ไม่น่าเชื่อว่าโลกของเราจะมาถึงวันนี้ได้.. วันที่ทวีปแอนตาร์กติกา ทวีปซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณที่รู้จักกันดีในชื่อ "ขั้วโลกเหนือ" ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความหนาวเย็นที่สุดในโลก เพราะแทบทั้งหมดของพื้นที่นั้นปกคลุมไปด้วยน้ำแข็ง มีความหนาวเย็นและแห้งแล้ง ประชากรมนุษย์ไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ มีเพียงนักวิจัยที่ใช้ชีวิตให้อุ่นที่สุดในสถานีวิจัย กับสัตว์ขั้วโลกแสนน่ารักที่เรารู้จักกันดี อย่างแมวน้ำ เจ้าเพนกวิน และแพลงตอนทะเลชนิดต่าง ๆ เท่านั้น ด้วยอุณหภูมิที่ต่ำตลอดทั้งปีมายาวนาน แต่จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้วันนี้ "ขั้วโลกเหนือ" ถูกบันทึกเอาไว้ว่าได้เดินทางมาถึงจุดที่อุณหภูมิสูงที่สุดในประวัติกาล โดยสูงถึง 18.30 องศาเซลเซียส เลยทีเดียว ซึ่งถือว่าเป็นอุณหภูมิที่สูงมาก ๆ สำหรับขั้วโลกเหนือ ข้อมูลจากสำนักข่าว BBC ประเทศอังกฤษ เปิดเผยว่า นักวิจัยชาวอาร์เจนติน่าสามารถวัดอุณหภูมิสูงสุดนี้ได้ที่บริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปแอนตาร์กติกา ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีการละลายของน้ำแข็งขั้วโลกมากที่สุด และการค้นพบความจริงล่าสุดนี้ได้รับการรับรองโดยองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกแห่งสหประชาชาติ : UN World Meteorological Organisation (WMO) เรียบร้อยแล้ว นับเป็นการค้นพบที่น่าตกใจและน่าเศร้าใจไม่น้อยเลยทีเดียว.. ขอขอบคุณภาพประกอบโดย Angela Compagnone จาก Unsplash จากข่าวนี้ทำให้อยากหาข้อมูลเพิ่มเติม เลยลองย้อนดูข้อมูลจากการศึกษาวิจัยที่ผ่านมา ก็พบว่า ในช่วง 50 ปี ที่ผ่านมา อุณหภูมิในทวีปแอนตาร์คติกาเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าตัว จากอุณหภูมิที่เคยติดลบเลยนะคะ ที่น่าตกใจไปกว่านั้น คือธารน้ำแข็งประมาณ 87% ตามชายฝั่งตะวันตกของทวีป ได้ค่อย ๆ ละลายหายไปอย่างรวดเร็ว ในช่วงระยะเวลา 12 ปี ที่ผ่านมา เนื่องจากภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น นักวิทยาศาสตร์หลายท่านได้ออกมาเตือนกันแล้ว ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นกับขั้วโลกเหนือนี้ เป็นสัญญาณที่เราทุกคนควรตระหนักให้มาก จากสถิติล่าสุดพบว่า ระดับน้ำทะเลได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยที่ประมาณ 3 เมตร การละลายของธารน้ำแข็งที่มากขึ้น เร็วขึ้น ในแต่ละปีที่ผ่านไป ในไม่ช้าธารน้ำแข็งทั้งหมดก็จะสลายตัว และนั่นคือสัญญาณของปัญหาใหญ่ที่กำลังจะตามมา ลองนึกภาพตอนที่เราละลายน้ำแข็งในช่องฟรีซตู้เย็นดูสิคะ สิ่งที่เกิดขึ้นคือน้ำแข็งเหล่านั้นกลายเป็นน้ำไหลเอ่อท่วมล้นออกมาจากถาดรอง เจิ่งนองไปทั่วพื้นห้องครัว สร้างความเดือดร้อนให้เราต้องไปทำความสะอาด แล้วถ้าเปลี่ยนจากตู้เย็นนั้นเป็นโลกของเราดูล่ะคะ? น้ำที่เกิดจากการละลายของธารน้ำแข็ง มันจะไปไหนได้เสีย ถ้าไม่ไหลมาท่วมเขตพื้นดินที่มนุษย์อาศัย.. ขอขอบคุณภาพประกอบโดย John Christian Fjellestad จาก Unsplash ไม่เพียงแต่ปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นจากการละลายของน้ำแข็งเท่านั้นที่จะส่งผลกระทบต่อโลก เมื่อได้ศึกษาข้อมูลเพิ่มจากหลาย ๆ แหล่ง ก็พบความจริงที่น่าตกใจไม่แพ้กันค่ะ การที่ธารน้ำแข็งขั้วโลกละลาย ยังส่งผลถึงการระเหยของ Permafrost หรือ ชั้นดินเยือกแข็ง ซึ่งกินพื้นที่ราว 1 ใน 4 ของขั้วโลกเหนือเลยทีเดียว เจ้าสิ่งนี้ถูกเรียกว่าเป็น "ระเบิดเวลาภูมิอากาศ" เลยล่ะค่ะ ด้วยการเป็นสสารที่มีอุณภูมิติดลบควบแน่นอยู่ใต้พื้นดินเป็นเวลานาน หากธารน้ำแข็งละลายหมด เจ้า Permafrost ที่รอเวลาปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาหลายล้านปี ก็จะได้เวลาเผยตัวออกมาปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์พร้อมก๊าซมีเทน ไม่รู้กี่หลายพันล้านตันขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ โลกที่ร้อนอยู่แล้วก็ยิ่งจะร้อนทวีคูณขึ้นไปอีก ยังไม่หมดแค่นี้ โรคร้ายทั้งหลายที่ถูกขังไว้ใต้น้ำแข็งก็มีโอกาสจะถูกปล่อยออกมาด้วย เพื่อน ๆ อาจเคยเห็นข่าวกันมาบ้างแล้วไม่นานมานี้ ที่มีนักวิทยาศาสตร์พบเชื้อโรคหลายพันชนิดที่บริเวณเทือกเขาธิเบต นั่นล่ะค่ะ.. ภัยร้ายที่จะตามมาของปรากฎการณ์โลกร้อน ขอขอบคุณภาพประกอบโดย Melissa Bradley จาก Unsplash การค้นพบครั้งนี้ สื่อให้เห็นว่าในพื้นที่ที่มีน้ำแข็งปกคลุมอย่างขั้วโลกต่าง ๆ มีแนวโน้มที่จะมีปริมาณคาร์บอนเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในบรรยากาศ ซึ่งเมื่อโลกอุ่นขึ้น และดินเริ่มร้อนขึ้น จุลินทรีย์ต่าง ๆ ในพื้นดินก็จะเริ่มทำงาน และก๊าซเรือนกระจกก็จะลอยขึ้นไปชั้นบรรยากาศอีกครั้ง และส่งความร้อนกลับมายังพื้นดิน ทำให้โลกร้อนมากขึ้น เป็นการวนลูปของปรากฎการณ์โลกร้อนอยู่แบบนี้ และจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ตอนนี้ทีมนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญ กำลังหาวิธีที่จะรับมือกับปรากฎการณ์น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ในขณะเดียวกันก็หาทางจัดการกับเจ้า Permafrost นี้อยู่เช่นเดียวกัน ความตลกร้ายก็คือ เราไม่อยากให้โลกร้อน เพราะไม่อยากให้น้ำแข็งต้องละลาย แต่เจ้า Permafrost จำเป็นจะต้องถูกกำจัดในอุณหภูมิที่สูงน่ะสิคะ นั่นหมายความว่ามันต้องเจอความร้อนถึงจะกำจัดได้ แต่เราก็ไม่อยากให้โลกร้อน เอ๊ะ! ยังไง ถึงตรงนี้เพลงของสามสาว ZAZA ลอยมาเลย "แล้วฉันเลือกอะไรได้ไหม~" ฮ่า ๆ ๆ เป็นตลกร้ายที่ขำไม่ค่อยจะออกสักเท่าไหร่ เรื่องนี้นับเป็นความท้าทายมาก ๆ ในมุมมองของนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งส่วนตัวเราเองก็เชื่อว่ามนุษย์เก่งอยู่แล้ว ต้องหาทางได้แน่นอนค่ะ แต่เราก็ไม่ควรนิ่งนอนใจมากเกินไปนัก เพราะปัญหาโลกร้อนคือปัญหาใหญ่ที่ทุกคนบนโลกควรต้องมีส่วนร่วม ที่เขียนเรื่องนี้ ไม่ได้มีเจตนาจะสร้างความตื่นตระหนก แต่อยากสร้างความตระหนักให้เพื่อน ๆ ที่ได้อ่านบทความนี้ เพราะตอนนี้มีสื่อจำนวนน้อยมากที่ทำข่าวนี้ ทั้งที่เป็นเรื่องใหญ่ทีเดียว หลายคนอาจจะคิดว่าสองมือเล็ก ๆ ของเรา ในวันนี้อาจจะคิดไม่ออกว่าจะไปมีส่วนช่วยในปัญหาที่ยิ่งใหญ่ระดับนี้ได้อย่างไร แต่ทุกอย่างต้องมีจุดเริ่มต้นเสมอ สิ่งใหญ่ ๆ มักเกิดจากสิ่งเล็ก ๆ นี่ล่ะค่ะ ไว้บทความหน้า จะมาแชร์วิธีลดโลกร้อน ในแบบที่คนตัวเล็ก ๆ อย่างเรา ก็ทำได้สบาย ๆ รอติดตามกันนะคะ ขอขอบคุณภาพประกอบโดย Harrison Moore จาก Unsplash เรื่อง : ดารัณ พันสวะนัด (ผู้เขียน) สามารถรับชมข้อมูลเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ สำนักข่าว BBC ขอขอบคุณภาพประกอบปกโดย petradr จาก Unsplash