LHFG ยืนยันไต้หวันลงทุนไทย คงเป้าพอร์ตสินเชื่อโต 8-10%
LHFG ยืนยันนักธุรกิจไต้หวันคงแผนลงทุนในไทย โดยเฉพาะอิเล็กทรอนิกส์, EV Supply Chainแม้ระยะสั้นชะลอเม็ดเงินลงทุนรอความชัดเจนนโยบายภาครัฐ ด้าน LH BANK เดินหน้ารุก Digital Lending อย่างเต็มรูปแบบ คงเป้าพอร์ตสินเชื่อโต 8-10%
นายฉี ชิง-ฟู่ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ LHFG เปิดเผยว่า นักลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศไต้หวันยังคงแผนการย้ายฐานการผลิตเข้ามาในไทย โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic), แมคคานิค (Mechanic), EV Supply Chain, Automobile เป็นต้น แม้ระยะสั้นผู้ประกอบการจะชะลอเม็ดเงินลงทุนเพื่อรอความชัดเจนทางนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่
“เท่าที่ดูในขณะนี้ แม้ว่าจะปัจจัยทางการเมืองจะยังมีความไม่แน่นอน แต่ธุรกิจจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยก็ยังคงโครงการเดิมไว้อยู่ ซึ่งเม็ดเงินลงทุนที่จะเข้ามาอาจจะยังชะลอไปบ้างเพื่อรอความชัดเจนทางการเมือง"
ซึ่งประเทศไทยยังคงเป็นเป้าหมายของเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ เพราะมีโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภคที่พร้อม มีแรงงานคุณภาพ รวมถึงทำเลที่ตั้งของไทยเอื้อต่อการส่งสินค้าไปยังประเทศคู่ค้าทั่วโลก ขณะที่การเศรษฐกิจก็ยังมีการเติบโตต่อเนื่อง
โดยกลุ่ม LHFGยังคงคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2566 ที่ราว 3.6-3.7% หนุนจากภาคท่องเที่ยว และบริการรวมถึงการส่งออกที่จะเริ่มฟื้นตัวได้ดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 (2H/66) ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว ภาวะเงินเฟ้อในหลายประเทศเริ่มผ่อนคลายลง
คงเป้าสินเชื่อโต 8-10%
นางสาวชมพูนุช ปฐมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH BANK เปิดเผยว่า ในปี 2566 นี้ ธนาคารยังคงเป้าหมายการดำเนินธุรกิจตามเป้าหมายเดิม โดยอัตราการเติบโตของสินเชื่อที่ 8-10%, รายได้ดอกเบี้ยเติบโต 10-12%, ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ที่ 2.3-2.4% โดยจะรักษาสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ไว้ไม่ให้เกิน 2.5% และรักษาอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ (Cost to Income Ratio) ไว้ให้น้อยกว่า 45%
ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ธนาคารมีแผนที่จะเปิดตัว Digital Lending อย่างเต็มรูปแบบผ่าน Mobile Application LH YOU ภายในเดือนนี้เพื่อขยายฐานลูกค้าสินเชื่อบุคคลโดยตั้งเป้าหมายการปล่อยกู้ปีนี้ที่ 1,000 ล้านบาท จากปัจจุบันมีการปล่อยสินเชื่อผ่านช่องทางปกติไปแล้ว 100 ล้านบาท ซึ่งการเพิ่มช่องทางเข้าถึงที่มากขึ้นจะสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อปีนี้ทำได้ตามเป้า
รวมถึงเน้นเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียม โดยพัฒนาระบบด้าน Trade Finance รองรับการเศรษฐกิจฟื้นตัวในอนาคต โดยคาดว่าในอีก 1-2 ปีข้างหน้าการพัฒนาระบบจะเทียบเท่าธนาคารขนาดใหญ่ได้ และเน้นการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน พร้อมกันนี้ ยังคงเดินหน้ารุกเข้าสู่สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยสูง (High Yield), และสินเชื่อบ้านอย่างต่อเนื่อง
*เพิ่มพอร์ตรายย่อย
“สินเชื่อในช่วงครึ่งปีแรกที่เติบโต 4.8% ยังต่ำกว่าเป้าหมาย แต่เราก็ยังพยายามที่จะทำให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ไปพร้อมๆ กับการปล่อยกู้อย่างระมัดระวังโดยการเติบโตของสินเชื่ออาจจะมีแนวโน้มในทางกรอบล่างมากกว่า พร้อมกันนั้น ยังคงมุ่งปรับความสมดุลของโครงสร้างพอร์ตสินเชื่อโดยเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อรายย่อยอย่างต่อเนื่องจากปัจจุบัน 20% เป็น 30%ในอีก 4 ปีข้างหน้า"
สำหรับผลการดำเนินงานของธนาคารช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 ธนาคารมีกำไรจากการดำเนินงานสุทธิจำนวน 943.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 119% YoY จากการเติบโตดีของรายได้ดอกเบี้ย รวมถึงการควบคุมและบริหารต้นทุนและค่าใช้จ่าย และบริหารความเสี่ยงได้ดี ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ(NIM) เพิ่มขึ้น 15.5%
และธนาคารได้ตั้งสำรองค่าใช้จ่ายผลขาดทุนด้านเครดิตจำนวน 1,011 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 24% ซึ่งธนาคารยังคงตั้งสำรองตามหลักความระมัดระวังเพื่อรองรับการขยายตัวของสินเชื่อ และรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือลูกค้า ส่งผลให้ธนาคารมีอัตราส่วนสำรองต่อสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (Coverage Ratio) ที่แข็งแกร่งที่ 229%
ขณะที่อัตราส่วนสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) อยู่ที่ 2.3%สำหรับด้านเงินกองทุนยังคงมีอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 15.8%อยู่ในระดับที่สูงกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด