ภาพโดย ไอยรา เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ สิ่งหนึ่งที่หลายคนนึกถึงคงจะต้องมี “ดินสอพอง” รวมอยู่ด้วยเป็นแน่ ดินสอพองก้อนจิ๋วใช้ละลายน้ำ หรือละลายน้ำอบ ปะพรมใบหน้ากันตอนเล่นน้ำสงกรานต์ ช่วยให้เย็นชุ่มฉ่ำ เก็บความเย็นและปกป้องใบหน้าจากแสงแดดได้เป็นอย่างดี แต่รู้หรือไม่ว่า ประโยชน์ของดินสอพองไม่ได้มีเพียงแค่ใช้เล่นสงกรานต์เท่านั้น หากท่านได้เข้าไปเยี่ยมชมชุมชนผู้ผลิตดินสอพองแล้วจะได้รับความรู้เกี่ยวกับดินสอพองอีกมากมายภาพโดย ไอยรา แหล่งผลิตดินสอพองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณตำบลทะเลชุบศร พื้นที่บริเวณนี้เป็นเขตที่มีดินมาร์ลหรือดินสอพองปริมาณมาก ชุมชนดังกล่าวรวมตัวกันเป็นแหล่งภูมิปัญญาชาวบ้าน เปิดให้หน่วยงานต่าง ๆ เข้าเยี่ยมชมกระบวนการผลิตดินสอพอง ผู้ผลิตแต่ละรายก็ยินดีให้ข้อมูลทุกขั้นตอน จึงทำให้มีหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาศึกษาวิจัยเรื่องดินสอพองกันอยู่ไม่ขาดทั้งหน่วยงานการศึกษา หน่วยงานด้านอุตสาหกรรมการค้า และประชาชนทั่วไปภาพโดย ไอยรา ดินสอพองนั้นสามารถนำมาทำประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น ดินสอพองที่ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อโรคแล้วจะนำมาใช้ทำเครื่องสำอางจำพวกแป้ง มีสรรพคุณบำรุงผิวให้เนียนนุ่ม ลดสิวและผื่นคัน ดินสอพองใช้ผสมกับสมุนไพรจำพวกมะกรูดจะมีฤทธิ์เป็นยารักษาอาการบวมช้ำ ดินสอพองใช้ปรับสมดุลความเป็นกรด – ด่าง ของดิน ช่วยให้ผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นดินสอพองยังใช้เป็นส่วนประกอบของอุตสาหกรรมก่อสร้างจำพวกการผลิตปูน เมื่อเห็นประโยชน์ของดินสอพองเช่นนี้แล้วจึงไม่ต้องแปลกใจ หากว่าขับรถผ่านจังหวัดลพบุรีแล้วจะเห็นกองดินสีขาวขนาดมหึมาอยู่บริเวณตำบลทะเลชุดศร ตำบลท่าแค หรือตำบลใกล้เคียง เพราะดินสอพองนั้นมีผู้นำไปใช้ประโยชน์ทั้งภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม จึงต้องผลิตกันทั้งปีเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ ไม่ได้ผลิตเพื่อวางจำหน่ายเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์เท่านั้นภาพโดย ไอยรา ดินสอพองแบ่งออกเป็นหลายเกรดตามลักษณะการใช้งาน เกรดที่ใช้ผลิตเครื่องสำอางต้องผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อโดยเฉพาะ ส่วนเกรดที่ใช้ในครัวเรือนทั่วไปก็จะผ่านการตากดิน ล้างดิน พักดิน กรองดินหลายครั้งเพื่อแยกเศษกรวดเศษทราย จากนั้นจึงหยอดเป็นก้อนหรือเทเป็นแผ่นแล้วตากจนดินแห้งเพื่อฆ่าเชื้อโรคให้ได้มากที่สุด หากมีผู้สนใจเยี่ยมชมกระบวนการผลิตดินสอพองแต่ละขั้นตอนนั้นสามารถเข้าไปสอบถามกับชาวบ้านผู้ผลิตได้โดยตรง ชุมชนผู้ผลิต ดินสอพองนั้นเปิดโอกาสให้เข้าเยี่ยมชมการผลิตได้อย่างใกล้ชิด เพื่อเผยแพร่ความรู้ออกไปสู่สาธารณะ