รีเซต

‘ชัชชาติ’ สาน 4 ภารกิจร่วมแม่ทัพภาค 1 ลั่นน้ำท่วมกรุง ‘มีแค่ 4 เรื่องเอง’ เร่งเสริมคันกั้นจุดฟันหลอ

‘ชัชชาติ’ สาน 4 ภารกิจร่วมแม่ทัพภาค 1 ลั่นน้ำท่วมกรุง ‘มีแค่ 4 เรื่องเอง’ เร่งเสริมคันกั้นจุดฟันหลอ
มติชน
25 กรกฎาคม 2565 ( 15:47 )
116

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 25 กรกฎาคม ที่บริเวณคลองลาดพร้าว ใต้ทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์ เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. ที่ดูแลด้านโครงสร้างพื้นฐาน พลตรีกันตพจน์ เศรษฐารัศมี รองแม่ทัพภาคที่ 1 และผู้บริหาร หารือความร่วมมือเพื่อเตรียมความพร้อมการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่กรุงเทพฯ

 

นางวาสนา ศิลป์เบ็ญจพร รองผู้อำนวยการ สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร กล่าวกับนายชัชชาติ และพลตรีกันตพจน์ ถึง 4 ภารกิจหลักว่า ที่เราตกลงกับ กทม.คือ 1.การเก็บขยะ ณ สถานีสำคัญ (นอกกำแพง) 2.เก็บขยะริมถนนจุดที่มีขยะเยอะ ซึ่งจะมีการประสานงานกันในพื้นที่ 3.จุดที่น้ำท่วมมากเข้าออกไม่ได้ จะมีรถทหารไปรับ-ส่งคน 4.เรื่องการขุดลอกคลองที่เมื่อเช้าไปสำรวจมาแล้ว

 

 

 

โดยนายชัชชาติ ได้รับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์ฝนและการบริหารจัดการน้ำ พร้อมกล่าวตอนหนึ่งว่า อุโมงค์ระบายน้ำ 2 แห่งหลัก จะช่วยระบายน้ำคลองลาดพร้าวได้ ก่อนสอบถามถึงปริมาณขยะ โดยนางวาสนาเผยว่า ใน 1 วัน มีขยะประมาณ 5 ตัน

 

นายชัชชาติจึงกล่าวว่า 5 ตัน รถคันนึงเลย

นายชัชชาติชี้ว่า สุดท้ายน้ำจะมาลงมาคลองแสนแสบ และจะมีอาคารรับน้ำที่เอาน้ำลงอุโมงค์ ที่ระดับ -30 ใต้ดิน อุโมงค์ก็จะวิ่งไปที่พระโขนง ดังนั้น ถ้าน้ำถึงอุโมงค์ได้ก็จะออกไปเจ้าพระยาได้เร็ว แต่ปัญหาคือคลองลาดพร้าว 20 กิโลเมตร ไม่ได้ขุดลอกทั้งหมด บางจุดยังไม่เสร็จก็ทำให้ตื้นเขิน น้ำเลยไม่ค่อยไป ก็จะเกิดน้ำท่วมแบบนี้กระทบหลายเขตที่อยู่รอบลาดพร้าว ทั้งซอยเสือใหญ่อุทิศ ก็มีผลจากคลองลาดพร้าว ถ้าขุดลอกดีน้ำจะออกไปเร็วขึ้น เดี๋ยวจะไปดู

 

“คือที่สถานีพระโขนง จะมี 2 ระบบ มีระบบอุโมงค์กำลังสูบประมาณ 60 ลบ.ม/วินาที และมีเครื่องระบายน้ำด้วยปั๊มปกติ อีก 155 ลบ.ม. ที่กรมชลประทานมอบให้เราเมื่อ 30 ปีที่แล้ว รวมกัน 215 ลบ.ม./วินาที ตัวปกติจะใช้ในพื้นที่สีชมพู ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้ๆ อย่าง คลองประเวศ คลองแสนแสบลงมา ส่วนอุโมงค์จะเป็นจุดที่รับน้ำตรงนี้ ซึ่งกินพื้นที่กว้างออกไป อุโมงค์จะกิน 50 ตารางกิโลเมตร (พื้นที่สีเหลือง) ส่วนเครื่องสูบน้ำธรรมดาจะกินพื้นที่สีชมพู 70 ตารางกิโลเมตร 2 ตัวรวมกัน 120 ตารางกิโลเมตร ซึ่งปัญหาของลาดกระบังคือจะมีน้ำจากคลองประเวศมา ต้องอาศัยการดูดน้ำออก

 

 

น้ำจากลาดกระบังต้องไหลเข้ามาในเมือง แล้วมาออกพระโขนง ที่ลาดกระบังท่วม เนื่องจากน้ำลงประตูพระโขนงยาก มีอยู่ไม่กี่ที่หรอก หลักๆ คือ 5 คลองประเวศ คลองแสนแสบ คลองพระยาสุเรนทร์ คลองลาดพร้าว และคลองเปรมประชากร ทิศเหนือ-ใต้ หลักๆ ต้องทำให้น้ำออกไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยาให้ได้ โดยมีอุโมงค์เป็นทางด่วนน้ำ เชื่อมรับน้ำจากจุดที่หนาแน่น อุโมงค์ปัจจุบันเรามีอยู่ 4 อุโมงค์ 19 กิโลเมตร ดูดน้ำได้ประมาณ 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งก็ไม่ได้เยอะมาก เพราะปริมาณดูดน้ำทั้งกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกและตะวันตก ต้อง 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อุโมงค์รับได้ 200 ลบ.ม. ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์เอง เรื่องคลองสำคัญมาก จึงต้องดูเรื่องปั๊มน้ำ และการขุดลอกคูคลอง” นายชัชชาติกล่าว

 

“เรื่องอุโมงค์น้ำ ถ้าคลองไม่ดี ก็ไปไม่ได้ ถ้าคลองไม่สารถนำน้ำไปอุโมงค์ได้ ก็จบ น้ำเหนือไม่น่ากลัวมาก ที่ปล่อยมาตอนนี้ 1,000 ลบ.ม ต่อวินาทีจากที่เขื่อนชัยนาท เราต้อง 1,200 ลบ./วินาที ก็มีหลักการว่าให้เสริมคัน ต้อง 2,500 ลบ./วินาที ต้องไปเสริมจุดฟันหลอริมน้ำ เรียงกระสอบ ซึ่งจะเป็นจุดเกิดน้ำท่วม

 

 

น้ำท่วมกรุงเทพมีแค่ 4 เรื่องเอง น้ำเหนือ ทะเลหนุน น้ำท่าที่มาตามทุ่งรังสิต และน้ำฝนในพื้นที่ จุดที่ต้องเร่งเสริมคือคันน้ำเจ้าพระยา ซึ่งอยู่ในแผนปฏิบัติการอยู่แล้ว แต่ฝนมาเร็วหน่อย อาจต้องเขยิบเวลาเข้าไปนิดนึง” นายชัชชาติกล่าว

 

เมื่อถามถึงที่ผ่านมา การระบายน้ำมีปัญหาเกิดจากอะไร ?
นายชัชชาติระบุว่า ขยะก็มีส่วน เช่น เครื่องดูดน้ำมีขยะเข้าไปก็พัง มีเศษไม้เข้าไป จึงต้องใช้วิธีกรอง 4 ทุ่ม เอารถขยะไปเก็บ

 

“ความจริงแล้วถุงใบเดียวอุดน้ำ ท่วมได้เลย เพราะไปอุดตรงฝาท่อพอดี เป็นปัญหาเส้นเลือดฝอย เส้นเลือดใหญ่คู่กัน ทางทหารเองก็จะมาช่วยดูแล กรณีขยะเอะ จะเอาคนมาช่วยเดินด้วย ต้องดูให้ครบวงจร ถามว่าทำไม่ตั้งวอร์รูม ถึงต้องลงไปพื้นที่ วอร์รูมจะเห็นภาพใหญ่ แต่ไม่ได้เห็นว่าซอย พื้นที่ย่อยๆ น้ำท่วม”

 

การลงพื้นที่สำคัญ วอร์รูมไม่คิดพูดถึงการขนส่งคนเลย แต่คนกลับบ้านไม่ได้ ต้องส่งเทศกิจเอารถไปรับคน วอร์รูมมีพร้อม แต่ไม่สมบูรณ์ จึงต้องประกอบกัน ลงพื้นที่ให้กำลังใจ ดูปัญหาประชาชน พัฒนาแผนให้ละเอียดขึ้น” นายชัชชาติกล่าว

 

 

นายชัชชาติกล่าวอีกว่า ได้คุยกับสำนักระบายน้ำ ได้เห็นปัญหาหลักๆ แล้วว่าเกิดจากอะไรบ้าง ท่อเล็กไป ปั๊มน้ำไม่พอ ฝนตกเป็นหย่อมๆ เพราปรากฏการณ์โลกร้อน ในอนาคตต้องมีปั๊มที่เคลื่อนที่เร็วขึ้นเสริมจุดที่มีปัญหา ต้องปรับกลยุทธ์ให้ทันน้ำด้วย หาความร่วมมือ ทุกส่วนมีกำลังเหลือ เอาส่วนที่เหลือมาช่วยกัน จะช่วยแก้ปัญหาได้

 

ผมประชุมกลางวัน กลางคืนลงพื้นที่หาข้อเท็จจริง เราลงเพื่อกระตุ้นให้ทุกคนทำงาน อย่างมอไซค์ก็ต้องนั่ง เพราะรถเก๋งไปไม่ได้ น้ำท่วมมอไซค์เข้าถึงพื้นที่ได้เร็ว ไม่ได้นั่งไปโชว์อะไร นั่งเพื่อเขาถึงพื้นที่ไดเร็ว เป็นสไตล์การทำงานของผม แต่ก็น้อมรับความเห็นเรื่องการจัดวอร์รูม ขอบคุณที่ช่วยติชมมา

 

เมื่อถามถึงมาตรการป้องกันน้ำท่วม จะทำอย่างไรให้ระบายได้เร็วขึ้น ?

นายชัชชาติกล่าวว่า สัปดาห์ก่อนฝนตกหนัก เราทะลวงพร่องน้ำเต็มที่ แต่ถ้าคลองตื้นเขินก็พร่องมากไม่ได้ เพราะเจอท้องคลองแล้ว ต้องพยายามลอกคลอง ซึ่งเราลุยมาเป็นเดือน น่าจะได้เยอะขึ้นที่ทหารเข้ามาช่วย

 

ด้าน นายวิศณุ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า วันนี้ได้ความช่วยเหลือจากกองทัพ มาช่วยกัน นี่เป็นที่ดักขยะก่อนลงอุโมงค์ เอาไม้ไผ่ดักไว้ก่อน ที่จริงระหว่างทางคลองลาดพร้าวนี้ ยังมีที่ดักเป็นระยะๆ ขยะเยอะจริงๆ ต้องช่วยกันหน่อย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง