รีเซต

หนูผีช้าง ถูกพบอีกครั้งในแอฟริกา หลังไม่มีผู้พบเห็นนาน 50 ปี

หนูผีช้าง ถูกพบอีกครั้งในแอฟริกา หลังไม่มีผู้พบเห็นนาน 50 ปี
ข่าวสด
19 สิงหาคม 2563 ( 10:42 )
181
หนูผีช้าง ถูกพบอีกครั้งในแอฟริกา หลังไม่มีผู้พบเห็นนาน 50 ปี

หนูผีช้าง ถูกพบอีกครั้งในแอฟริกา หลังไม่มีผู้พบเห็นนาน 50 ปี - BBCไทย

  • เฮเลน บริกกส์
  • ผู้สื่อข่าวสิ่งแวดล้อมบีบีซี

 

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่น้อยคนนักจะรู้จัก ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับช้างแต่ว่ามีขนาดเล็กเท่ากับหนู ถูกค้นพบอีกครั้งในแอฟริกา หลังจากไม่มีผู้พบเห็นมานาน 50 ปี

 

บันทึกทางวิทยาศาสตร์ครั้งสุดท้ายของหนูผีช้าง "สายพันธุ์ที่สูญหายไป" อยู่ในช่วงทศวรรษ 1970 แม้ว่าคนในพื้นที่จะพบเห็นสัตว์เหล่านี้อยู่

สิ่งมีชีวิตชนิดนี้ถูกพบว่า ยังมีชีวิตอยู่เป็นอย่างดีในจิบูตี ประเทศที่อยู่บริเวณจะงอยแอฟริกา ระหว่างการสำรวจทางวิทยาศาสตร์

 

  • หนูผีช้างอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความแห้งแล้งและเป็นหิน / HOUSSEIN RAYALEH

 

หนูผีช้าง หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เซงกิส (sengis) ไม่ใช่ทั้งช้างและไม่ใช่ทั้งตัวชรู (Shrew) ซึ่งเป็นสัตว์กินแมลงที่มีลักษณะคล้ายหนู แต่ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับ อาร์ดวาร์ก (aardvark) ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ชนิดหนึ่งที่หากินเวลากลางคืน กินมดและปลวกเป็นอาหาร, ช้าง และมานาตี (manatee) ซึ่งเป็นพะยูนในวงศ์ที่มีหางกลม

 

หนูผีช้าง มีจมูกที่มีลักษณะคล้ายงวงช้างใช้ในการจับแมลงกินเป็นอาหาร

หนูผีช้างมีทั้งหมด 20 สายพันธุ์ในโลก และหนูผีช้างโซมาเลีย (Somali sengi หรือ Elephantulus revoilii) เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่ลึกลับที่สุด เป็นที่รู้จักในวงการวิทยาศาสตร์จากตัวอย่าง 39 ตัวที่เก็บมาได้หลายสิบปีก่อนและถูกเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์หลายแห่ง หนูผีช้างสายพันธุ์นี้ ก่อนหน้านี้พบแต่ในโซมาเลียเท่านั้น มันจึงถูกเรียกชื่อว่า หนูผีช้างโซมาเลีย

 

หนูผีช้างมีขนาดเล็กมากจนวางบนฝ่ามือของคุณได้ / STEVEN HERITAGE

 

สตีเวน เฮอริเทจ นักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานวิจัยที่ศูนย์ลีเมอร์ (Lemur Center) มหาวิทยาลัยดยุค (Duke University) ในรัฐนอร์ทแคโรไลนาของสหรัฐฯ และสมาชิกของทีมสำรวจจะงอยแอฟริกาในปี 2019 กล่าวว่า เขาตื่นเต้นมากที่ทำให้สัตว์สายพันธุ์นี้ "กลับมาอยู่ในความสนใจของผู้คน" อีกครั้ง

 

เขากล่าวกับบีบีซีว่า "เราตื่นเต้นและมีความสุขมาก ตอนที่เราเปิดกับดักแรกและพบตัวหนูผีช้างโซมาเลียอยู่ข้างใน"

"เราไม่รู้ว่า เคยมีสายพันธุ์ไหนอยู่ในจิบูตีบ้าง แต่ตอนที่เราเห็นหางเป็นพู่เล็ก ๆ ซึ่งเป็นลักษณะที่ใช้ในการระบุว่าเป็นสายพันธุ์นี้ เรามองหน้ากันแล้วก็รู้เลยว่า มันเป็นอะไรที่พิเศษมาก"

 

นักวิทยาศาสตร์รู้ว่ามีรายงานการพบเห็นสัตว์สายพันธุ์นี้ในจิบูตีมาก่อน และฮุสเซน รายาเลห์ นักอนุรักษ์และนักนิเวศวิทยาที่ทำการวิจัยชาวจิบูตี ซึ่งร่วมสำรวจในครั้งนี้ด้วย เชื่อว่า เขาเคยเห็นสัตว์ชนิดนี้มาก่อน

 

เขาบอกว่า แม้ว่าคนที่อาศัยอยู่ในจิบูตีไม่ได้คิดว่าหนูผีช้างโซมาเลีย "สูญหาย" ไปไหน แต่งานวิจัยใหม่ที่นำสัตว์สายพันธุ์นี้กลับมาสู่แวดวงวิทยาศาสตร์อีกครั้งก็เป็นงานวิจัยที่มีคุณค่า

 

เขากล่าวว่า "สำหรับจิบูตี นี่คือเรื่องที่สำคัญที่เน้นย้ำให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศและภูมิภาคนี้ ทั้งยังแสดงให้เห็นว่า มีโอกาสมากมายสำหรับงานวิจัยและงานทางวิทยาศาสตร์ใหม่ ๆ ที่นี่"

 

ล่อด้วยเนยถั่ว

ทีมงานได้ติดตั้งกับดักมากกว่า 1,000 อันตามพื้นที่ต่าง ๆ 12 แห่ง โดยใช้เนยถั่วผสมกับข้าวโอ๊ตบดหยาบและยีสต์ หนึ่งในหนูผีช้างที่ติดกับอยู่ในกับดักแรกที่ติดตั้งในพื้นที่ที่แห้งแล้งและเป็นหินในจิบูตี

 

รวมแล้ว พวกเขาพบหนูผีช้างทั้งหมด 12 ตัว ระหว่างการสำรวจนี้ และสามารถถ่ายภาพและวิดีโอหนูผีช้างโซมาเลียที่ยังมีชีวิตอยู่เก็บเป็นบันทึกอ้างอิงทางวิทยาศาสตร์ได้เป็นครั้งแรกด้วย

 

นักวิทยาศาสตร์ไม่พบเห็นภัยคุกคามใด ๆ ในขณะนี้ที่มีต่อถิ่นที่อยู่ของหนูผีช้างโซมาเลีย ซึ่งอยู่ห่างไกลจากพื้นที่ทำการเกษตร และการพัฒนาของมนุษย์เข้าไม่ถึง

 

จิบูตีมีความหลากหลายทางชีวภาพมาก / STEVEN HERITAGE

 

ความอุดมสมบูรณ์ของหนูผีช้างโซมาเลียดูเหมือนจะคล้ายคลึงกับหนูผีช้างสายพันธุ์อื่น ๆ และนอกจากโซมาเลียและจิบูตีแล้ว มันอาจจะอาศัยอยู่ในเอธิโอเปียด้วย

 

หนูผีช้างโซมาเลีย เป็นหนึ่งในสัตว์ "สายพันธุ์ที่สูญหายไปและเป็นที่ต้องการพบมากที่สุด" 25 สายพันธุ์ ขององค์กรอนุรักษ์สัตว์ป่าโลก (Global Wildlife Conservation)

 

โรบิน มัวร์ กล่าวว่า "ปกติแล้วเมื่อเราพบเจอสัตว์สายพันธุ์ที่สูญหายไปอีกครั้ง เราจะพบแค่ 1 หรือ 2 ตัว และจะต้องรีบดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อพยายามป้องกันไม่ให้พวกมันสูญพันธุ์"

 

"นี่คือการค้นพบซ้ำที่ยอดเยี่ยมและน่ายินดีมาก ในช่วงที่โลกเราเผชิญกับความวุ่นวาย และเป็นการค้นพบที่ทำให้เรามีความหวังว่าจะพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กสายพันธุ์อื่น ๆ ในบัญชีที่เราต้องการพบตัวมากที่สุด อย่างตัวตุ่นสีทองเดอวินตัน (DeWinton's golden mole) ซึ่งเป็นญาติกับหนูผีช้างโซมาเลีย และตัวคลาวด์รันเนอร์เกาะอีลีน (Ilin Island cloudrunner)"

 

ปริศนาใหม่

การวิเคราะห์ดีเอ็นเอพบว่าหนูผีช้างโซมาเลียมีความใกล้ชิดกับหนูผีช้างสายพันธุ์อื่น ๆ ที่พบในโมร็อกโกและแอฟริกาใต้มากที่สุด ทำให้มันได้รับการตั้งชื่อสกุลใหม่

 

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดนี้อาศัยอยู่กระจัดกระจายในพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลมาเป็นเวลานาน ทิ้งปริศนาใหม่ให้นักชีววิทยาได้ขบคิดว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร

นักวิทยาศาสตร์วางแผนว่าจะออกเดินทางสำรวจอีกครั้งในปี 2022 เพื่อดูว่า หนูผีช้างแต่ละตัวที่ติดแท็กวิทยุระบุตำแหน่ง มีพฤติกรรมและความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติอย่างไร

 

เคลซีย์ นีม จากองค์กรอนุรักษ์สัตว์ป่าโลก กล่าวเพิ่มเติมว่า "การค้นพบว่า หนูผีช้างโซมาเลียมีอยู่ในป่า เป็นขั้นแรกของการอนุรักษ์ เรารู้แล้วว่ามันมีชีวิตรอด ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์และนักอนุรักษ์จะต้องทำให้มันไม่สูญหายไปอีกครั้ง"

 

งานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารเพียร์ เจ (Peer J.)