รีเซต

พท.ดันแคมเปญ ”ตามหามีชัย” มือร่างรธน.60 จี้ 48ส.ว.เปิดหน้า ดอดยื่นศาลตีความตั้งสสร.

พท.ดันแคมเปญ ”ตามหามีชัย” มือร่างรธน.60 จี้ 48ส.ว.เปิดหน้า ดอดยื่นศาลตีความตั้งสสร.
มติชน
9 พฤศจิกายน 2563 ( 08:04 )
89

กรณีสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)จะลงชื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ญัตติการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับในสภานั้นชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย (พท.) ว่า ส.ว.กลุ่มนี้อย่าช้า ต้องไปให้สุด เปิดหน้ามาเลยว่ามี ส.ว.กี่คนที่จะลงชื่อ ประชาชนคนในสังคมจะได้รู้กันชัดๆ ไปเลย บ้านเมืองกำลังวางอยู่บนปากเหวแต่ ส.ว.กลุ่มนี้กลับพยายามจะราดน้ำมันเข้ากองไฟ ทำให้ประชาชน เยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา ได้เห็นรากที่มาของ ส.ว.เหล่านี้ว่าเป็นใครมาจากไหน ถึงไม่เห็นหัวประชาชนหรือเป็นเพราะมาจากผลผลิตของเผด็จการที่สืบทอดอำนาจ จึงรังแต่จะหวงอำนาจและสวัสดิการในการได้เป็น ส.ว.แบบสบายๆ แบบไม่เคยสัมผัสความเดือดร้อนของประชาชน ทั้งนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากรัฐธรรมนูญที่วางแผนสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี วันนี้ ส.ว.ควรช่วยกันหาทางออกให้สมกับคำว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้วยการออกมาลงนามทำสัตยาบันว่าในระหว่างการแก้รัฐธรรมนูญหากมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีอีก ส.ว.ทั้งหมดจะไม่โหวตเลือกนายกฯ

 

“เพื่อความสง่างามและเกียรติยศ ศักดิ์ศรีที่มีมานานของคนเป็น ส.ว.อย่าให้โลกและประวัติศาสตร์ชาติไทยต้องบันทึกไว้เลยว่า ส.ว.ยุคนี้ คือ ส.ว.ยุคทาสเผด็จการสืบทอดอำนาจ ประชาชนจำนวนมากฝากมาว่า พวกเขาอยากจัดแคมเปญ ตามหามีชัย…ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดีไซน์มาเพื่อพวกเราเพราะวันนี้อยากทราบเหตุผลนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2560 อยากให้ออกมาชี้แจงกับสังคมว่าเขียนอย่างไร ทำไมถึงทำให้ประเทศไทยเดินทางมาถึงวันนี้ได้ ประชาชนอยากฟังว่าวันนี้รัฐธรรมนูญบังคับใช้มาจะเข้าสู่ปีที่ 4 นายมีชัยคิดอย่างไร มีข้อเสียอย่างไร ร่างมาโดยมีการศึกษาถึงผลกระทบหรือไม่ โดยเฉพาะการเขียนให้ ส.ว.แต่งตั้งจาก คสช.ไปโหวตเลือกนายกฯได้” นายจิรายุกล่าว

 

ด้าน นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ส.ว.กล่าวถึงกรณี ส.ว.ล่าชื่อเพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ฉบับของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ว่า ส.ว.ได้เข้าชื่อกันยื่นญัตติต่อประธานรัฐสภาให้บรรจุเป็นวาระเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา เพื่อขอมติเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภาให้ส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับเท่านั้นคือ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ของฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้านที่ให้ตั้ง ส.ส.ร.มายกร่างใหม่ทั้งฉบับ และร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ที่มีเนื้อหาทำนองเดียวกัน จะมีเนื้อหาขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะมาตรา 255-256 รัฐธรรมนูญปี 2560 ระบุให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้เท่านั้น ไม่สามารถยกร่างใหม่ทั้งฉบับได้ ดังนั้น เพื่อความสบายใจ จึงต้องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ทั้งนี้ เท่าที่ทราบขณะนี้ ส.ว.ได้เข้าชื่อครบตามจำนวนที่จะยื่นญัตติครบถ้วนแล้ว อยู่ระหว่างส่งให้ประธานรัฐสภาบรรจุเป็นวาระเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา ยังไม่ทราบจะบรรจุญัตติได้เมื่อไร ถ้าบรรจุวาระเข้าสู่สภาแล้ว และที่ประชุมรัฐสภามีมติเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งให้ส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา

 

“ไม่ใช่การถ่วงเวลาแก้รัฐธรรมนูญ แต่เป็นการทำงานคู่ขนานกันไป เพราะการพิจารณารับหรือไม่รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 17 พฤศจิกายน ยังเดินหน้าต่อไป ถ้าที่ประชุมมีมติรับหลักการ ก็จะพิจารณาวาระ 2-3 ระหว่างนั้น ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญว่าขัดกฎหมายหรือไม่ควบคู่ไปด้วย ถ้าศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญถือว่าจบเรื่อง แต่ถ้าขัดรัฐธรรมนูญต้องพักเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญไว้ก่อน เพื่อไปหาทางแก้ไข กรณีนี้ไม่ใช่การยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยตรงตามที่นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว.ระบุเพราะอาจเข้าใจคลาดเคลื่อน แต่เป็นการยื่นเรื่องผ่านรัฐสภา ต้องให้ที่ประชุมรัฐสภาเห็นชอบก่อนจึงจะดำเนินการได้” นายดิเรกฤทธิ์กล่าว

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ ส.ว.ที่เข้าชื่อยื่นญัตติเพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ มี 48 คน ได้ยื่นญัตติต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา อยู่ระหว่างรอให้นายชวนบรรจุวาระเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาต่อไป