รีเซต

โควิด เดลต้าพลัส อินเดียเผยพันธุ์ใหม่ต้านยาต้านไวรัส พบแล้วใน10ปท.

โควิด เดลต้าพลัส อินเดียเผยพันธุ์ใหม่ต้านยาต้านไวรัส พบแล้วใน10ปท.
ข่าวสด
15 มิถุนายน 2564 ( 15:27 )
104
โควิด เดลต้าพลัส อินเดียเผยพันธุ์ใหม่ต้านยาต้านไวรัส พบแล้วใน10ปท.

 

 

โควิด - วันที่ 15 มิ.ย. อินเดียทูเดย์รายงานการค้นพบเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ซาร์ส 2 ชนิดกลายพันธุ์ที่พบในอินเดียเป็นครั้งแรก หรือเดลต้า (บี.1.617.2) มีการกลายพันธุ์ต่อยอดจนมีความสามารถในการต่อต้านยาต้านไวรัสชนิดแอนติบอดีสังเคราะห์ หรือโมโนโคลนอล แอนติบอดี Casirivimab/Imdevimab (REGEN-COV) ซึ่งอนุญาตให้ใช้กรณีฉุกเฉินในอินเดีย

 

 

การค้นพบดังกล่าวได้รับการเปิดเผยจากนายวิโนด สกาเรีย นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยทางชีวภาพ CSIR-Institute of Genomics and Integrative Biology (CSIR-IGIB) ที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย โดยไวรัสนี้มีรหัสว่า บี.1.617.2.1 หรือ เอวาย.1 หรือเดลต้า พลัส

 

 

นางบานี โจลลี ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาจีโนมจากสถาบันเดียวกัน กล่าวว่า การกลายพันธุ์ เค417เอ็น เกิดขึ้นที่ตำแหน่งแท่งโปรตีนของไวรัส บี.1.617.2.1 สามารถพบได้แล้วบนเว็บไซต์ฐานข้อมูลจีโนมสากล GISAID โดยพบจากชนิดเดลต้าจาก 10 ประเทศ

 

 

 

ไวรัสก่อโรคโควิด-19 ชนิดเอวาย.1 หรือเดลต้า พลัส กำลังถูกจับตาจากผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิดเนื่องจากการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง เค417เอ็น นั้นเป็นการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นแบบเดียวกันกับในชนิดที่พบในแอฟริกาใต้ (บี.1.351) หรือเบต้า

 

 

 

กรณีดังกล่าวสอดคล้องกันกับหน่วยงานสาธารณสุขของอังกฤษที่ตรวจพบไวรัสโควิด-19 ชนิดเดลต้า พลัส ในตัวอย่างจีโนมจากอินเดีย 6 ครั้ง ณ วันที่ 7 มิ.ย. ล่าสุด พบเพิ่มเป็น 63 ครั้งแล้ว

 

 

รายงานยังกล่าวถึงผู้ติดเชื้อใหม่ในอังกฤษ 36 คน ที่พบว่าเป็นเชื้อชนิดเดลต้า พลัส ในจำนวนนี้ 2 คน มีความเป็นไปได้ว่าเป็นการติดเชื้อแบบฝ่าภูมิคุ้มกัน (breakthrough infections) ขณะที่ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มีประวัติการเดินทางมาจากประเทศเนปาล ตุรกี มาเลเซีย และสิงคโปร์

 

 

นางโจลลี ตั้งข้อสังเกตว่า เชื้อชนิดเดลต้า พลัส ถูกพบในหลายครั้งในกลุ่มก้อนการระบาด หรือคลัสเตอร์ขนาดใหญ่ จึงสันนิษฐานว่าอาจมีปริมาณมากกว่าที่เห็นในการระบาด เนื่องจากข้อจำกัดในการตรวจวิเคราะห์จีโนมไวรัส

นายสกาเรีย ระบุว่า เชื้อชนิดเดลต้า พลัส ยังพบได้ไม่มากนักในประเทศอินเดีย ส่วนใหญ่ที่ตรวจพบนั้นเป็นผู้ที่ติดเชื้อเดินทางมาจากหลายชาติ เช่น สหรัฐฯ แคนาดา อังกฤษ รัสเซีย ญี่ปุ่น โปรตุเกส ตุรกี เนปาล และสวิตเซอร์แลนด์

หนึ่งสิ่งที่น่ากังวลของชนิดเดลต้า พลัส คือ ความสามารถในการหลบเลี่ยงยาต้านไวรัส REGEN-COV ซึ่งเป็นยาต้านประเภทแอนติบอดีสังเคราะห์ เพิ่งได้รับการอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินโดยองค์การอาหารและยาของอินเดีย

ด้านนางวินีตา บัล นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันภูมิคุ้มกันแห่งชาติของอินเดีย กล่าวว่า ความสามารถหลีกเลี่ยงยาต้านไวรัสข้างต้นไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่าไวรัสนั้นสามารถก่อโรครุนแรงมากขึ้น แต่เป็นความสามารถในการระบาด ผู้ที่ติดเชื้อชนิดนี้จึงไม่จำเป็นต้องกังวลมากเกินไป

ขณะที่นายอนุรัก อการ์วาล ผู้อำนวยการ CSIR-IGIB กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่มีอะไรน่ากังวลสำหรับชนิดเดลต้า พลัส ในอินเดีย แต่มองว่าจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมด้วยการนำพลาสม่าของผู้ที่ได้รับการฉัดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มาทดสอบกับไวรัสนี้เพื่อดูว่ายังยับยั้งไวรัสได้ดีเพียงใด

"การทำความเข้าใจวิวัฒนาการนั้นมีความสำคัญต่อการติดตามการกลายพันธุ์ที่นำไปสู่การเกิดเชื้อชนิดใหม่ๆ เพระาโดยส่วนใหญ่แล้วไวรัสจะพยายามปรับตัวให้ระบาดได้มากขึ้น ด้วยการหลบหลีกภูมิคุ้มกันให้ได้มากขึ้น ด้วยการกลายพันธุ์แบบค่อยเป็นค่อยไป" อนุรัก ระบุ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง