รีเซต

นายกสมาคมอุรเวชช์ฯ ค้านตั้ง "ไอซียูสนาม" แนะทางรอดเดียวในภาวะแพทย์งานล้น

นายกสมาคมอุรเวชช์ฯ ค้านตั้ง "ไอซียูสนาม" แนะทางรอดเดียวในภาวะแพทย์งานล้น
TNN ช่อง16
4 พฤษภาคม 2564 ( 14:43 )
40
นายกสมาคมอุรเวชช์ฯ ค้านตั้ง "ไอซียูสนาม" แนะทางรอดเดียวในภาวะแพทย์งานล้น

วันนี้ (4 พ.ค.64) รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า "6 เมษายน ผมเสนอแผนเตรียมตั้งไอซียูสนามโควิดใน กทม.ต่อที่ประชุม ซึ่งมี ออาจารย์ปิยะสกล เป็นประธาน คงเป็นเพราะออกตัวก่อนว่า ภาพประกอบได้จากลูกสาวคนโตที่กำลังจะเข้าเรียนสถาปัตร่างแบบให้ จึงได้รับการอนุมัติจากที่ประชุม และเสนอแผนงานให้รัฐบาลพิจารณา 

แต่ให้ใช้เป็นแผนสำรองต่อจากการขยายไอซียูโควิดในโรงพยาบาลหลักก่อน เพราะมีความยุ่งยากซับซ้อนเชิงวิศวกรรมและความปลอดภัย เช่น ระบบสำรองก๊าซทางการแพทย์ ระบบหมุนเวียนและถ่ายเทอากาศ ระบบกำจัดของเสียและของติดเชื้อ 

นอกจากนั้นแล้วปัญหาใหญ่คือ จะเอาใครมาทำงาน เพราะต้องการแพทย์และพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญสูงในการรับมือกับผู้ป่วยโควิดวิกฤต 

ผมในนามสมาคมอุรเวชช์ฯ ได้เตรียมในด้านบุคลากรนี้ไว้ระดับหนึ่งร่วมกับแพทยสภาและสภาการพยาบาล โชคดีว่าโควิดระลอกหนึ่งสงบเสียก่อน แผนนี้จึงไม่ถูกงัดมาใช้

ช่วง 2-3 สัปดาห์นี้ผมถูกถามในหลายวงและจากหลายคน ว่า จะรื้อฟื้นแผนงานนี้ขึ้นมาใหม่ไหม ผมตอบดังๆ และชัดเจนในทุกเวทีว่า “ไม่” และ “ไม่มีทาง”

สถานการณ์โควิดตอนนี้บานปลายไปมาก บุคลากรมีภาระตึงมือกันไปทั่ว ทางรอดเดียวของเราคือใช้ศักยภาพไอซียูโควิด (ระดับ 3) ที่มีอยู่ในปัจจุบันให้คุ้ม 

คู่ไปกับการขยายศักยภาพ โควิดวอร์ด (ระดับ 2) ให้รองรับผู้ป่วยปอดอักเสบโควิดที่เริ่มรุนแรง (step up) หรือเริ่มรุนแรงลดลง (step down) เพื่อให้การใช้เตียงไอซียูโควิดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และอาวุธสำคัญหนึ่งคือเครื่องไฮโฟลว์ที่ผมรณรงค์เสนอให้ทุกฝ่ายเร่งจัดหา

ผมไม่สบายใจที่ยังมีผู้ไม่เข้าใจและพยายามผลักดันเรื่องนี้กันอยู่อีก นอกจากไม่ยืนอยู่บนความเป็นจริงเหมือนบุคลากรด่านหน้าอย่างพวกเราที่รับทราบกันอยู่เต็มอก แต่มันยังสร้างแรงกดดันและความหนักใจต่อบุคลากรใต้บังคับบัญชาของฝ่ายบริหาร/นโยบายที่ดึงดันเรื่องนี้

มีคนบอกผมว่าการที่ผมออกไปตระเวนเยี่ยมศิษย์ทั่วไทยช่วงโควิดตั้งแต่ระลอกแรกนั้น นอกจากให้ความรู้และให้กำลังใจแล้ว ยังช่วยเป็นแรงใจให้คนหน้างานเขาส่งเสียงสะท้อนสู่ข้างบนได้อย่างกล้าหาญขึ้น ผมบอกว่าผมเป็นแค่คนนอกที่ปรารถนาดีต่อทุกฝ่าย แม้สิ่งที่ผมทำอาจไม่ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก แต่ผมจะไม่ยอมหยุดพูดความจริงในทุกๆที่ เพื่อให้พวกเขาได้ทำหน้าที่ทางการแพทย์โดยไม่ต้องมีความกังวลใดๆ อยู่เบื้องหลัง"




ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง