รีเซต

Editor’s Pick: เราจะไม่ทิ้งแรงงานในต่างแดนไว้ข้างหลัง

Editor’s Pick: เราจะไม่ทิ้งแรงงานในต่างแดนไว้ข้างหลัง
TNN World
31 พฤษภาคม 2564 ( 10:33 )
77
Editor’s Pick: เราจะไม่ทิ้งแรงงานในต่างแดนไว้ข้างหลัง

Editor’s Pick: ‘เราจะไม่ทิ้งแรงงานในต่างแดนไว้ข้างหลัง’ เกิดอะไรขึ้นกับคำสัญญา เมื่อแรงงานชาวฟิลิปปินส์ในต่างประเทศถูกทอดทิ้งโดยรัฐบาลของพวกเขาเอง

 

 

ฮีโร่ที่ถูกทอดทิ้ง 

 


แรงงานชาวฟิลิปปินส์ในต่างประเทศ หรือ OFWs ถูกยกย่องมานานว่าเปรียบเสมือนฮีโร่ของประเทศฟิลิปปินส์ เพราะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ดีขึ้นด้วยการส่งเงินกลับมายังประเทศของตนเอง 

 


พวกเขากำลังถูกทอดทิ้งจากรัฐบาล และถูกปล่อยให้ติดค้างอยู่ต่างแดน จากผลกระทบของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 แม้ว่าโรดรีโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เคยให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่ทอดทิ้งแรงงานในต่างประเทศ แต่ดูเหมือนว่า OFWs กำลังตกที่นั่งลำบากในตอนนี้ 

 


“วันที่ 7 เมษายน ฉันซื้อตั๋วเครื่องบินชั้นประหยัดกับสายการบิน Ethiopian Airlines ซึ่งเป็นเที่ยวเดียวของวันที่ 30 เมษายน เพราะว่าถูกจำกัดการเดินทาง จากจำนวน 2,500 ที่นั่งต่อวัน ที่รัฐบาลฟิลิปปินส์กำหนด” เอลิน่า กล่าว   

 


เป็นเวลาเกือบ 2 เดือนที่ เอลิน่า ต้องติดอยู่ในเมืองลากอสของไนจีเรีย หลังจากที่สัญญาการจ้างงานของเธอสิ้นสุดลง เธอเป็นชาวฟิลิปปินส์ที่ทำงานในประเทศไนจีเรีย และหวังว่าจะได้ขึ้นเครื่องบินกลับบ้าน 

 


ก่อนถึงวันเดินทาง 2 วัน เอลิน่าบอกว่า "พวกเราแต่ละคนต้องจ่ายเงินจำนวน 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 3,127 บาท สำหรับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 แต่เมื่อพวกเราลองตรวจสอบเที่ยวเดินทางในวันถัดไป พวกเราได้รู้ว่าเที่ยวบินของเราถูกยกเลิก”

 


รัฐบาลฟิลิปปินส์กำหนดข้อจำกัดการเดินทางในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 บริเวณรอบกรุงมะนิลา หากต้องการเปลี่ยนแปลงวันเดินทาง แรงงานเหล่านั้นต้องจ่ายให้สายการบิน Ethiopian Airlines เป็นจำนวน 1,100 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 34,397 บาท สำหรับค่าธรรมเนียมในการจองตั๋วใหม่ 

 

 


 ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อแรงงานในต่างประเทศ 

 


องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน หรือ IOM สัมภาษณ์แรงงานฟิลิปปินส์ที่กลับประเทศ 8,332 คน และเผยผลสำรวจเมื่อวันพฤหัสบดี (27 พฤษภาคม) ในหัวข้อ “การประเมินผลกระทบโควิด-19 ต่อแรงงานชาวฟิลิปปินส์ในต่างประเทศ” 

 


ผลสำรวจ ระบุว่า เกือบ 60% ของแรงงานกลับมาจาก 5 พื้นที่ ได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ UAE กาตาร์ คูเวต และฮ่องกง ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 30 กลาง ๆ (51% เป็นผู้ชาย) มีการศึกษาอย่างน้อย 10 ปี และทำงานมาเป็นเวลา 5-8 ปี รายได้สมาชิกครัวเรือนต่อเดือนเฉลี่ย 2-5 หมื่นเปโซ หรือ 12,508-31,270 บาท

 


ผู้หญิงส่วนใหญ่กลับมาจาก 2 พื้นที่ ได้แก่ ฮ่องกงและคูเวต มีจำนวนมากกว่าผู้ชาย 82% และ 75% ตามลำดับ 

 

59% ของ OFWs กลับมาในช่วงการระบาด พกเขาไม่ได้ต่ออายุสัญญาการจ้างงาน หรือ พวกเขาหางานอื่นไม่ได้ หรือนายจ้างใช้เป็นเหตุผลในการไล่พวกเขาออก 

 


48% ต้องการกลับไปเป็นแรงงานในต่างประเทศอีกครั้ง 

 


38% มาจากกรุงมะนิลา และจังหวัดรอบ ๆ ที่ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักสุดจากการแพร่ระบาด 

 


15% มาจากทางใต้ของเกาะมินดาเนา 

 

59% ไม่ได้เงินค่าชดเชย

 


83% ว่างงานมากกว่า 3 เดือนหลังจากกลับมา 

 

 


"โปรดช่วยเราด้วย" 

 


เอลิน่า กล่าวว่า เธอได้ร้องขอความช่วยเหลือไปยังฝ่ายนิติบัญญัติผ่านทางโซเชียลมีเดียหลายครั้ง รวมถึงเลขาธิการต่างประเทศ ธีโอโดโร ลอกซิน จูเนียร์ และเจ้าหน้าที่ทำเนียบประธานาธิบดี แต่ไม่มีใครตอบกลับเธอ
“ฟิลิปปินส์ก็เป็นประเทศของเราเช่นกัน” เธอเขียนข้อความหนึ่งใน Twitter 

 


“โปรดบอกเราด้วยว่าแผนของคุณคืออะไร แรงงานฟิลิปปินส์ในต่างประเทศจะถูกห้ามไม่ให้กลับบ้านเกิดหรือไม่? เราไม่มีงานแล้ว…โปรดช่วยเราด้วย ขอบคุณ”

 


แม้รัฐบาลจะใช้เงินไปมากกว่า 5 พันล้านเปโซ หรือประมาณ 3.2 พันล้านบาท กับการนำแรงงานกลับประเทศ 519,656 คน นับรวมแรงงานคนอื่น ๆ ที่กลับด้วยตัวเอง หรือที่ถูกส่งกลับโดยนายจ้าง 

 


เลขาธิการกรมแรงงาน กล่าวว่า ประธานาธิบดีโรดีโก ดูแตร์เต ระบุว่า วันที่ 19 เมษายน มีชาวฟิลิปปินส์อย่างน้อย 5 หมื่นคนที่ยังติดอยู่ในต่างประเทศ ขณะที่ผู้บริหารสำนักงานบริหารสวัสดิการแรงงานในต่างประเทศ หรือ OWWA กล่าวว่า รัฐบาลจำเป็นต้องใช้เงิน 9.8 พันล้านเปโซ หรือราว 204 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อแก้ปัญหานี้ 
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจัดสรรงบประมาเพียง 4.5 พันล้านเปโซ หรือประมาณ 2.92 พันล้านบาทเท่านั้น เพื่อช่วยเหลือแรงงานในต่างประเทศ 

 

 


ความช่วยเหลือที่ไม่เพียงพอ 

 


ฟลออิลาน มาลิท รองศาสตราจารย์จากสถาบันวิจัยสังคมและเศรษฐกิจของมหาวิทยาลัย Zayed กล่าวว่า รัฐบาลให้การสนับสนุนแรงงานฟิลิปปินส์ในต่างประเทศมากกว่าประเทศอื่น ๆ แต่การตอบสนองยังไม่เพียงพอ และแสดงให้เห็นถึงขีดจำกัดของสถาบัน

 


ปัจจัยหนึ่ง คือ การกระจายความช่วยเหลือในลักษณะเงินสดของรัฐบาลไปยังแรงงานฟิลิปปินส์ในต่างประเทศผ่านโปรแกรม Akap หรือ Embrace นั้นไม่สม่ำเสมอ

 


แรงงานที่ทุกข์ใจแต่ละคนควรจะได้รับเงิน 200 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 6,258 บาท แต่สิ่งนี้ทำให้เกิดการร้องเรียนจำนวนมากบนโซเชียลมีเดีย เนื่องจากจำกัดโควตา 'ผู้รับเงิน' ต่อประเทศ ดังนั้น ไม่ใช่ทุกคนได้รับเงินช่วยเหลือ

 


นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แรงงานชาวฟิลิปปินส์ในต่างประเทศ 791,623 คน เดินทางกลับหรือถูกส่งตัวกลับเมื่อปีที่แล้ว ถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง