รีเซต

โบรกคาดความเสียหายน้ำท่วมปี 67 มูลค่า 2.3 หมื่นลบ. กระทบ GDP 0.1%

โบรกคาดความเสียหายน้ำท่วมปี 67 มูลค่า 2.3 หมื่นลบ. กระทบ GDP 0.1%
ทันหุ้น
26 กันยายน 2567 ( 13:18 )
9
โบรกคาดความเสียหายน้ำท่วมปี 67 มูลค่า 2.3 หมื่นลบ. กระทบ GDP 0.1%

 

#น้ำท่วม #ทันหุ้น – บทวิเคราะห์ โดย บล.บัวหลวง

 

บล.บัวหลวงระบุว่ามูลค่าความเสียหายจากน้ำท่วมในปี 2567 อาจต่ำกว่าคาด

ตลาดค่อนข้างกังวลต่อความเสียหายจากน้ำท่วมในปี 2567 แต่บล.บัวหลวงประเมินเบื้องต้นว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจโดยตรงจากน้ำท่วมจะไม่เกิน 23,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 0.1% ของ GDP โดยภาคการเกษตรยังคงได้รับผลกระทบมากที่สุด

 

ปัจจุบันน้ำท่วมกระทบกว่า 160,000 ครัวเรือนใน 33 จังหวัดของไทย

ตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค. ถึง 23 ก.ย. 2567 ผลของหางพายุไต้ฝุ่นยางิส่งผลให้เกิดน้ำท่วม และดินโคลนถล่มในหลายจังหวัดภาคเหนือของประเทศไทย (โดยเฉพาะจังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน ตาก ลำปาง เชียงใหม่ ลำพูน และแม่ฮ่องสอน) นอกจากนี้ พายุดีเปรสชันยังส่งผลกระทบต่อหลายจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (เช่น หนองคาย นครพนม บึงกาฬ และอุดรธานี) โดย ณ วันที่ 23 ก.ย. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประเมินว่าน้ำท่วมในปีนี้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทางการเกษตรแล้ว 1.02 ล้านไร่ แบ่งเป็นนาข้าว 0.88 ล้านไร่ พืชไร่ 0.11 ล้านไร่ และพืชสวน 0.04 ล้านไร่ ขณะที่มีประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 160,739ครัวเรือน ซึ่งน้ำท่วมและดินถล่มในระลอกนี้สร้างความเสียหายต่อพื้นที่ทางการเกษตรและที่อยู่อาศัยค่อนข้างมาก ซึ่งอาจจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟู

 

ความเสียหายจากพายุไม่รุนแรงเท่าที่กังวล

หากพิจารณาถึงสภาวะลานีญา ปริมาณน้ำฝน รวมถึงระดับน้ำในเขื่อนของไทยในปี 2567 จะพบว่า ไทยมีสภาวะลานีญาใกล้เคียงกับปี 2560 มีปริมาณน้ำฝนใกล้เคียงกับปี 2564 ขณะที่มีระดับน้ำในเขื่อนใกล้เคียงกับระดับของปี 2565 ซึ่งในปี 2560, 2564 และ 2565ประเทศไทยประสบปัญหาน้ำท่วมอย่างหนักโดยมีพื้นที่ทางการเกษตรเสียหายเฉลี่ย 3.85 ล้านไร่ ขณะเดียวกันจากการศึกษาข้อมูลการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาแล้ว บล.บัวหลวงก็คาดว่า น่าจะไม่มีพายุลูกใหญ่เพิ่มเติมที่จะก่อให้เกิดฝนตกหนักและมีความเสี่ยงถึงน้ำท่วมฉับพลันในช่วงที่เหลือของปี 2567 นอกจากนี้ บล.บัวหลวงยังคาดว่าทางการน่าจะมีการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนได้ดี

 

น้ำท่วมในปี 2567อาจส่งผลให้ GDP ลดลง 0.1%

ความเสียหายจากน้ำท่วมต่อพื้นที่ทางการเกษตรและที่อยู่อาศัยน่าจะใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของน้ำท่วมในปี 2560, 2564 และ 2565 ซึ่งคาดว่าน่าจะสร้างความเสียหายต่อพื้นที่ทางการเกษตรประมาณ 3.75 ล้านไร่ และที่อยู่พังเสียหายราว 200,000 ครัวเรือน โดยมีมูลค่าความเสียหายรวมประมาณ 23,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.1% ของ GDP ทั้งนี้ คาดว่า รัฐบาลน่าจะจัดสรรงบประมาณจากงบกลางอย่างน้อย 5 พันล้านบาท สำหรับการช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำท่วมครั้งนี้ (ปัจจุบัน รัฐบาลได้จัดสรรแล้วประมาณ 3 พันล้านบาท)

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง