หากจะเอ่ยถึงวงดนตรีพื้นเมืองของภาคเหนือที่เรียกว่า “สะล้อ ซอ ซึง” หลายท่านก็คงเคยได้ยินผ่านหูมาบ้าง ด้วยความอ่อนหวานของรสบรรเลงจากวงดนตรีประเภทนี้สร้างความตราตรึงโสตประสาทของผู้ที่ได้สดับ และด้วยสำเนียงแห่งเสียงที่ดุจดั่งเสียงสวรรค์ ที่พรรณนาถึงเทือกเขาภูดอย ดอกเอื้องเมืองเหนือ ตลอดจนความงามของวัฒนธรรมอีกทั้งสาวเหนือ ก็เป็นสิ่งที่้ย้ายวนใจให้ชื่นชมไม่น้อย สะล้อเป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสี ที่มีความอ่อนหวานของเสียง สามารถเลียนเสียงพูดได้ซึ่งคล้ายกับเสียงคนจริงๆ เป็นเครื่องดนตรีโบราณที่ดูเหมือนจะเรียบง่าย แต่ก็มีเทคนิควิธีการบรรเลงที่หลากหลายเช่น การกดเสียง รูดเสียง พรมนิ้ว รวบคันชัก เป็นต้น สะล้อ เท่าที่พบในล้านนามีตั้งแต่ 2-3 สาย แต่ที่นิยมกันโดยทั่วไปจะมีอยู่เพียง 2 สาย และแบ่งออกเป็น 3 ขนาด คือ สะล้อเล็ก สะล้อกลาง และสะล้อหลวง หรือสะล้อใหญ่โดยสะล้อทั้ง 3 ขนาดนี้จะมีความต่างกันในสัดส่วนความยาวของไม้คันทวน และความใหญ่ของกะลามะพร้าว หรือที่เรียกว่ากะโหล้ง ซึ่งทำหน้าที่เป็นกล่องเสียงของสะล้อนั่นเองครับมาดูส่วนล่างของสะล้อกันต่อครับ ส่วนล่างที่ต่อจากกะลามะพร้าวเรียกว่า ขาสะล้อ หรือตีนสะล้อส่วนนี้จะมีรูสำหรับร้อยสายสะล้อ (ส่วนใหญ่ใช้สายกีต้าร์) เพื่อจะดึงไปสู่จุดที่หมุนลูกบิดลูกบิดใช้สำหรับตรึงสายสะล้อไว้เพื่อตั้งเสียงสูง-ต่ำตามที่ต้องการหมอน หรือหย่อง จะอยู่ติดกับตาดสะล้อซึ่งเป็นแผ่นไม้บางๆ ปิดกล่องเสียงที่เป็นกะลามะพร้าวไม้ ไม้หมอนนี้โดยมากมักทำมาจากไม้ไผ่ผ่าซีกเล็กๆ ใช้สำหรับหนุนสายสะล้อให้นูนขึ้นเพื่อให้ใช้สีได้รัดอก เป็นส่วนรัดสายให้แนบติดกับไม้คันทวน ถือเป็นจุดเริ่มต้นของเสียงที่จะสี หากจะกดตัวโน้ตต่างๆ ผู้เล่นต้องกดโน้ตด้านล่างรัดอกเสมอและสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยนั่นก็คือ ไม้โก๋ง หรือคันชักนั่นเองครับ เพราะเป็นส่วนที่ทำหน้าที่สีให้สายสั่นสะเทือนและดังนั่นเองครับ ไม้โก๋งนี้แต่ก่อนทำมาจากไม้ไผ่ดัดงอ ปัจจุบันเป็นไม้เนื้อแข็งกลึงให้เรียวยาว ส่วนสายทำมาจากสายเอ็นเบ็ดตกปลา ทำทดแทนสายหางม้าที่หาได้ยากและมีราคาแพงในปัจจุบัน และทุกครั้งก่อนจะสีสะล้อนอกจากจะต้องก้มกราบไหว้ครูบาอาจารย์ก่อนเล่นแล้ว ผู้เล่นจะต้องใช้ยางสนถูที่สายเอ็นของไม้โก๋งทุกครั้งเพื่อเพิ่มความหนืดจะได้เกิดเสียงที่ดังกังวานนั่นเองครับเป็นอย่างไรกันบ้างครับเพื่อนๆ เรื่องราวของสะล้อ เครื่องดนตรีพื้นเมืองล้านนาที่ดูสวยงามและมีเสียงที่อ่อนหวานละมุนหู ครั้งหน้าผู้เขียนจะสอนวิธีเล่นสะล้อเบื้องต้นให้ท่านผู้อ่านลองเล่นกันตามแบบฉบับเพลงพื้นบ้านภาคเหนือกันนะครับภาพโดย : ผู้เขียน