รีเซต

เจาะลึก 10 เทคโนโลยีปี 2023 ที่มีความสำคัญ และกระทบชีวิตคนผ่านมุมมองของ MIT

เจาะลึก 10 เทคโนโลยีปี 2023 ที่มีความสำคัญ และกระทบชีวิตคนผ่านมุมมองของ MIT
แบไต๋
7 มีนาคม 2566 ( 14:32 )
97
เจาะลึก 10 เทคโนโลยีปี 2023 ที่มีความสำคัญ และกระทบชีวิตคนผ่านมุมมองของ MIT

ในทุก ๆ ปีทาง MIT หรือ Massachusetts Institute of Technology จะมีการคัดเลือก 10 หัวข้อเทคโนโลยีที่มีความสำคัญมากที่สุดในขณะนี้ที่คุณนั้นอาจจะรู้จักอยู่แล้ว แต่คนอื่นอาจจะยังไม่เคยรู้

โดย MIT ได้มองหาความก้าวหน้าที่จะส่งผล และมีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อชีวิตของคน แล้วนำมาแยกแยะวิเคราะห์ว่าเพราะเหตุใดนั้นจึงมีความสำคัญ

10 หัวข้อเทคโนโลยีที่ทาง MIT ได้คัดเลือกในปีนี้แล้วว่ามีความสำคัญ และจะส่งผลกระทบต่อชีวิตของคนมีดังต่อไปนี้

1. CRISPR for high cholesterol

อย่างแรกก็ต้องมาทำความรู้จักกับ CRISPR กันก่อน CRISPR คือ ระบบภูมิคุ้มกันของแบคทีเรียในการกำจัดสายดีเอ็นเอแปลกปลอมที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัส Clutered regularly interspaced short palindromic repeat (CRISPR) อ่านออกเสียงว่า “คริสเปอร์”

จากการค้นพบระบบ CRISPR ร่วมกับองค์ความรู้เรื่องการสังเคราะห์สายดีเอ็นเอ ส่งผลให้นักวิจัยสามารถดัดแปลงสายของดีเอ็นเอในเซลล์สิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเพิ่ม, ลด และเปลี่ยนลำดับของเบส โดยการประยุกต์ระบบ CRISPR ร่วมกับสายของดีเอ็นเอที่ถูกต้องนำเข้าภายในเซลล์ของผู้ป่วยโรคทางพันธุกรรม เช่นการทำลายสายของดีเอ็นเอเชื้อ HIV เพื่อป้องกันไม่ให้เซลล์ที่เกี่ยวข้องในระบบภูมิคุ้มกันนั้นติดเชื้อเพิ่มได้

ในตอนนี้เรื่องของการรักษาจริงเชิงคลินิกมีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องมีผลลัพธ์ที่น่าสนใจมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นการดัดแปลงสายของดีเอ็นเอให้มีลำดับที่ถูกต้องในระดับเซลล์ของผู้ป่วย หรือสัตว์ทดลอง ซึ่งหมายความว่าสามารถรักษาโรคทางพันธุกรรมให้หายขาดเป็นปกติร่วมกับการประยุกต์ร่วมกับเซลล์ต้นกำเนิด (Stem Cell) และยังมีแนวโน้มที่ว่าจะนำมาประยุกต์กับการรักษาโรคมะเร็ง, โรคเรื้อรัง และรวมถึงต้านการติดเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อไวรัสต่าง ๆ ได้

และเหตุนี้แหละว่าทำไม MIT ถึงยกให้เรื่อง CRISPR for high cholesterol เป็นเทคโนโลยีสุดล้ำ เพราะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีเครื่องมือแก้ไขยีน CRISPR ได้พัฒนาอย่างรวดเร็วจากห้องแล็บสู่คลินิกรักษาจริง โดยเริ่มต้นจากการรักษาเชิงการทดลองสำหรับความผิดปกติทางพันธุกรรมที่หาได้ยาก

ล่าสุดได้มีการทดลองรักษาผู้หญิงชาวนิวซีแลนด์ด้วยการตัดต่อยีนเพื่อลดคอเลสเตอรอลในร่างกายของเธออย่างถาวร โดยที่ผู้หญิงคนนี้เป็นโรคหัวใจ และมีความเสี่ยงต่อคอเลสเตอรอลสูง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังการรักษาทดลองคิดว่ามันสามารถช่วยทุกคนที่มีความผิดปกตินี้ได้

2. AI that makes images

ในปี 2022 ที่ผ่านมาก็ถือว่าเป็นปีทองของศิลปิน AI มีจากทั้งฝั่ง Google, OpenAI และบริษัทอื่น ๆ ที่สามารถสร้างงานศิลปะได้อย่างน่าทึ่งจากการพิมพ์คำอธิบายสั้น ๆ อะไรก็ได้ตามนึกคิด แล้วหลังจากส่งคำอธิบายออกไปก็จะได้ภาพตามสิ่งที่คุณได้ขอไปภายในไม่กี่วินาที

ทาง OpenAI ก็ได้มีการนำเสนอโลกแบบรูปแบบการผสมผสานเมื่อ DALL·E รุ่นแปลงข้อความเป็นรูปภาพได้เผยโฉมในปี 2021 โดยเมื่อพิมพ์คำอธิบายสั้น ๆ อะไรก็ได้โปรแกรมก็จะแสดงผลรูปภาพตามที่ต้องการ แต่ในปี 2022 ก็ได้มีการเปิดตัว DALL·E 2 ในเดือนมิถุนายน ที่ถือว่าเป็นก้าวกระโดดในวงการ AI ครั้งยิ่งใหญ่ อีกทั้งทาง Google ก็ไม่น้อยหน้ายังได้เปิดตัว AI สร้างภาพของตัวเองที่มีชื่อว่า Imagen

OpenAI DALL·E 2

แต่ในความเป็นจริงตัวเปลี่ยนเกมที่แท้จริงไม่ใช่ DALL·E และ Imagen แต่เป็น Stable Diffusion โมเดลแปลงข้อความเป็นรูปภาพแบบโอเพ่นซอร์สที่เปิดให้ใช้งานได้ฟรี โดย Stability สตาร์ทอัป AI สหราชอาณาจักร ในเดือนสิงหาคม Stable Diffusion ก็ไม่ได้ทำได้แค่เพียงสร้างภาพเท่านั้น แต่ยังได้รับการออกแบบให้ทำงานบนคอมพิวเตอร์ที่บ้านได้

ทั้งนี้เทคโนโลยีดังกล่าวกำลังถูกบริษัทยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ นำไปสร้างซอฟต์แวร์ในเชิงพานิชย์เช่น Photoshop และเทคโนโลยีนี้ก็ได้ก้าวข้ามสู่การแปลงข้อความเป็นวิดีโอ ซึ่งคลิปที่สร้างโดย AI ถูกสาธิตโดย Google, Meta และอื่น ๆ ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา อีกไม่นานเกินรอพวกเราคงได้เห็นการสร้างภาพยนตร์โดยป้อนสคริปต์ลงในคอมพิวเตอร์อย่างแน่นอน

3. A chip design that changes everything

บริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านชิปประมวลผล Intel และ Arm ได้มีการรักษาพิมพ์เขียวที่เป็นกรรมสิทธิ์ของตัวเองเป็นเวลานาน หากใครต้องการจะเริ่มต้นผลิตหน่วยประมวลผลเป็นของตัวเอง และมีประสิทธิภาพไม่เหมือนใครก็ส่งผลจะต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นอย่างมากสำหรับการออกแบบ

แต่การมาของ RISC-V ที่เป็นมาตรฐานเปิดที่ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึง และออกแบบชิปเป็นของตัวเองได้ฟรี

RISC-V ได้ระบุบรรทัดฐานสำหรับการออกแบบชุดคำสั่งของชิปประมวลผลคอมพิวเตอร์ ชุดคำสั่งดังกล่าวอธิบายการทำงานขั้นพื้นฐานที่ชิปสามารถทำงานได้เพื่อเปลี่ยนค่าของทรานซิสเตอร์ที่เป็นตัวแทนเช่น วิธีการบวกเลขสองตัววิธีการออกแบบที่ง่ายที่สุดของ RISC-V ใช้เพียงแค่ 47 คำสั่ง และทาง RISC-V ยังได้นำเสนอบรรทัดฐานสำหรับการออกแบบอื่น ๆ สำหรับบริษัทที่ต้องการชิปที่มีความซับซ้อนสูง

ในปัจจุบัน RISC-V มีสมาชิกอยู่ทั่วทุกมุมโลกมากถึง 3,100 ราย โดยรวมถึงบริษัท และสถาบันทางการศึกษาที่กำลังร่วมมือผ่านองค์กรที่ไม่ต้องการแสวงหากำไร RISC-V International เพื่อการกำหนด และพัฒนาบรรทัดฐานเหล่านี้ขึ้นมา โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ที่ผ่านมา Intel ได้สนับสนุนเงินกองทุนมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์

4. Mass-market military drones

ในครั้งหนึ่งโดรนสำหรับทางการทหารสำหรับประเทศขนาดเล็กไม่มีทางเข้าถึงได้ง่าย ๆ เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่สูง และมีการควบคุมการส่งออกที่เข้มงวดจากประเทศต้นทาง

ด้วยความก้าวหน้าในปัจจุบันนี้ที่มีส่วนประกอบจากผู้บริโภค และเทคโนโลยีการสื่อสารช่วยทำให้มีผู้ผลิตโดรนที่มีความซับซ้อนออกมาในราคาที่ถูกลงเป็นอย่างมาก ซึ่งเห็นได้จากโดรน Bayraktar TB2 ของประเทศตุรกี ซึ่งโดรนราคาถูกนี้ก็ได้เปลี่ยนแปลงธรรมชาติเดิมของสงครามโดรน

โดรน Bayraktar TB2 ของประเทศตุรกี

สิ่งที่โดดเด่นของโดรน TB2 คือมีค่าตัวอยู่ที่ 5 ล้านเหรียญ และสเปคของมันมีความเร็วสูงถึง 138 ไมล์ต่อชั่วโมง, ระยะสื่อสารอยู่ที่ 186 ไมล์ และอยู่บนอากาศได้มากถึง 27 ชั่วโมง โดยเมื่อรวมเข้ากับกล้องที่สามารถแชร์วิดีโอ กับสถานีภาคพื้นดินได้โดรน TB2 ก็จะกลายเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังสำหรับการกำหนดเป้าหมายด้วยเลเซอร์นำระเบิดที่ปีกของมัน

ทางประเทศยูเครนได้ซื้อโดรน TB2 จำนวน 6 ลำในปี 2019 เพื่อใช้ปฏิบัติการทางการทหารใน Donbas จึงทำให้โดรนเหล่านี้ได้รับความสนใจจากทั่วโลกในต้นปี 2022 เพื่อช่วยขัดขวางผู้รุกรานจากรัสเซีย

ข้อได้เปรียบทางยุทธวิธีนี้มีความชัดเจนอย่างมาก แต่สิ่งที่น่ากลัวจะตามมาคือ อาวุธเหล่านี้สามารถสร้างความเสียหายกับประชากรพลเรือนทั่วโลกได้อย่างแน่นอน

5. Abortion pills via telemedicine

การเข้าถึงการทำแท้งได้น้อยลงในสหรัฐอเมริกา แต่ช่วงปี 2021 ในระหว่างการเกิดโรคระบาดโควิด 19 สำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยาของสหรัฐอเมริกาได้อนุญาตให้ผู้บริการด้านสุขภาพส่งยา 2 เม็ดให้กับผู้ป่วยผ่านช่องทางไปรษณีย์เป็นการชั่วคราวได้แก่ ไมเฟพริสโตน และไมโซพรอสทอล หากนำยาทั้งสองมารวมกันก็สามารถทำให้เกิดยาทำแท้งได้

ในช่วงหลายปีก่อนองค์การอาหารและยาได้พบว่ายาเม็ดนั้นมีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพสูงในการยุติการตั้งครรภ์ ภายในปี 2020 ยาเม็ดดังกล่าวมีสัดส่วนมากกว่าครึ่งของการทำแท้งทั้งหมดในสหรัฐอเมริกา

เมื่อศาลสูงสหรัฐอเมริกาได้ตัดสินว่าการทำแท้งไม่ใช่สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ก็ส่งผลให้ความต้องการยาทำแท้งสูงมากขึ้น องค์กรการกุศล Aid Access และสตาร์ทอัป Choix Just the Phill และ Hey Jane ก็ได้ออกมาให้ความช่วยเหลือ ถึงแม้ว่าจะมีขั้นตอนที่แตกต่างกัน แต่โดยทั่วไปแล้วผู้ป่วยที่มีสิทธิ์สามารถทะเบียนด้วยบัตรประจำตัว และหลังจากนั้นก็รับการปรึกษากับผู้ให้บริการทางการแพทย์ผ่านวิดีโอคอล, ข้อความ หรือแอปพลิเคชัน ผู้ให้บริการจะกำหนดชนิดของยา และบริการส่งยาไปให้ผู้ป่วย

6. Organs on demand

ในปัจจุบันมีผู้คนจำนวนมากถึง 130,000 รายในแต่ละปีทั่วโลกที่ต้องการปลูกถ่ายอวัยวะเพื่อดำรงชีวิตต่อไป แต่ก็ยังมีคนจำนวนหนึ่งที่เสียชีวิตระหว่างการรอการปลูกถ่ายอวัยวะ หรืออาจเพราะว่าพวกเขานั้นไม่อยู่ในรายชื่อรอการปลูกถ่ายอวัยวะเลยด้วยซ้ำ

เดวิต แบนเน็ต (David Bennett) วัย 57 ปี มนุษย์คนแรกของโลกที่ได้รับการปลูกถ่ายหัวใจหมู

เมื่อเดือนมกราคมปี 2022 ที่ผ่านมาได้มีการปลูกถ่ายหัวใจหมูกับชายวัย 57 ปีชื่อ เดวิต เบนเน็ต (David Bennett) ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจระยะสุดท้าย แต่ตัวเขานั้นก็ได้เสียชีวิตหลังจากทำการปลูกถ่ายในวันที่ 8 มีนาคม 2022

ซึ่งดูแล้วอวัยวะของสัตว์อาจเป็นทางออกที่เป็นไปได้ แต่มันก็ไม่ได้ง่ายเลยที่จะเอาชนะกลไกธรรมชาติของร่างกายมนุษย์ได้เพราะ น้ำตาลที่อยู่บนผิวเนื้อเยื่อของหมูสามารถส่งระบบภูมิคุ้มกันเข้าสู่โหมดโจมตีแต่ยาในปัจจุบันก็สามารถปิดการตอบสนองได้แต่ก็ยังคงไม่เพียงพอ บริษัทเทคโนโลยีทางชีวภาพจึงใช้วิธีการดัดแปลงตัดต่อยีนพันธุกรรมของสุกรเพื่อจำกัดโมเลกุลน้ำตาลเหล่านี้ออกไป และเพิ่มยีนชนิดอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อทำให้ยีนของหมูดูเหมือนมนุษย์มากยิ่งขึ้น

ถึงแม้ว่าเบนเน็ตจะเสียชีวิต และพบไวรัสที่อยู่ภายในอวัยวะปลูกถ่ายแต่แพทย์ของเขาที่ได้ดูแลก็ได้อ้างว่าหัวใจหมูที่ได้รับมาไม่เคยแสดงอาการของการปฏิเสธอวัยวะ และในตอนนี้พวกเขาก็กำลังศึกษาวางแผนกับผู้ป่วยแบบเดียวกันจำนวนมาก

ในอนาคตวิศวกรรมอวัยวะอาจจะไม่เกี่ยวข้องกับอวัยวะของสัตว์ด้วยซ้ำ โดยนักวิจัยกำลังอยู่ในขั้นเริ่มต้นของการสร้างเนื้อเยื่อที่มีความซับซ้อนตั้งแต่เริ่มต้นจากศูนย์เช่น การพิมพ์ 3 มิติอวัยวะของปอด และเพาะออร์แกนอยด์ที่มีลักษณะคล้ายหยดจากสเต็มเซลล์เพื่อเลียนแบบอวัยวะเฉพาะ ซึ่งในระยะยาวนักวิจัยก็หวังว่าจะมีการปลูกอวัยวะแบบกำหนดเองได้ในโรงงาน

หากมีการปลูกถ่ายอวัยวะของสัตว์ หรือสร้างอวัยวะในโรงงานผลิตได้ จะทำให้มีอวัยวะแบบไม่จำกัดที่จะทำให้มีการปลูกถ่ายอวัยวะเป็นเรื่องที่ธรรมดาสุด ๆ และทำให้ผู้คนทั่วทุกมุมโลกเข้าถึงชิ้นส่วนอวัยวะทดแทนได้มากขึ้น

7. The inevitable EV

ปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้ากำลังปฏิวัติวงการอุตสหกรรมยานยนต์ ในขณะที่ยอดขายกำลังเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ เป็นเวลาหลายปี รถยนต์ และรถบรรทุกที่ปลอดมลพิษมีแนวโน้มที่คิดเป็น 13 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายรถยนต์ทั่วโลกในปี 2022 และเพิ่มขึ้น 4 เปอร์เซ็นต์เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาจากรายงานของ International Energy Agency โดยผู้ผลิตทั้งหลายกำลังสร้างยอดขายประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ในสิ้นทศวรรษนี้

รัฐบาลทั่วโลกกำลังออกนโยบายที่บังคับให้ผู้ผลิตรถยนต์ปรับเปลี่ยน และเพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคเปลี่ยนมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ รัฐแคลิฟอร์เนีย และนิวยอร์กกำหนดให้รถยนต์, รถบรรทุก และรถเอสยูวีใหม่ทั้งหมดจะต้องไม่ปล่อยมลพิษสู่อากาศเป็นศูนย์ภายในปี 2035 และเช่นเดียวกันสหภาพยุโรปที่กำลังจะได้ข้อสรุป กับกฏเกณฑ์ที่คล้ายคลึงกัน

ในทางกลับกันบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ทั่วทุกมุมโลกกำลังสร้างห่วงโซ่อุปทาน, สร้างกำลังผลิต และปล่อยรถยนต์รุ่นใหม่ออกมาด้วยประสิทธิภาพที่ดีในทุกกลุ่มราคา และประเภทของรถยนต์

ด้วยความท้าทายยิ่งใหญ่นี้ที่กำลังจะมาถึง ยานพาหนะส่วนใหญ่ต้องมีราคาที่ถูกลง, ชาร์จไฟที่สะดวกขึ้น และการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดจะต้องสูงขึ้นอย่างมากเพื่อรองรับรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นอย่างเรื่อย ๆ

8. James Webb Space Telescope

กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เว็บบ์ขององค์การบริหารการบิน และอวกาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา หรือนาซาที่มีมูลค่ามากถึง 10,000 ล้านดอลลาร์ได้เปิดตัวในเดือนธันวาคมปี 2021 ที่มีความร่วมมือระหว่างนาซา สหรัฐอเมริกา, องค์การอวกาศยุโรป หรือ อีเอสเอ และองค์การอวกาศแคนาดา เป็นกล้องโทรทรรศน์ที่ใหญ่ที่สุดที่มนุษยชาติเคยส่งไปในอวกาศ

กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เว็บบ์มีความทรงพลังกว่ากล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลมากถึง 100 เท่า โดยที่ถูกออกแบบมาเพื่อตรวจจับรังสีอินฟราเรดที่ทำให้สามารถตัดฝุ่น และมองย้อนกลับในช่วงเวลาที่ดาวฤกษ์ และกาแล็กซีของดวงแรกของเอกภพได้ก่อตัวขึ้น

ภาพแรกจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ที่มีชื่อว่า “Cosmic Cliff”

กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เว็บบ์ถูกออกแบบมาเพื่อการเดินทางข้ามเวลาทางดาราศาสตร์ โดยมีกระจกหลักของกล้องที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 21 ฟุต ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็น 3 เท่าของกล้องฮับเบิล ทำให้สามารถแยกรายละเอียดที่สูงกว่า และมีแผ่นบังแสงแดดขนาดใหญ่ที่เท่ากับสนามเทนนิสเพื่อป้องกันกระจก และอุปกรณ์จากความร้อน และแสงจากดวงอาทิตย์

James Webb Space Telescope

วิธีการที่จะทำให้สามารถส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เว็บบ์ขึ้นสู่อวกาศ วิศวกรจะต้องออกแบบให้ตัวกระจก และแผ่นบังแดดสามารถพับได้เพื่อให้ใส่ภายในแฟริ่งของจรวด โดยกางออกหลังจากเปิดตัวกล้องโทรทรรศน์เดินทางไปยังวงโคจรสุดท้ายที่ห่างจากโลก 1.5 ล้านกิโลเมตร

การค้นพบสิ่งใหม่ ๆ ในอวกาศจะเกิดขึ้นแทบทุกวัน และจะเป็นตลอดอายุขัยของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เว็บบ์ที่มีการประมาณว่าจะสามารถใช้งานได้ถึง 20 ปีเลยทีเดียว

9. Ancient DNA analysis

ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ได้แสวงหาเครื่องมือที่ดีกว่าเพื่อใช้ศึกษาฟัน และกระดูกของมนุษย์โบราณ โดยในอดีตพวกเขาจำเป็นที่จะต้องค้นหาซากโบราณจำนวนมากเพื่อเก็บตัวอย่างรักษาไว้อย่างดี แต่ในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องทำสิ่งนั้นอีกต่อไป

ในตอนนี้เทคโนโลยีปัจจุบันทำให้เกิดเทคนิคที่มีราคาถูก และวิธีการใหม่ ๆ ทำให้สาย DNA ที่เสียหายสามารถอ่านได้โดยใช้เครื่องหาซีเควนเซอร์เชิงพาณิชย์ที่ทำให้การวิเคราะห์ DNA โบราณเฟื่องฟูมากยิ่งขึ้น

ทุกวันนี้นักวิทยาศาสตร์สามารถวิเคราะห์ DNA ด้วยกล้องจุลทรรศน์ที่พบสิ่งสกปรกที่มนุษย์หินปัสสาวะไว้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้ฟัน หรือกระดูก ในเดือนพฤศจิกายนสาขาบรรพชีวินวิทยาเข้ามามีบทบาทที่สำคัญเมื่อ ดอกเตอร์ สเวนเต ปาเอโบ (Svante Pääbo) นักพันธุศาสตร์แห่งสถาบัน Max Planck สาขา มานุษยวิทยาวิวัฒนาการ ได้รับรางวัลโนเบลจากผลงานวิจัยของเขา

การวิเคราะห์ DNA โบราณนำไปสู่การค้นพบมนุษย์ยุคดึกดำบรรพ์ที่สูญพันธ์ไปแล้วได้แก่ Homo luzonensis และ Denisovans จึงทำให้รู้ว่ามนุษย์ในยุคปัจจุบันนี้มี DNA Denisovans และ Neanderthal ที่สูง และยังมีข้อมูลจีโนมของมนุษย์โบราณที่เพิ่มขึ้นจากเพียง 5 คนในปี 2010 เป็น 5,550 คนในปี 2020

จากการใช้ข้อมูลตัวอย่างเก่าทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถไขปริศนาของสุขภาพสมัยใหม่ได้ ในปี 2022 ได้ค้นพบว่าการกลายพันธุ์เพียงครั้งเดียวทำให้มนุษย์มีโอกาสรอดจากโรคกาฬโรคมากถึง 40 เปอร์เซ็นต์ และยังเป็นปัจจัยที่เสี่ยงสูงสำหรับปัญหาภูมิกันทำลายตัวเองเช่น โรคโครห์น

10. Battery recycling

ความต้องการแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนพุ่งสูงขึ้นจากความต้องการรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในปัจจุบัน โดยที่การใช้งานรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเป็นเรื่องที่ดีสำหรับสภาพอากาศในปัจจุบัน แต่ในทางกลับกันปริมาณโลหะที่ใช้สำหรับสร้างเซลล์แบตเตอรี่ก็น้อยตามลงไป จากการคาดการณ์ความต้องการแบตเตอรี่ลิเธียมอาจจจะเพิ่มสูงขึ้นมากถึง 20 เท่าภายในปี 2050

แต่ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันก็สามารถนำแบตเตอรี่รุ่นเก่านำกลับมารีไซเคิล และผลิตเป็นแบตเตอรี่รุ่นใหม่ได้ ซึ่งการรีไซเคิลอาจจะช่วยได้ แต่วิธีแปรรูปแบตเตอรี่นั้นมีปัญหาในการกู้คืนโลหะในแต่ละชนิดให้เพียงพอ โดยในแนวทางใหม่ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำให้ผู้รีไซเคิลสามารถละลายโลหะอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

โดยในขณะนี้โรงงานรีไซเคิลสามารถกู้คืนโคบอลต์ และนิเกิลทั้งหมดได้มากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของแบตเตอรี่ลิเธียมใช้งานแล้ว และจากเศษซากที่เหลือจากการผลิตแบตเตอรี่

CATL Battery Recycle

ในปัจจุบันจีนเป็นผู้นำของการรีไซเคิลแบตเตอรี่ โดยมีบริษัทลูกของผู้ผลิตแบตเตอรี่ CATL เป็นผู้ครอบครอง เมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ผ่านมาสหภาพยุโรปได้เสนอข้อบังคับให้บริษัท และผู้ผลิตแบตเตอรี่ในทวีปอเมริกาเหนือเช่น Redwood และ Li-Cycle ให้ปฏิบัติตามข้อบังคับอย่างรวดเร็ว โดยที่ได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐ และเอกชนหลักหลายพันล้านดอลลาร์

ความต้องการของแบตเตอรี่ในอนาคตคาดการณ์ว่าความต้องการอาจพุ่งสูงถึงเป็นทวีคูณ ดังนั้นการรีไซเคิลอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการ และการรีไซเคิลดังกล่าวก็ไม่ได้สมบูรณ์แบบ แต่ในอนาคตบริษัทรีไซเคิลแบตเตอรี่จะสร้างวัสดุที่ทั่วโลกต้องการเพื่อบรรลุเป้าหมายทางด้านสภาพอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน

และทาง MIT ก็มีอีกหนึ่งหัวข้อที่ได้จากการโหวตจากทางบ้านว่าเป็นเทคโนโลยีสุดก้าวล้ำ และมีความสำคัญ ซึ่งหัวข้อที่มีคะแนนสูงสุดนั้นก็คือ

11. Hydrogen planes

เครื่องบินถือว่าเป็นหนึ่งในรูปแบบการโดยสารที่ผู้คนให้การยอมรับว่ามันสามารถพาไปยังจุดหมายปลายทางได้อย่างรวดเร็ว, ปลอดภัย และทันสมัย แต่การโดยสารด้วยเครื่องบินในแต่ละครั้งก็ได้ก่อมลพิษทางอากาศเป็นอย่างมาก และในตอนนี้การบินทั่วโลกคิดเป็น 3 เปอร์เซ็นต์ ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด

ZeroAvia Dornier228 First Flight

แต่สิ่งที่เป็นหน้าใหม่ของประวัติศาสตร์การบินที่มีคาร์บอนต่ำเป็นประวัติการณ์ เมื่อบริษัทสตาร์ทอัป ZeroAvia ได้ทดสอบการบินเครื่องบินขนาด 19 ที่นั่งที่ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงไฮโดรเจนได้สำเร็จ

อันเดรียส เชฟเฟอร์ (Andreas Schafer) ผู้อำนวยการ Air Transportation Systems Lab ได้กล่าวที่ University College London ไว้ว่า “นี่เป็นก้าวแรกที่ยอดเยี่ยม แต่แน่นอนว่านี่เป็นเพียงก้าวแรกเท่านั้น”

ซึ่งเชฟเฟอร์ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า เครื่องบินพาณิชย์ระยะทางสั้นสามารถใช้งานพลังงานจากเชื้อเพลิงเซลล์ไฮโดรเจนได้ภายในทศวรรษนี้ แต่การนำไปใช้งานจริงกลับเป็นแค่ส่วนหนึ่งของเส้นทางการบินในอุตสาหกรรมการบินที่เล็กน้อยเท่านั้นในปัจจุบัน “มันแย่จริง ๆ ในแง่ของการใช้พลังงาน และการปล่อยมลพิษสู่อากาศ”

A321XLR GIANT QR CODE LIVERY

เชื้อเพลิงไฮโดรเจนเป็นหนึ่งในเส้นทางที่เป็นไปได้ที่บางบริษัทหวังว่าจะช่วยลดการปล่อยมลพิษจากอุตสาหกรรมการบินได้ แต่หากต้องการลดมลพิษเป็นจำนวนมากเทคโนโลยีดังกล่าวจะต้องได้รับการขยายให้ใหญ่มากยิ่งขึ้นเพื่อให้พลังงานกับเครื่องบินที่ค่อนข้างมีขนาดใหญ่ในปัจจุบัน

เทคโนโลยีนี้ที่สามารถนำมาใช้กับเครื่องบินขนาดใหญ่ และระยะทางที่ไกลขึ้นจะมีผลกระทบทางด้านสภาพอากาศ เพราะการปรับขนาดเซลล์เชื้อเพลิงให้มีขนาดใหญ่มากยิ่งขึ้นทำได้ยากมาก ๆ ส่วนหนึ่งมากจากเซลล์เชื้อเพลิงที่น้ำหนักมาก และพื้นที่สำหรับการจัดเก็บที่มีเพียงเล็กน้อยในตัวเครื่องบิน และเชื้อเพลิงไฮโดรเจนมีความหนาแน่นของพลังงานที่น้อยกว่าน้ำมันก๊าดจึงทำให้ใช้ปริมาณเชื้อเพลิงที่สูงกว่า ถึงแม้ว่าทำให้อยู่ในอุณหภูมิเย็นจัด เพื่อที่จะจัดเก็บในรูปแบบของเหลวแล้วก็ตาม

สรุป

ในท้ายที่สุดความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีจะมีการพัฒนาต่อไป และจะมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาอำนวยความสะดวก และเพิ่มพูนคุณภาพชีวิตที่ดีของมวลมนุษยชาติต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ที่มา 10 Breakthrough Technologies 2023, มหาวิทยาลัยมหิดล คณะเภสัชศาสตร์, BBC, University of Maryland School

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส

ข่าวที่เกี่ยวข้อง