รีเซต

กรมอุตุฯ จับมือ กรมอนามัย วิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้านสาธารณสุข

กรมอุตุฯ จับมือ กรมอนามัย วิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้านสาธารณสุข
TNN ช่อง16
17 พฤษภาคม 2565 ( 17:09 )
71
กรมอุตุฯ จับมือ กรมอนามัย วิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้านสาธารณสุข




วันที่ 17 พฤษภาคม 2565 นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมด้วย ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยความร่วมมือ “การบูรณาการการดำเนินงาน การพัฒนาวิชาการและวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้านสาธารณสุข” ระหว่างกรมอุตุนิยมวิทยา และกรมอนามัย 


โดยมีผู้ลงนาม ได้แก่ ดร.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย พร้อมทั้งมีผู้แทนองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย และผู้แทนองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมันประจำประเทศไทย ร่วมเป็นพยาน


นายชัยวุฒิ  ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดีอีเอส กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการทำ MoU ครั้งนี้คือปัญหาเรื่อง Climate Change หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ รวมทั้งประเทศไทยด้วย ในส่วนของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ก็จะมีกรมอุตุนิยมวิทยาเป็นหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องหลักในเรื่องของสภาพอากาศ โดยข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยานั้นมีหลากหลาย สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลายแขนง เช่นในวันนี้ จะเห็นได้ว่าข้อมูลอุตุนิยมวิทยานั้นมีบทบาทสำคัญในการประเมินความเปราะบาง การสร้างความรับรู้ และการแจ้งเตือนภัยด้านสาธารณสุขให้แก่ประชาชนได้ 


ซึ่งนอกจากด้านสาธารณสุขแล้ว การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกยังส่งผลต่อภาคการเกษตร การจัดการน้ำ ภาคอุตสาหกรรม การคมนาคม ฯลฯ ซึ่งก็จะมีการดำเนินการประสานงานร่วมกันต่อไป ในลักษณะของการดำเนินงานเชิงรุก เพื่อเร่งสร้างความร่วมมือ โครงการ งานวิจัยต่าง ๆ ร่วมกันทาง                                       


ด้าน ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชน เป็นประเด็นที่         ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ให้ความสำคัญ ซึ่งการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนนั้น ภาคสาธารณสุขเพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถดำเนินการได้ จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน 


โดยขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบาย และแผนปฏิบัติการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านสาธารณสุข ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2564–2573) เพื่อเป็นกรอบการดำเนินงานของภาคสาธารณสุขร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น การลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือฯ ในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการบูรณาการความร่วมมือระหว่างกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนข้อมูลด้านอุตุนิยมวิทยาและสภาพอากาศ ที่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการดำเนินงานด้านส่งเสริมสุขภาพ และการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม เช่น การพยากรณ์อากาศ และสื่อสารเตือนภัยสุขภาพที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย รวมถึง การพัฒนาวิชาการ และวิจัยด้านสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


ขณะที่ ดร.ชมภารี  ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า การ MoU ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์                 เพื่อบูรณาการการดำเนินงานพัฒนาด้านวิชาการและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านสาธารณสุข เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างกรมอนามัย และกรมอุตุนิยมวิทยา อย่างต่อเนื่อง และเพื่อเพิ่มความร่วมมือการสนับสนุนภารกิจระหว่างหน่วยงานนำไปสู่การพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพ โดยประเด็นในการ MoU ครั้งนี้ ที่ทั้ง 2 หน่วยงาน จะทำร่วมกัน คือ ประเด็นที่ 1 การบูรณาการการดำเนินงานร่วมกัน 


ทั้งการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศ จัดทำคลังข้อมูลที่ทันสมัย เชื่อมโยงข้อมูลระหว่าง 2 หน่วยงานด้วยกัน การพัฒนาระบบเฝ้าระวัง คาดการณ์เตือนภัยสุขภาพและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต และร่วมกันส่งเสริมความรอบรู้ พัฒนาศักยภาพ ให้ประชาชนให้มีความรู้ในการปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเด็นที่ 2 การพัฒนางานวิชาการและงานวิจัย เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ นวัตกรรม รวมทั้งการพัฒนาวิชาการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เชื่อมโยงกับด้านสาธารณสุข โดยทั้งสองหน่วยงานจะร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านอุตุนิยมวิทยาและด้านสุขภาพเพื่อป้องกันและลดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของประชาชนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG13)


ทางด้าน นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลกระทบ ต่อสุขภาพของประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งสภาพอากาศที่ร้อนจัด น้ำท่วม ภัยแล้ง และมลพิษอากาศ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและวิถีชีวิตประชาชน ทำให้เกิดการเจ็บป่วยและเสียชีวิต โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) คาดการณ์ว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะมีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต โดยระหว่างปี 2573- 2593 หากไม่มีมาตรการป้องกัน จะมีผู้เสียชีวิตจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพิ่มขึ้นปีละ 250,000 ราย ด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ โรคนำโดยแมลง โรคจากความร้อน โรคอาหารและน้ำเป็นสื่อ รวมทั้งการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากภัยพิบัติต่าง ๆ ดังนั้น จึงเกิดเป็นการบูรณาการการดำเนินงานเพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพดังกล่าว และสำหรับการลงนามบันทึก ความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือฯ ในครั้งนี้ จะช่วยสร้างความเข้มแข็งระหว่าง 2 หน่วยงาน เพื่อร่วมกันดำเนินงาน โดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ การลด และป้องกันผลกระทบ ต่อสุขภาพของประชาชนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งสอดคล้องตามเป้าหมายแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน




ภาพ การกระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม   

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง