พืชสมุนไพรแต่ละชนิดนั้นล้วนมีคุณประโยชน์ ที่สามารถนำมาทำเป็นยาเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ได้ แต่ผู้ที่มีความรู้เรื่องสมุนไพรนั้นมีไม่มากนัก ทำให้การนำพืชสมุนไพรมาใช้ทางการรักษานั้น มีให้เห็นอยู่น้อย อีกทั้งในปัจจุบันสมุนไพรต่าง ๆ นั้นเป็นที่รู้จักน้อยลงและรู้จักกันในกลุ่มเล็ก ๆ สมุนไพรบางชนิดเราอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อด้วยซ้ำ ซึ่งก็อาจทำให้เราเห็นคุณค่าของพืชสมุนไพรน้อยลง ผู้เขียนจึงมีความตั้งใจเป็นอย่างยิ่งในการนำข้อมูลของสมุนไพรแต่ละชนิดมาเผยแพร่เป็นความรู้ให้เกิดความสนใจ และทำให้สมุนไพรเป็นที่รู้จักมากขึ้น ในบทความนี้ผู้เขียนได้นำข้อมูลของสมุนไพรหายากอีกหนึ่งชนิดมาบอกเล่า นั่นก็คือ “ว่านกาบหอยแครง” สมุนไพรที่มีความเก่าแก่และหาดูได้ยากแล้วในปัจจุบันภาพถ่ายโดยผู้เขียนลักษณะของ “ว่านกาบหอยแครง” จัดเป็นพืชล้มลุกขึ้นเป็นกอเตี้ย ต้นกำเนิดของพืชชนิดนี้นั้นอยู่แถบทวีปอเมริกา เป็นพืชที่ไม่มีการแตกกิ่งก้าน ลำต้นของมันจะอวบน้ำ และมีอายุยืนหลายปี ชอบแสงแดด หากปลูกอยู่ในที่ที่มีแสงแดดส่องถึงครึ่งวันก็จะเจริญเติบโตได้ดี ลักษณะใบของมันนั้นจะเป็นกาบยาวปลายเรียวแหลมคล้ายรูปหอกยาว เรียงหนาซ้อนกันออกมาจากโคนของลำต้น หน้าใบจะมีสีเขียวแก่ ส่วนหลังใบจะมีสีแดงอมม่วง ขอบใบทั้งสองข้างเรียบขนานกัน มีความหนาและตั้งตรง ส่วนดอกของมันนั้นจะเป็นสีขาวเล็ก ๆ มีเปลือกสีม่วงหุ้มอยู่ ปลายในเปลือกจะมีดอก 3-4 ดอก ซึ่งมีเกสรเล็ก ๆ สีเหลือง ดอกจะบางและช้ำง่ายภาพถ่ายโดยผู้เขียนสรรพคุณของ “ว่านกาบหอยแครง” แก้เจ็บคอ แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้เลือดกำเดาไหล แก้ไข้ตัวร้อน แก้ไอเป็นเลือด แก้ไอจากไข้หวัด แก้โรคบิด ช่วยขับปัสสาวะ บำรุงตับ รักษาโรคผิวหนัง แก้อาการฟกช้ำ ใช้เป็นยาห้ามเลือดเมื่อสมัยที่ผู้เขียนเป็นนักศึกษาอยู่นั้นได้มีโอกาสไปเข้าค่ายในหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่จังหวัดแห่งหนึ่ง ซึ่งมี “ว่านกาบหอยแครง” ปลูกอยู่ใกล้กับที่พัก ซึ่งตอนนั้นผู้เขียนไม่ทราบว่าเป็นต้นสมุนไพร คิดว่าเป็นเพียงไม้ประดับเพราะต้นของมันมีสีสันและลำต้นที่สวยงาม จนได้ทราบจากชาวบ้านว่าพืชชนิดนี้เป็นสมุนไพรที่นำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ผู้เขียนเคยเห็นชาวบ้านนำใบของ “ว่านกาบหอยแครง” มาคั้นน้ำ แล้วเอาน้ำที่ได้มาทาบริเวณมือเท้าและขา จากนั้นรอจนน้ำว่านแห้ง แล้วลงไปทำนา ชาวบ้านบอกว่าการทำแบบนี้จะช่วยป้องกันมือเท้าเปื่อยได้ ภาพถ่ายโดยผู้เขียนนอกจากนี้ชาวบ้านยังเล่าให้ฟังอีกว่า ดอกของ “ว่านกาบหอยแครง” มาต้มดื่มก็จะเป็นยาแก้ไอเป็นอย่างดี เพราะจะทำให้ชุ่มคอ และรู้สึกเย็น ๆ ในคอ ซึ่งหากมีอาการเสมหะเป็นเลือด น้ำที่ต้มจากดอกก็จะแก้อาการได้ด้วย ส่วนรากกับใบหากนำมาต้มด้วยกันใส่เกลือลงไปเล็กน้อย ก็จะเป็นยาทำให้อาเจียนออกมาเพื่อถอนพิษเมาสุราหรือเมาค้างได้เป็นอย่างดีที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงสรรพคุณบางส่วนที่ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์มา ซึ่งนอกจากนี้ยังสามารถนำ “ว่านกาบหอยแครง” ไปเป็นส่วนผสมกับสมุนไพรชนิดอื่นปรุงยารักษาโรคได้อีกหลายอาการ หากท่านใดสนใจก็สามารถศึกษาเพิ่มเติมจากตำรายาต่าง ๆ ได้ และผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะทำให้ทุกท่านหันมาให้ความสนใจพืชสมุนไพรมากขึ้น เพื่อช่วยกันอนุรักษ์ภูมิปัญญาให้คงอยู่สืบต่อไป