รีเซต

นครพนม พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 17 ราย คลัสเตอร์กอดรัดฟัดหอมทารกวัย 2 เดือน ติดเชื้อยกครัว

นครพนม พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 17 ราย คลัสเตอร์กอดรัดฟัดหอมทารกวัย 2 เดือน ติดเชื้อยกครัว
มติชน
4 กรกฎาคม 2564 ( 19:22 )
55
นครพนม พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 17 ราย คลัสเตอร์กอดรัดฟัดหอมทารกวัย 2 เดือน ติดเชื้อยกครัว

นครพนม พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 17 ราย คลัสเตอร์กอดรัดฟัดหอมทารกวัย 2 เดือน ติดเชื้อยกครัวครึ่งโหล สั่งด่วนปิด 3 หมู่บ้านเร่งคัดกรองเชิงรุก เตรียมประเมิณสถานการณ์กรณีเตียงล้น

 

 

 

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2564 เวลา 16.30 น. ที่ห้องประชุมร่มฉัตร ชั้น 2 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ประธานคณะกรรมการโรคติดต่อฯ และนายแพทย์มานพ ฉลาดธัญญกิจ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม แถลงข่าวรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จังหวัดนครพนม วันนี้มีรายงานพบผู้ป่วยยืนยัน 17 ราย (รายที่ 224-240) รวมยอดผู้ติดเชื้อสะสม 240 ราย รักษาหายแล้ว 143 ราย กำลังรักษา 95 ราย ซึ่งในจำนวนที่กำลังรักษาอยู่นี้ไม่มีอาการ 41 ราย มีอาการเล็กน้อง 46 ราย ปานกลาง 7 และมีอาการรุนแรง 1 ราย ทั้งนี้ จังหวัดนครพนมมีจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยได้ทั้งหมด 280 เตียง ใช้เตียงรองรับผุ้ป่วยไปแล้ว 95 เตียง ยังมีเตียงสามารถรองรับได้อีก 185 เตียง

 

 

 

สำหรับข้อมูลผู้ป่วยติดเชื้อฯ รายที่ 224 เพศชาย อายุ 18 ปี และรายที่ 225 เพศหญิง อายุ 21 ปี อ.ศรีสงคราม (มาจากพื้นที่เสี่ยง) เข้ารับการรักษาที่ รพ.ศรีสงคราม รายที่ 226 เพศชาย อายุ 42 ปี อ.นาหว้า (มาจากพื้นที่เสี่ยง) เข้ารับการรักษาที่ รพ.ศรีสงคราม รายที่ 227 เพศชาย อายุ 46 ปี ภูมิลำเนาสมุทรปราการ (มาจากพื้นที่เสี่ยง) เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลนครพนม รายที่ 228 เพศชาย อายุ 22 ปี รายที่ 229 เพศชาย อายุ 23 ปี และรายที่ 230 เพศชาย อายุ 23 ปี อำเภอโพนสวรรค์ (มาจากพื้นที่เสี่ยง เข้ารับการรักษาที่ รพ.โพนสวรรค์ รายที่ 231 เพศหญิง อายุ 58 ปี อ.บ้านแพง (มาจากพื้นที่เสี่ยง) เข้ารับการรักษาที่ รพ.บ้านแพง ผู้ป่วยรายที่ 232 เพศชาย อายุ 44 ปี รายที่ 233 เพศชาย อายุ 4 ปี และรายที่ 234 เพศหญิง อายุ 58 ปี ทั้ง 3 ราย อยู่อำเภอท่าอุเทน (มาจากพื้นที่เสี่ยง) เข้ารับการรักษาที่ รพ.ท่าอุเทน ผู้ป่วยรายที่ 235 เพศชาย อายุ 69 ปี รายที่ 236 เพศหญิง อายุ 36 ปี รายที่ 237 เพศหญิง อายุ 37 ปี รายที่ 238 เพศชาย อายุ 49 ปี รายที่ 239 เพศชาย อายุ 13 ปี และผู้ป่วยรายที่ 240 เพศหญิง อายุ 10 ปี ทั้ง 6 ราย อยู่ อ.ท่าอุเทน (สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน รายที่ 223) เข้ารับการรักษาที่ รพ.ท่าอุเทน

 

 

 

 

ทั้งนี้ ในจำนวนผู้ติดเชื้อไว้รัสโคโรนาฯ จำนวน 240 คน เป็นการติดเชื้อของผู้เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง 164 คน และแพร่ต่อในชาวนครพนม อีก 30 คน ติดจากการเที่ยวสถานบันเทิง 34 คน และนำไปแพร่ต่อในบ้านอีก 8 คน โดยมีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อจากผู้ป่วยโควิด จำนวน 4 คน ทั้งนี้ ในจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อฯ แยกเป็นเพศชาย 116 ราย เพศหญิง 124 ราย อายุเฉลี่ย 31.9 ปี อายุต่ำสุด 2 เดือน อายุสูงสุด 73 ปี รักษาหาย 143 ราย เสียชีวิต 2 ราย เข้ารับการรักษาที่ รพ.นครพนม 22 ราย รพ.สนาม (รพ.จิตเวชนครพนมราชนครินทร์) 2 ราย รพร.ธาตุพนม 14 ราย รพ.ท่าอุเทน 11 ราย รพ.นาหว้า 3 รพ.เรณูนคร 4 ราย รพ.ปลาปาก 11 ราย รพ.วังยาง 2 ราย รพ.บ้านแพง 3 ราย รพ.ศรีสงคราม 7 ราย รพ.นาแก 1 ราย รพ.โพนสวรรค์ 14 ราย และ รพ.นาทม 1 ราย

 

 

 

 

ซึ่งในจำนวนผู้ป่วยทั้ง 17 รายนี้ มีถึง 6 รายเป็นครอบครัวเดียวกัน ที่สัมผัสกับผู้ป่วยทารกเพศชายวัย 2 เดือน (ราย 223) ที่ติดเชื้อโรคโควิดจากป้าขณะอยู่กับยายพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ก่อนที่จะกลับมาอยู่กับแม่ ต.หนองเทา อ.ท่าอุเทน เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ต้นเดือนกรกฎาคมเด็กมีอาการไข้ถ่ายเหลวมีมูก กระทั่งมีญาติโทรศัพท์แจ้งว่าป้าที่นั่งทานข้าวกับยายติดเชื้อโควิด มารดาจึงรีบนำตัวเด็กตรวจหาเชื้อพบผลเป็นบวก พร้อมนำตัวผู้สัมผัสกับตัวเด็กรวม 6 คน ตรวจหาเชื้อและกักตัว จึงพบว่าทั้งหมดติดเชื้อโควิดทั้งครอบครัว จากการสัมผัสกอดรัดฟัดหอมเด็กนั่นเอง เป็นผู้ป่วยรายที่ 235-240

 

 

 

นอกจากนี้ในพื้นที่ ต.หนองเทา อ.ท่าอุเทน ยังพบผู้ป่วยอีก 3 ราย เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง รวมตำบลเดียวพบผู้ติดเชื้อโควิด 9 คน ทางจังหวัดนครพนมจึงมีคำสั่งปิดหมู่บ้านหนองเทา หมู่ที่ 1, 7 และหมู่ 6 บ้านตาลท่า ห้ามเข้า-ออกเป็นเวลา 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 4-18 กรกฎาคม โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ตรวจหาเชื้อ ผู้เสี่ยงสูงและเสี่ยงต่ำ หรือผู้สัมผัสใกล้ชิดคนป่วย และพ่นยาฆ่าเชื้อทั้ง 3 หมู่บ้าน

 

 

 

 

นายไกรสร กองฉลาด ผวจ.นครพนม เปิดเผยว่า ได้สั่งปิด 3 หมู่บ้าน 300 หลังคาเรือน จำนวน 1,200 คน และจะทำการตรวจเชิงรุกทั้งหมด ในส่วนของเตียงทั้งโรงพยาบาลหลักและโรงพยาบาลสนามมีทั้งหมด 280 เตียง ใช้ไปแล้ว 95 เตียง เหลืออีก 185 เตียง หากไม่พออาจจะต้องเปิด รพ.สนามเพิ่มอีก โดยในวันพรุ่งนี้(5 ก.ค.) จะมีการประเมินสถานการณ์ไว้ล่วงหน้า โดยจะแบ่งเหตุการณ์สมมติเป็น 3 ระยะ โดยระยะที่ 1 คือ เตียงโรงพยาบาลเต็ม ระยะที่ 2 เตียงโรงพยาบาลสนามเต็ม ระยะที่ 3 หากเกิดขั้นวิกฤต จะมีการแก้ปัญหาอย่างไรและจะเพิ่มมาตรการให้เข้มขึ้นอย่างไรบ้าง เนื่องจากว่าพื้นที่ที่ต้องระวังตอนนี้ไม่เฉพาะพื้นที่สีแดงเท่านั้น คาดว่าจะใช้เวลาในการจัดการสถานการณ์นี้ประมาณ 2 สัปดาห์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง