รีเซต

สหรัฐฯ ลดค่าเช่าที่ดินสาธารณะลง 50% เพื่อจูงใจให้สร้างโซลาร์ฟาร์มกับกังหัน

สหรัฐฯ ลดค่าเช่าที่ดินสาธารณะลง 50% เพื่อจูงใจให้สร้างโซลาร์ฟาร์มกับกังหัน
TNN ช่อง16
6 มิถุนายน 2565 ( 16:00 )
57
สหรัฐฯ ลดค่าเช่าที่ดินสาธารณะลง 50% เพื่อจูงใจให้สร้างโซลาร์ฟาร์มกับกังหัน

การก่อสร้างและเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานสะอาดในแต่ละประเทศนั้นขึ้นอยู่กับมาตรการส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลด้วยเช่นกัน โดยในประเทศสหรัฐอเมริกาเองก็มีนโยบายจากภาครัฐหลายประการ และการประกาศลดค่าธรรมเนียมในการเช่าพื้นที่รวมถึงค่าธรรมเนียมการก่อสร้างโรงผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมก็เป็นหนึ่งในมาตรการล่าสุดเช่นกัน


เมื่อปีที่แล้ว สำนักบริหารจัดการที่ดินของสหรัฐฯ (US Bereru of Land Management: BLM) อนุมัติการก่อสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์ไปแล้วกว่า 2.85 กิกะวัตต์ (GW) ซึ่งเพิ่มจากปี 2020 กว่า 35% และในปีนี้ กระทรวงมหาดไทยของสหรัฐฯ (Department of Interior) จึงออกมาตรการจูงใจเพิ่มการผลิตพลังงานสะอาดด้วยการหั่นค่าธรรมเนียมในการเช่าและก่อสร้างบนที่ดินลงไปอีก 50%


โจ ไบเดน (Joe Biden) ตั้งเป้าหมายให้สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ไม่พึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (Net-zero Economy) ภายในปี 2050 ดังนั้นกระทรวงมหาดไทยของสหรัฐฯ จึงมีนโยบายขับเคลื่อนการผลิตด้วยการเพิ่มการอนุญาตใช้งานที่ดินเพื่อการพัฒนาโซลาร์ฟาร์มและกังหันลมอีกอย่างน้อย 25,000 เมกะวัตต์ (Megawatt) ซึ่งใกล้เคียงกับพลังงานไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติที่ไทยผลิตที่ประมาณ 28,000 เมกะวัตต์ (Megawatt) ภายในปี 2025 


การประกาศนโยบายในครั้งนี้เกิดขึ้นที่ลาส เวกัส มลรัฐเนวาดา ภายหลังที่เด็บ ฮาแลนด์ (Deb Haaland) และผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐฯ หารือร่วมกับภาคเอกชนและประชาสังคมในการผลักดันการผลิตพลังงานสะอาดในสหรัฐฯ 


ค่าธรรมเนียมที่จะลดนั้นเป็นส่วนของค่าธรรมเนียมในการเช่าที่ดินสำหรับการขอปลูกสร้างโรงผลิตกระแสไฟฟ้า และค่าธรรมเนียมในการจัดเก็บเพื่อก่อสร้างซึ่งคิดตามขนาดกำลังการผลิตในหน่วยเมกะวัตต์ (Megawatt) ของโรงผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งทางรัฐบาลกลางสหรัฐฯ เชื่อว่าการลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ลงไป 50 เปอร์เซ็นต์จะช่วยกระตุ้นการก่อสร้างโซลาร์ฟาร์มและกังหันลมเพิ่มเติมได้


สำนักงานบริหารจัดการที่ดินของสหรัฐฯ (BLM) ให้ข้อมูลว่าผู้ผลิตจะต้องใช้พื้นที่อย่างน้อย 8.5 เอเคอร์ (Acres) หรือประมาณ 25.5 ไร่ ในการสร้างโซลาร์ฟาร์มขนาด 1 เมกะวัตต์ (Megawatt) ดังนั้น ค่าเช่าที่ดินสำหรับการสร้างพลังงานทดแทนจึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อต้นทุนการผลิตซึ่งมาตรการนี้จะช่วยลดต้นทุนส่วนนี้อย่างเห็นได้ชัด


เทรซี่ สโตน-แมนนิ่ง (Tracy Stone-Manning) ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารจัดการที่ดินสหรัฐฯ กล่าวว่านโยบายนี้จะช่วยสนับสนุนระบบเศรษฐกิจด้านพลังงานที่สะอาดพร้อมกับสร้างงานและรายได้ให้กับประชาชน เพิ่มความมั่นคงทางพลังงานและลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจกภายในสหรัฐฯ ได้อีกด้วย


ที่มาข้อมูล electrek.co

ที่มารูปภาพ Pixabay


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง