11 ผลกระทบต่อคน ที่มาพร้อมกับน้ำท่วม และฝนตกหนัก มีอะไรบ้าง อ่านเลย! เขียนโดย ภัคฒ์ชาลิสา จำปามูล นอกจากในช่วงปกติที่เราใช้ชีวิตไปในแต่ละวันนั้น เราต้องดูแลสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบบ้านของเราให้อยู่ในความเรียบร้อยแล้ว ในช่วงที่มีฝนตกหนัก ที่ในบางพื้นที่อาจเกิดภาวะน้ำท่วมได้นั้น สถานการณ์นี้เรายิ่งต้องให้ความสนใจสิ่งต่างๆ รอบตัวเราค่ะ เพราะการมีน้ำท่วมขังจากที่ฝนตกมาเยอะกว่าปกติ มีผลกระทบต่อคนเราได้นะคะ โดยหลายคนอาจจะยังมองไม่ออกว่า ในแต่ละด้านแต่ละส่วน ทั้งเรื่องในบ้าน เรื่องนอกบ้าน ไหนจะผลต่อสุขภาพจิตของเราอีก ซึ่งในแต่ละอย่างจะเป็นยังไงหากเกิดน้ำท่วมขัง ต้องอ่านต่อค่ะ เพราะในบทความนี้เราจะมารู้กันว่า หากอยู่ๆ มีฝนตกลงมาอย่างหนักและมีน้ำท่วมเกิดขึ้นในพื้นที่ของเรา ความเสียหายจะเกิดกับอะไรได้บ้าง ที่อ่านจบแล้วนอกจากคุณผู้อ่านจะสามารถนำไปวางแผนรับมือได้แบบชัดเจนแล้ว ยังสามารถตระหนักมากขึ้นด้วยในส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องนะคะ และต่อไปนี้คือ 11 ผลกระทบจากที่มีฝนตหนักจนทำให้มีน้ำท่วมค่ะ 1. การหยุดชะงักของการคมนาคม ปัจจุบันการที่ฝนกระหน่ำลงมาอย่างหนักติดต่อกันหลายชั่วโมง อาจไม่ใช่แค่เรื่องของความชุ่มฉ่ำอีกต่อไปแล้วค่ะ เพราะบ่อยครั้งที่ฝนตกหนักๆ มักนำพามาซึ่งสถานการณ์ที่หลายคนต้องปวดหัวมาให้ นั่นคือการมีน้ำท่วมขัง พอเป็นแบบนั้นการจราจรที่เคยคล่องตัวก็ต้องหยุดชะงักลงทันที ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทางที่จมอยู่ใต้น้ำจนรถเล็กไม่สามารถผ่านไปได้ หรือแม้แต่ในพื้นที่ที่น้ำท่วมไม่สูงมากนัก ก็ยังส่งผลให้รถเคลื่อนตัวได้ช้าลงอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ผู้คนติดค้างอยู่บนท้องถนนนานหลายชั่วโมง เสียเวลาไปกับการเดินทางที่ไร้ประสิทธิภาพ และยังส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปทำงาน ไปเรียน หรือแม้แต่การขนส่งสินค้า ที่ต้องล่าช้าออกไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สถานการณ์เช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาจากน้ำท่วมและฝนตกหนัก ไม่ได้เป็นเพียงภัยธรรมชาติทั่วไป แต่เป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบคมนาคมได้ 2. ความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน อีกหนึ่งผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือ การที่มีความเสียหายต่อทรัพย์สินค่ะ ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือนที่ถูกน้ำท่วมเข้าข้าวของเสียหาย รถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ที่จมน้ำจนใช้การไม่ได้ หรือแม้แต่พื้นที่เกษตรกรรมที่ไร่นาถูกน้ำท่วมขัง ทำให้ผลผลิตเสียหาย สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรอย่างหนัก และที่น่ากังวลไปกว่านั้นคือผลกระทบต่อชีวิตของผู้คน เพราะน้ำท่วมไม่ได้แค่ทำให้การเดินทางลำบาก แต่ยังอาจนำไปสู่เหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น ไฟฟ้าลัดวงจร การจมน้ำ หรือแม้แต่เกิดการระบาดของความเจ็บป่วยหลังน้ำลด ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นภัยคุกคามที่คร่าชีวิตผู้คนไปได้ การที่ฝนตกหนักและน้ำท่วมขัง จึงไม่ใช่แค่เรื่องของความไม่สะดวกสบาย แต่เป็นภัยธรรมชาติที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินของพวกเราทุกคนค่ะ 3. ความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค ในช่วงเวลาที่เราเผชิญกับสถานการณ์น้ำท่วมและฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่เราเห็นได้ชัดเจนคือความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคค่ะ ไม่ว่าจะเป็นถนนที่พังเสียหาย สะพานที่ใช้การไม่ได้ ระบบไฟฟ้าที่ล่ม หรือแม้แต่ท่อประปาที่แตก ทำให้การเดินทางการใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงการเข้าถึงบริการจำเป็นต่างๆ หยุดชะงัก สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่ความไม่สะดวกชั่วคราว แต่ยังส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ทั้งในด้านเศรษฐกิจที่ชะลอตัว การขนส่งสินค้าที่ติดขัด และคุณภาพชีวิตที่แย่ลงได้อีกด้วยนะคะ 4. ปัญหาด้านการจัดการขยะและสิ่งปฏิกูล คุณผู้อ่านรู้ไหมคะว่า ปัญหาที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้และส่งผลกระทบต่อสุขอนามัยของเราอย่างมาก คือ เรื่องของการจัดการขยะและสิ่งปฏิกูลค่ะ จากที่น้ำที่ท่วมขังมักจะพัดพาขยะมูลฝอยจากแหล่งต่างๆ ทั้งจากบ้านเรือน ถนน หรือแม้แต่จากกองขยะที่ถูกทิ้งไม่เป็นที่ ให้ไปกองรวมกันตามจุดต่างๆ หรือไหลปนเปื้อนไปกับน้ำท่วม จึงทำให้สภาพแวดล้อมสกปรกและส่งกลิ่นเหม็น นอกจากนี้ระบบบำบัดน้ำเสียและท่อระบายน้ำที่อาจได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม ก็ยิ่งซ้ำเติมปัญหานี้ และทำให้สิ่งปฏิกูลต่างๆ ไหลเอ่อขึ้นมาบนพื้นผิวถนนและปะปนไปกับน้ำท่วม ที่สามารถเป็นแหล่งพาหนะนำความเจ็บป่วยและแพร่กระจายไปยังชุมชนได้ 5. ความยากลำบากในการเข้าถึงบริการต่างๆ รู้ไหมคะว่า ฝนที่ตกหนักและน้ำท่วมที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการใช้ชีวิตประจำวันของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการเข้าถึงบริการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษา การไปทำงานหรือโรงเรียน หรือแม้แต่การซื้อหาอาหารและของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน เพราะว่าเส้นทางคมนาคมที่ถูกตัดขาดหรือกลายเป็นอัมพาตจากน้ำท่วม ทำให้การเดินทางเป็นไปอย่างยากลำบากหรือเป็นไปไม่ได้เลย ในบางครั้งต้องใช้เวลานานหลายชั่วโมงในการเดินทางระยะสั้นๆ หรือต้องเลื่อนนัดหมายสำคัญออกไป ทำให้เกิดความเสียหายทั้งในด้านเศรษฐกิจ สุขอนามัยและคุณภาพชีวิตของผู้คน 6. ปัญหาด้านสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม ลองนึกภาพตามค่ะว่า เมื่อน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ที่มัจะพัดพาสิ่งสกปรก ขยะ และจุลินทรีย์ต่างๆ มาสะสม ทำให้แหล่งน้ำดื่มหรือน้ำใช้ปนเปื้อนไปด้วยสิ่งปนเปื้อน จึงส่งผลให้อาจมีการเกิดการระบาดของความเจ็บป่วยที่มีน้ำเป็นสื่อได้ นอกจากนี้ความชื้นและน้ำขังยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุง ทำให้เกิดปัญหาด้านสุขอนามัยได้ง่ายขึ้นอีกด้วย ส่วนในด้านสิ่งแวดล้อมนั้น น้ำท่วมยังทำลายระบบนิเวศ พัดพาหน้าดินและสารเคมีลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ทำให้สัตว์น้ำหรือพืชพรรณได้รับผลกระทบ ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องที่ทุกคนควรตระหนัก เพราะส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขอนามัยและคุณภาพชีวิตของเราได้ 7. การหยุดชะงักของการศึกษา เมื่อมีน้ำท่วมโรงเรียนหลายแห่งต้องปิดทำการชั่วคราวเพราะน้ำท่วมขัง ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติ นักเรียนจำนวนมากก็ไม่สามารถเดินทางไปโรงเรียนได้ เนื่องจากเส้นทางคมนาคมถูกตัดขาด หรือต้องเผชิญกับอันตรายจากการเดินทางในช่วงน้ำท่วม สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้เด็กๆ พลาดโอกาสในการเรียนรู้ ขาดการติดต่อกับครูและเพื่อน ซึ่งอาจกระทบต่อพัฒนาการทางความคิดและทักษะที่จำเป็น การหยุดชะงักของการศึกษายังทำให้เนื้อหาการเรียนการสอนไม่ต่อเนื่อง นักเรียนบางคนอาจตามไม่ทันบทเรียน เมื่อโรงเรียนเปิดทำการอีกครั้ง ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหาฝนตกหนักและน้ำท่วมที่เราต้องเผชิญค่ะ 8. การอพยพและการพลัดถิ่น ลองนึกภาพตามค่ะว่า เมื่อระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจนเป็นอันตรายถึงชีวิตและทรัพย์สิน ผู้คนจำนวนมากไม่มีทางเลือกนอกจากต้องทิ้งบ้านเรือนของตัวเองอย่างกะทันหัน เพื่อไปอาศัยอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราว หรือต้องไปขออาศัยอยู่กับญาติพี่น้องในพื้นที่ปลอดภัยกว่า การพลัดถิ่นนี้ไม่ได้หมายถึงแค่การย้ายที่อยู่ชั่วคราวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสูญเสียความมั่นคงในชีวิต ตั้งแต่เรื่องของการต้องปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ที่ไม่คุ้นเคย และความไม่แน่นอนว่าเมื่อไหร่จะได้กลับบ้าน หรือบ้านเรือนที่เคยอยู่จะยังอยู่ในสภาพเดิมหรือไม่ ปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อสภาพจิตใจและความเป็นอยู่ของผู้ประสบภัย ทำให้เห็นว่าน้ำท่วมไม่ใช่แค่เรื่องของภัยธรรมชาติ แต่เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตผู้คนในหลายมิติค่ะ 9. มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและรายได้ หายคนอาจจะยังมองไม่ออกว่า เมื่อมีน้ำท่วมขัง ไร่นา สวนผลไม้ หรือแม้แต่ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ก็ได้รับความเสียหาย ผลผลิตทางการเกษตรที่ควรจะเป็นรายได้หลักของชาวบ้านต้องจมน้ำเสียหาย ทำให้ชาวนาชาวสวนขาดรายได้ไปในทันที ไม่เพียงเท่านั้น ธุรกิจเล็กๆ น้อยๆ เช่น ร้านค้า ร้านอาหาร หรือแม้แต่บริการขนส่ง ก็ไม่สามารถเปิดทำการได้ตามปกติ ซึงการที่ลูกค้าหายไป รายได้ก็หดหายตามไปด้วย บางครอบครัวต้องเอาเงินเก็บที่สะสมไว้มาใช้จ่าย เพื่อซ่อมแซมบ้านเรือนที่เสียหาย หรือซื้อของใช้จำเป็นใหม่ ทำให้ยิ่งซ้ำเติมหนี้สินและปัญหาทางการเงิน ปัญหาเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าน้ำท่วมไม่ได้เป็นเพียงภัยธรรมชาติ แต่เป็นภัยที่คุกคามความมั่นคงทางเศรษฐกิจและรายได้ของผู้คนโดยตรง ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ลำบากขึ้นอย่างมากค่ะ 10. ผลกระทบทางจิตใจและภาวะเครียด การต้องเผชิญกับน้ำที่ท่วมเข้ามาในบ้าน ทำให้เราต้องรีบขนย้ายข้าวของ ทั้งยังต้องกังวลว่าทรัพย์สินจะเสียหายแค่ไหน หรือต้องจากบ้านไปอยู่ศูนย์พักพิงชั่วคราว ความไม่แน่นอนเหล่านี้สร้างความกังวลและความเครียดอย่างมหาศาล บางคนอาจสูญเสียทุกอย่างที่เคยมี ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล หรือแม้แต่ภาวะเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจได้ง่ายๆ ยิ่งไปกว่านั้นการที่ต้องรับมือกับความเสียหาย การต้องซ่อมแซมบ้าน หรือการขาดรายได้ ก็ยิ่งเพิ่มแรงกดดันทางจิตใจ ทำให้เห็นว่าน้ำท่วมไม่ใช่แค่ภัยธรรมชาติ แต่เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบถึงจิตใจและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนอย่างลึกซึ้งค่ะ 11. มักเกิดปัญหาความมั่นคงทางอาหารและน้ำดื่ม ทุกวันนี้ที่เราเห็นข่าวฝนตกหนัก น้ำท่วมในหลายพื้นที่ ไม่ใช่แค่เรื่องของความเสียหายทางทรัพย์สินหรือการเดินทางที่ติดขัดเท่านั้นนะคะ แต่ยังมีภัยเงียบที่ร้ายแรงกว่านั้น นั่นคือ ปัญหาความมั่นคงทางอาหารและน้ำดื่ม ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตประจำวันของเรา เมื่อน้ำท่วมพื้นที่เกษตรกรรม ผลผลิตเสียหายยับเยิน ไม่ว่าจะเป็นข้าว พืชผัก หรือผลไม้ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารหลักของเรา สิ่งเหล่านี้จะขาดแคลนและราคาแพงขึ้นทันที ทำให้คนทั่วไปมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จะให้เห็นว่า ภัยธรรมชาติอย่างน้ำท่วมและฝนตกหนัก กำลังทวีความรุนแรงขึ้น และเป็นสัญญาณเตือนว่าเราทุกคนต้องตระหนักและเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบที่จะตามมา ที่ไม่ใช่แค่การรับมือแบบเฉพาะหน้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอนาคตของอาหารและน้ำดื่มของเราด้วยค่ะ ก็จบแล้วค่ะ กับปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงที่มีฝนตกหนักและทำให้มีน้ำท่วมขังนะคะ โดยหลายคนอาจสงสัยว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่าปัญหาอะไรจะตามมาบ้าง? จริง ๆ แล้ว การที่เราเข้าใจบริบทของพื้นที่เป็นเรื่องสำคัญมากค่ะ ลองนึกภาพตามคะว่า ถ้าเราอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มใกล้แม่น้ำ โอกาสที่น้ำจะท่วมหนักและนานย่อมสูงกว่าพื้นที่ที่อยู่บนที่สูง หรือหากเราอยู่ในพื้นที่เกษตรกรรม การเกิดน้ำท่วมก็จะส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรโดยตรง ทำให้เกิดปัญหาความมั่นคงทางอาหารตามมาได้ ในขณะที่ชุมชนเมืองใหญ่ ปัญหาน้ำท่วมอาจจะส่งผลให้ระบบขนส่งหยุดชะงัก การเดินทางเป็นอัมพาต หรือระบบสาธารณูปโภคเสียหาย เช่น ไฟดับ น้ำไม่ไหล ซึ่งกระทบต่อความมั่นคงทางน้ำดื่ม และการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก นอกจากนี้สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปก็มีส่วนสำคัญ การติดตามข่าวสารพยากรณ์อากาศและข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะช่วยให้เราเห็นภาพรวมของความเสี่ยงในพื้นที่ของเราได้ชัดเจนขึ้นค่ะ ซึ่งการรู้ว่าปัญหาอะไรจะเกิดขึ้นบ้างจากการเกิดน้ำท่วมและฝนตกหนักนั้น ไม่ใช่แค่ช่วยให้เราเตรียมตัวรับมือได้ทันท่วงทีเท่านั้น แต่ยังช่วยลดความเสียหายและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้อีกด้วยค่ะ ลองคิดดูว่าถ้าเราเป็นเกษตรกร การรู้ว่าน้ำจะท่วมหนักและนาน อาจจะทำให้เราเก็บเกี่ยวผลผลิตที่พอจะเก็บได้ก่อน หรือวางแผนการเพาะปลูกใหม่ให้สอดคล้องกับสภาพอากาศในอนาคต หรือถ้าเราเป็นคนเมือง การรู้ว่าระบบประปาอาจจะได้รับผลกระทบ ก็ทำให้เราเตรียมกักตุนน้ำสะอาดไว้ใช้ หรือหาแหล่งน้ำสำรอง การรู้ล่วงหน้ายังช่วยให้เราสามารถแจ้งเตือนคนในชุมชน ให้เตรียมพร้อมอพยพหรือหาทางป้องกันความเสียหายได้ ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยลดความตื่นตระหนก ความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน และทำให้เราทุกคนสามารถฟื้นตัวจากสถานการณ์วิกฤตได้เร็วขึ้นค่ะ ซึ่งการเตรียมพร้อมและเข้าใจสถานการณ์ จึงเป็นหัวใจสำคัญในการอยู่ร่วมกับภัยธรรมชาติอย่างชาญฉลาดค่ะ ซึ่งในเรื่องนี้นั้นผู้เขียนก็ได้นำมาคิดและตระหนักด้วยเหมือนกันค่ะ ต้ังแต่วางแผนการใส่ปุ๋ยผลผลิตทางการเกษตร เพราะถ้ามีน้ำฝนตกมามาก ก็จะเกิดการชะล้างปุ๋ยไปโดยเปล่าประโยชน์นะคะ อย่างไรก็ตามในประเด็นอื่นๆ สำหรับที่นี่ยังไม่ได้มีปัญหามากค่ะ ขยะที่ถูกพัดมากับน้ำฝนไหลนองก็มีบ้าง แต่ในชุมชนยังสามารถจัดการได้ค่ะ แต่ก็จะมีพื้นที่แถวๆ ปั๊ม ปตท. ค่ะ ที่ความลาดเอียงจะต่ำมาก เมื่อเทียบที่ตั้งบ้านของผู้เขียน ทำให้เวลาฝนตกหนักจุดนี้การจราจรจะหยุดชะงักบ่อย ที่รอจนกว่าระดับน้ำจะลดลง รถบนท้องถนนถึงจะวิ่งได้ตามปกติค่ะ ยังไงนั้นลองอ่านทำความเข้าใจดีๆ อีกสักรอบได้ค่ะ อย่างน้อยจะได้มองเห็นภาพมากขึ้น ด้วยความตั้งใจ ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับคุณผู้อ่านไม่มากก็น้อย หากสนใจเนื้อหาเช่นนี้อีก อย่าลืมกดติดตามหรือบุ๊กมาร์กโปรไฟล์ไว้ เพื่อรับข้อมูลใหม่ๆ ในบทความต่อไป และถ้าต้องการอ่านบทความทั้งหมดโดยผู้เขียน ให้กดดูโปรไฟล์ได้เลยค่ะ เครดิตรูปภาพประกอบบทความ รูปภาพทำหน้าปก โดย Chris Gallagher จาก Unsplash และออกแบบหน้าปกโดยผู้เขียน ใน Canva รูปภาพประกอบเนื้อหา: ภาพที่ 1 โดย Cristina_gottardi จาก FREEPIK, ภาพที่ 2 โดย Freepik จาก FREEPIK และภาพที่ 3-4 โดยผู้เขียน เกี่ยวกับผู้เขียน ภัคฒ์ชาลิสา จำปามูล จบการศึกษา: พยาบาลศาสตรบัณฑิต จากวิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม กระทรวงสาธารณสุข และสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต (อนามัยสิ่งแวดล้อม) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความสนใจและประสบการณ์เกี่ยวกับ: สุขภาพ จิตวิทยาเชิงบวก การบำบัดน้ำเสียและกำจัดสิ่งปฏิกูล 9 แนวทางป้องกันแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำ ไม่ให้ประสบปัญหาน้ำเสีย 9 ผลกระทบความมั่นคงทางอาหาร จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 9 สาเหตุของปัญหาผักตบชวา ในแหล่งน้ำลำคลอง ตามธรรมชาติ เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !