้ว โดยไม่มีการติดเชื้อสู่กัน แต่ท้ายสุด ไวรัสดังกล่าวได้กลายพันธุ์อย่างดีเข้ากับร่างกายมนุษย์เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และคาดว่าเริ่มมีการติดเชื้อและแพร่กระจายในหมู่มนุษย์ตั้งแต่ระหว่างวันที่ 13 กันยายนไปจนถึง 7 ธันวาคม 
 
ทั้งนี้ ทีมนักวิจัยได้วิเคราะห์สายพันธุ์ต่างๆของไวรัส ด้วยการใช้ phylogenetic network หรือความเชื่อมโยงของสายวิวัฒนาการ

นักวิจัยได้พยายามหาผู้ติดเชื้อหมายเลข 0 โดยจากสัญญาณแรกๆ พวกเขาเจาะเข้าไปหาคนไข้ในทางตอนใต้ของเมืองอู่ฮั่น ที่มีการรายงานผู้ติดเชื้อรายแรกในเดือนธันวาคม และได้สร้างแผนที่เครือข่ายของการแพร่เชื้อครั้งแรกในมนุษย์

ก่อนหน้านี้ ทีมวิจัยชุดนี้ ยังได้ค้นพบว่า เชื้อไวรัสที่เก็บตัวอย่างมาจากสหรัฐฯและออสเตรเลีย นั้นมีความใกล้เคียงในทางพันธุกรรมกับไวรัสจากค้างคาว มากกว่าสายพันธุ์ที่เจอในคนไข้จากเอเชียตะวันออก ในขณะที่คนไข้ในยุโรปนั้น มีเชื้อไวรัสที่พัฒนามาจากสายพันธุ์ของเอเชียตะวันออก

อย่างไรก็ตาม ในครั้งนั้น ทีมวิจัยได้เก็บตัวอย่างเพียง 160 ตัวอย่าง ถือเป็นการกลุ่มตัวอย่างที่เล็กเกินกว่าที่พวกเขาจะสามารถตามหาต้นตอของไวรัสนี้เจอ
ในการศึกษารอบใหม่ จึงมีความร่วมมือกับนักวิจัยจากอีกหลากหลายสถาบัน เช่น สถาบันนิติวิทยาศาสตร์แห่งเมืองมุนสเตอร์ของเยอรมนี และมีการขยายฐานข้อมูลให้ครอบคลุมการถอดรหัสพันธุกรรมจีโนม 1001 ตัวอย่างที่ได้มาจากนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก
 
ยิ่งมีตัวอย่างเท่าไหร่ ยิ่งจะทำให้สามารถย้อนหาต้นตอของการระบาดได้แม่นยำขึ้น การมีการกลายพันธุ์ นักวิจัยก็จะยิ่งเข้าใกล้การหาผู้ติดเชื้อคนแรกของสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกับไวรัสค้างคาวมากที่สุด

สำหรับไวรัส Sars-CoV-2 ซึ่งทำให้เกิดการระบาดของโควิด-19 นั้น มีต้นกำเนิดมาจากค้างคาว และมีการค้นพบว่า สายพันธุ์ดังกล่าวมีความเหมือนทางพันธุกรรมกับเชื้อไวรัสโคโรนาที่นักวิทยาศาสตร์จีนได้มาจากสารคัดหลั่งของค้างคาวในมณฑลยูนนาน ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ตั้งแต่ปี 2013

อย่างไรก็ตาม ได้เกิดการกลายพันธุ์หลายร้อยครั้งระหว่างเชื้อ Sars-CoV-2 และเชื้อที่พบในมณฑลยูนนาน และโดยปกติแล้ว ไวรัสโคโรนาจะเกิดการกลายพันธุ์เดือนละครั้ง ทำให้นักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งเชื่อว่า ไวรัสชนิดนี้อาจแพร่ระบาดอย่างเงียบๆในหมู่สัตว์ที่เป็นพาหะและมนุษย์มานานหลายปีแล้ว จึงค่อยๆพัฒนานกระทั่งนำไปสู่ภาวะการติดเชื้อในมนุษย์ และการระบาดนั้นน่าจะเป็นผลมาจากการกลายพันธุ์ในช่วงท้ายๆที่ทำให้เปลี่ยนจากไวรัสที่ไม่มีอันตราย จนกลายเป็นไวรัสมรณะ

ทั้งนี้ ต้นกำเนิดของไวรัสโควิด-19 เป็นประเด็นทางการเมืองเพราะสหรัฐฯมักกล่าวหาว่าไวรัสนั้นหลุดมาจากห้องแล็บในเมืองอู่ฮั่น ในขณะที่ทางจีนได้ตอบโต้ว่า ไวรัสดังกล่าวนั้นมาจากทหารอเมริกัน

อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลกปัดความเป็นไปได้ของทฤษฎีไวรัสหลุดมาจากห้องแล็บ โดยมองว่า หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมดชี้ไปที่ต้นกำเนิดของไวรัสอยู่แล้ว งานวิจัยชิ้นล่าสุดของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ยิ่งเข้ามาเสริมความความเห็นนี้ และนายฟอรส์เตอร์ระบุว่า เขาคิดว่าต้นกำเนิดของไวรัสน่าจะมาจากตอนใต้ของจีน มากกว่าเมืองอู่ฮั่นที่อยู่ตอนกลาง

หากต้องการพิสูจน์ข้อสันนิษฐานนี้ สิ่งที่จะพิสูจน์ได้คือ การวิเคราะห์ค้างคาวมากกว่านี้ รวมถึงสัตว์พาหะตัวอื่นๆ รวมถึงตัวอย่างเนื้อเยื่อที่มีเก็บไว้ตามโรงพยาบาลของจีนระหว่างเดือนกันยายน-ธันวาคมปีที่แล้ว ซึ่งหากทำได้ ก็จะทำให้เข้าใจได้มากขึ้นว่าการแพร่เชื้อเกิดขึ้นได้อย่างไร และสามารถป้องกันเหตุดังกล่าวในอนาคตได้ด้วย

นอกจากนี้ การศึกษาของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ยังตั้งคำถามใหม่ๆขึ้นด้วย เพราะสายพันธุ์ที่ทางการจีน รายงานออกมา เป็นสายพันธุ์ที่ใหม่กว่าสายพันธุ์ต้นกำเนิดที่ทำให้เกิดการระบาด
 
นอกจากนี้ สายพันธุ์ที่พบในสหรัฐฯนั้นมีความใกล้เคียงทางพันธุกรรมกับค้างคาว มากกว่าสายพันธุ์ที่อู่ฮั่น ทำให้นายฟอรส์เตอร์มองว่า สายพันธุ์ดั้งเดิมนั้นเกิดขึ้นในจีน แต่กลายพันธุ์ปรับตัวได้ดีกับชาวอเมริกันและสิ่งแวดล้อมแบบอเมริกันมากกว่านั่นเอง
 
 
เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com 
facebook : TNNThailand
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNThailand
Youtube Official : TNNThailand

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง