หลังจากเดินทางเยี่ยมชมเมืองเก่า ทำบุญไหว้พระตามวัดต่างๆ กันมาจนอิ่มบุญแล้ว เราจะพาทุกท่านมาสัมผัสกับเรื่องราวของชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาทำการค้าขายในสมัยกรุงศรีอยุธยาและเรื่องราวเกี่ยวกับ ท้าวทองกีบม้า "ราชินีแห่งขนมไทย" กันที่ หมู่บ้านญี่ปุ่น ภาพถ่ายโดยผู้เขียน หมู่บ้านญี่ปุ่น เปรียบดั่งอนุสรณ์หมู่บ้านเดิมของชาวญี่ปุ่นในสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมในอดีตนั้นอยุธยาถือเป็นศูนย์กลางทางการค้าทั้งจากฝั่งตะวันตกและตกวันออก และมีชาวต่างประเทศเข้ามาค้าขายในราชอาณาจักรไทยมากขึ้นๆ ตามลำดับ ทางการญี่ปุ่นได้อนุญาตให้ ชาวญี่ปุ่นเดินเรือไปค้าขายกับต่างชาติได้ โดยออกใบอนุญาตชูอิน (ตราแดง) ให้ ทำให้มีชาวญี่ปุ่นเดินทางเข้ามาค้าขายในกรุงศรีอยุธยาจำนวนหนึ่ง โดยหมู่บ้านญี่ปุ่น จัดตั้งขึ้นตามโครงการที่นักวิชาการไทยและนักวิชาการญี่ปุ่น ปรับขยายมาจากข้อเสนอเดิมของสมาคมไทย-ญี่ปุ่นและจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเคยเสนอให้จัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์หมู่บ้านญี่ปุ่น มาเป็นการเสนอให้จัดตั้งเป็นศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นสถาบันวิจัยและพิพิธภัณฑสถาน เกี่ยวกับราชอาณาจักรอยุธยาโดยรวมและหมู่บ้านญี่ปุ่นแห่งนี้ มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากพิพิธภัณฑ์อื่นคือ การพยายามสร้างภาพชีวิต สังคม วัฒนธรรมในอดีตให้กลับมามีชีวิตขึ้นใหม่ด้วยข้อมูลการวิจัย โดยการนำเทคโนโลยีของการจัดพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ มาใช้จัดแสดงนิทรรศการ ซึ่งจะทำให้ผู้ชมสามารถเข้าใจชีวิตในอดีตได้ง่าย โดยบริเวณอาคารแบ่งออกเป็น อาคาร 9 ส่วน ประกอบด้วยบอร์ดนิทรรศการ การจัดแสดงสิ่งของและวีดีทัศน์ 3 ภาษา ได้แก่1. ห้องวีดีทัศน์ อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในสมัยกรุงศรีอยุธยา อะไรคือปัจจัยที่เรือสินค้าและผู้คนทั้งจากตะวันตกอาทิ โปรตุเกส ฮอลันดา และ ตะวันออก อาทิ จีน ญี่ปุ่น เดินทางเพื่อมาค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าและตั้งรกราก ณ ดินแดนแห่งนี้ รวมถึงบทบาทของกรุงศรีอยุธยาในฐานะคนกลางการค้า ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรม อันเนื่องมาจากการค้า ผ่านบทสัมภาษณ์ของ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ศ.โยเนโอะ อิชิอิ และ ศ.โทชิฮารุ โยชิกาวา2. แผนที่เดินเรือมายังกรุงศรีอยุธยา แสดงให้เห็นถึงเส้นทางการเดินเรือจากโลกตะวันตกและโลกตะวันออกมายังกรุงศรีอยุธยา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอยุธยานั้นเป็นศูนย์กลางที่เชื่อมทั้ง 2 ไว้ได้อย่างแท้จริง3. แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศ - แผนที่โบราณ Judea ของประเทศเนเธอร์แลนด์แสดงให้เห็นความงามของผังเมืองกรุงศรีอยธยาที่ประกอบด้วยคู คลอง พระราชวัง และวัด- แผนที่โบราณ De La Loubere ของประเทศฝรั่งเศส ทำขึ้นมาเป็นแผ่นทองแดงแสดงภูมิศาสตร์ของอยุธยาที่ล้อมรอบด้วยแม่น้ำ 3 สาย พร้อมทั้งแสดงที่ตั้งชุมชนของชาวต่างชาติอีกด้วย- ภาพถ่ายทางอากาศของอยุธยาในปัจจุบัน เพื่อเป็นการเปรียบเทียบผังเมืองในยุคโบราณกับปัจจุบัน4. จัดแสดง - จำลองสินค้านำเข้าและส่งออกในสมัยอยุธยา- สินค้าส่งออกจากอยุธยา สินค้าส่วนมากมักเป็นของป่าหรือผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ นำเสนอโดยจำลองภาพท้องเรือสำเภาจากสยามที่บรรทุกสินค้าส่งออกอาทิ ไม้กฤษณา ไม้ฝาง หนังกวาง งาช้าง ไหสังคโลก นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงกระปุกสังคโลกรูปทรงมังคุดที่คาดว่าชาวญี่ปุ่น (ราชสำนักญี่ปุ่น) ใช้บรรจุชาในพิธีชงชา- สินค้านำเข้า มักเป็นสินค้าหรูหราและใช้ในราชสำนัก อาทิ พัดญี่ปุ่น และ ดาบญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นของใช้สำหรับชนชั้นสูง- เหล้าอะวาโมริและผ้าบิงกะตะ เหล้าอะวาโมริ เป็นเหล้าญี่ปุ่นที่ได้รับอิทธิพลจากการผลิตเหล้าขาวจากสยาม และผ้าบิงกะตะ เชื่อกันว่ามีการนำเข้าไม้ฝางจากไทยเพื่อไปใช้เป็นสีแดงในการย้อมผ้าบิงกะตะ5. ชุมชนชาวต่างชาติในกรุงศรีอยุธยาบอร์ดนิทรรศการว่าด้วยเรื่องราวการดำรงชีวิต อาชีพ ศาสนา และ เกร็ดอื่นๆเกี่ยวกับชุมชนต่างชาติที่สำคัญในกรุงศรีอยุธยา เช่น จีน ญี่ปุ่น โปรตุเกส ฮอลันดา ฝรั่งเศส อังกฤษ แขก มลายู ชวา เวียดนาม จาม ลาว พม่า เป็นต้น6. ชุมชนชาวญี่ปุ่นเรื่องราวเกี่ยวกับการก่อตั้งชุมชนของชาวญี่ปุ่น ณ บริเวณฝั่งตะวันออกริมแม่น้ำเจ้าพระยา นำเสนอผ่านวิดีทัศน์ผ่านชีวิตตัวละครที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านญี่ปุ่น ทำให้เราทราบเกี่ยวกับวิถีชีวิต อาชีพ การค้า ศาสนา และจิตใจของชาวญี่ปุ่นที่ตั้งรกรากอยู่ในกรุงศรีอยุธยา7. ตารางลำดับเหตุการณ์แสดงความสัมพันธ์ ไทย-ญี่ปุ่นเป็นตารางขนาดใหญ่ไร่เรียงลำดับเหตุการณ์เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงปัจจุบันรวมถึงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างไทยกับญี่ปุ่น 8. ห้องหนังสืออิเล็กโทรนิกส์ (e-book)นำเสนอข้อมูลต่างๆโดยสร้างระบบฐานข้อมูล ตำราวิชาการและหนังสือค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ศิลปะวัฒนธรรม การเมืองและอื่นๆ บรรจุข้อมูลทั้งหมดลงในคอมพิวเตอร์เพื่อความรวดเร็วในการสืบค้น9. นิทรรศการกลางแจ้งเป็นการจัดแสดงนอกตัวอาคาร โมเดลจำลอง 2 มิติของเรือสำเภาจากชาติต่างที่เดินเข้าสู่กรุงศรีอยุธยา ได้แก่ ญี่ปุ่น สยาม จีน ฮอลันดา โปรตุเกส มักกะสัน ภาพถ่ายโดยผู้เขียน ปัจจุบันสมาคมไทย-ญี่ปุ่น ได้สร้างอาคารนิทรรศการและมัลติมีเดีย ที่มีเรื่องราวและหุ่นขี้ผึ้งของ ท้าวทองกีบม้า (มารี ดอญา กีมาร์ เดอ ปีนา) ซึ่งเป็นชาวอยุธยาลูกครึ่งที่มีเชื้อสายโปรตุเกส-ญี่ปุ่น อาศัยอยู่ในหมู่บ้านโปรตุเกส ได้สมรสกับ คอนสแตนติน ฟอลคอน หรือ ออกญาวิชาเยนทร์ เสนาบดีกรมท่าในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กระทั่งในช่วงปลายของชีวิต เธอเข้ารับราชการจนได้ตำแหน่งท้าวทองกีบม้า หัวหน้าพนักงานวิเสทกลาง (ครัว) ดูแลของหวานแบบเทศและนำของหวานโปรตุเกสมาเผยแพร่ในกรุงสยาม เป็นต้น ตำรับขนมตระกูลทอง อย่างทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทองนั่นเอง ภาพถ่ายโดยผู้เขียน มาสัมผัสบรรยากาศของเมืองเก่าผ่านเรื่องราวและประวัติศาสตร์อันน่าจดจำ ที่ช่างเย้ายวนชวนให้มาเยือน อย่าลืมแวะมา เช็คอิน ที่หมู่บ้านญี่ปุ่นแห่งนี้ กันด้วยนะคะ ได้ความรู้เพียบ แถมมีมุมถ่ายภาพสวยๆ ให้ทุกท่านได้เลือกเก็บความทรงจำกันอีกด้วยการติดต่อที่อยู่ : 25/3 หมู่ 7 ต.เกาะเรียน อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยาเบอร์โทร : 035 245336Official Website : www.thai-japanasso.or.th