ชนิดของคำในภาษาไทย สวัสดีน้อง ๆ หนู ๆ ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ทุกคน นะคะ วันนี้พี่ Noonmednai จะพาน้อง ๆ ไปรู้จักกับชนิดของคำในภาษาไทยกันค่ะ จริง ๆ แล้วชนิดของคำในภาษาไทยมีทั้งหมด ๗ ชนิด ได้แก่ คำนาม คำสรรพนาม คำกริยา คำวิเศษณ์ คำบุพบท คำสันธาน (คำเชื่อม) และคำอุทาน ซึ่งในแต่ละชนิดนั้นจะมีชนิดของคำที่แยกย่อยลงไปอีกหลายชนิดค่ะ แต่ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ น้อง ๆ จะได้ทำความรู้จักกับคำ ๔ ชนิด ได้แก่ คำนาม คำสรรพนาม คำกริยา และคำวิเศษณ์นั่นเองค่ะคำนาม คำนาม คือ คำที่เราใช้เรียกสิ่งต่าง ๆ ทั้งที่มีชีวิต และไม่มีชีวิต ทั้งคน สัตว์ สิ่งของ สถานที่ ล้วนมีชื่อเรียกทั้งสิ้น ซึ่งเราเรียกคำที่เป็นชื่อเหล่านั้นว่า "คำนาม" โดยคำนามนั้นจะมีทั้งหมด ๕ ชนิดย่อย แต่ในระดับชั้น ป.๔ ให้น้อง ๆ เรียนรู้เฉพาะ ๒ ชนิดย่อย ได้แก่ ๑. คำนามทั่วไป (คำนามสามัญหรือสามานยนาม) เป็นคำนามที่ใช้เรียกสิ่งต่าง ๆ ทั่วไป เช่น พ่อ ม้า ดิน ขลุ่ย กระเป๋า จังหวัด ประเทศ อวกาศ ท้องฟ้า โทรศัพท์ เครื่องบิน ดวงดาว ฯลฯ ๒. คำนามชี้เฉพาะ (คำนามวิสามัญหรือวิสามานยนาม) เป็นคำนามที่ตั้งขึ้นเป็นชื่อเฉพาะของคำนามทั่วไป เช่น คุณครูอุรัสยา พี่เมลดา ทะเลอันดามัน จังหวัดชุมพร โรงพยาบาลธนบุรี โทรศัพท์ซัมซุง ดาวเนปจูน กาแล็กซี่ทางช้างเผือก ดาวเทียมไทยคม งูเขียวหางไหม้ ฯลฯน้อง ๆ ลองสังเกตคำที่พิมพ์ตัวหนาในประโยคต่อไปนี้นะคะ ๑. คำนามทั่วไป : คนขายของ / คำนามชี้เฉพาะ : ลุงอิ่มขายปาท่องโก๋ ๒. คำนามทั่วไป : ชาวสวนปลูกผัก / คำนามชี้เฉพาะ : อาโชคชัยปลูกผักกาด ๓. คำนามทั่วไป : เด็กอ่านหนังสือ / คำนามชี้เฉพาะ : เต้อ่านหนังสือนิทานอีสป น้อง ๆ จะเห็นได้ว่าคำนามทั่วไปนั้นเป็นการเรียกชื่ออย่างกว้าง ๆ ซึ่งใช้เรียกสิ่ง ต่าง ๆ ทั่วไป ซึ่งแตกต่างจากคำนามชี้เฉพาะที่เรียกชื่ออย่างเฉพาะเจาะจงนั่นเองค่ะคำสรรพนาม คำสรรพนาม คือ คำที่เราใช้เรียกแทนชื่อผู้พูด ผู้ที่เราพูดด้วย ผู้ที่เรากล่าวถึง หรือสิ่งต่าง ๆ ที่เรากล่าวถึง คำสรรพนามแบ่งย่อยออกเป็น ๖ ชนิด ไก้แก่ บุรุษสรรพนาม ประพันธสรรพนาม วิภาคสรรพนาม ปฤจฉาสรรพนาม นิยมสรรพนาม และอนิยมสรรพนาม แต่ในระดับชั้น ป.๔ น้อง ๆ จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับ "บุรุษสรรพนาม" ซึ่งมีทั้งหมด ๓ ชนิด ได้แก่ ๑. สรรพนามบุรุษที่ ๑ ใช้เรียกแทนชื่อผู้พูด เช่น ผม กระผม ฉัน ดิฉัน ข้าพเจ้า อาตมา เฮา ข้าเจ้า ๒. สรรพนามบุรุษที่ ๒ ใช้เรียกแทนชื่อผู้ที่เราพูดด้วย เช่น คุณ เธอ เอ็ง ท่าน ใต้เท้า โยม แก ๓. สรรพนามบุรุษที่ ๓ ใช้เรียกแทนชื่อผู้ที่เรากล่าวถึง เช่น เขา ท่าน มัน พระองค์ท่าน พวกเขา พวกมัน แก สำหรับบุรษสรรพนามเป็นชนิดของคำที่ง่าย เนื่องจากเราใช้กันเป็นประจำในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยกับคนในครอบครัว กับเพื่อนสนิท เพื่อนร่วมงาน เจ้านาย พระสงฆ์ และในแต่ละท้องถิ่นก็จะมีภาษาของตนเองใช้ซึ่งจะแตกต่างกันไป แต่อย่างไรก็ตามน้อง ๆ ก็ควรใช้ให้ถูกต้อง และถูกกาลเทศะนะคะ บทความหน้ามาเรียนรู้ชนิดของคำกันต่อในเรื่องคำกริยา และคำวิเศษณ์ สำหรับน้อง ๆ ป.๔ และอย่าลืมอ่านหนังสือทบทวนด้วยนะคะ สวัสดีค่ะ ขอบคุณภาพ ภาพหน้าปก ออกแบบโดยผู้เขียน ขอบคุณภาพของ maciej326 จาก pixabay ภาพประกอบที่ ๑ ออกแบบโดยผู้เขียน ขอบคุณภาพของ Kidaha จาก pixabay ภาพประกอบที่ ๒ ออกแบบโดยผู้เขียน ขอบคุณภาพของ Kidaha จาก pixabay ภาพประกอบที่ ๓ ออกแบบโดยผู้เขียน ขอบคุณภาพของ Kidaha จาก pixabay ภาพประกอบที่ ๔ ออกแบบโดยผู้เขียน ขอบคุณภาพของ Kidaha จาก pixabay ภาพประกอบที่ ๕ ออกแบบโดยผู้เขียน ขอบคุณภาพของ Kidaha จาก pixabayเปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !