รีเซต

เกาหลีใต้จับมือสหรัฐฯ ซ้อมยิงขีปนาวุธต้านการยั่วยุเกาหลีเหนือ

เกาหลีใต้จับมือสหรัฐฯ ซ้อมยิงขีปนาวุธต้านการยั่วยุเกาหลีเหนือ
TNN ช่อง16
6 มิถุนายน 2565 ( 10:53 )
102
เกาหลีใต้จับมือสหรัฐฯ ซ้อมยิงขีปนาวุธต้านการยั่วยุเกาหลีเหนือ

การยิงขีปนาวุธของสหรัฐฯ และเกาหลีใต้จำนวน 8 ลูก เกิดขึ้นในช่วงเช้ามืดวันจันทร์นี้ (6 มิถุนายน) มีขึ้นเพื่อแสดงพลังของสองชาติพันธมิตรว่า มีความพร้อมในการตอบโต้การยั่วยุของเกาหลีเหนือ หลังเกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธพิสัยใกล้ 8 ลูกมุ่งไปทางชายฝั่งตะวันออกของประเทศ ซึ่งบรรดาผู้เชี่ยวชาญระบุว่า นี่คือการทดสอบขีปนาวุธครั้งใหญ่สุดในรอบเดียวของเกาหลีเหนือ


แถลงการณ์ของเสนาธิการทหารร่วมเกาหลีใต้ระบุว่า เกาหลีใต้และสหรัฐฯยิงขีปนาวุธ 8 ลูกไปในทะเลตะวันออก เมื่อเวลา 04.45 น. โดยใช้เวลาราว 10 นาที มีเป้าหมายเพื่อแสดงให้เห็นถึงแสนยานุภาพและความพร้อมในการยิงโจมตีได้อย่างแม่นยำทันทีต่อต้นทางของการยั่วยุ ตลอดจนหน่วยสั่งการและกองกำลังหนุนของฝ่ายยั่วยุ


แถลงการณ์ยังระบุว่า กองทัพของเราขอประณามอย่างจริงตังที่เกาหลีเหนือยั่วยุด้วยการยิงขีปนาวุธอย่างต่อเนื่อง และขอเรียกร้องอย่างจริจังให้เกาหลีเหนือยุติการกระทำดังกล่าว ที่ทำให้เกิดความตึงเครียดทางการทหารบนคาบสมุทรเกาหลีและนำมาซึ่งความกังวลด้านความมั่นคง


ด้านกระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ยืนยันว่ามีการยิงระบบขีปนาวุธทางยุทธวิธีกองทัพบก 8 ลูกจริง


---ผู้นำใหม่เกาหลีใต้แข็งกร้าวขึ้น---


ประธานาธิบดียุน ซ็อก-ยอล ของเกาหลีใต้ ให้คำมั่นว่าจะใช้ท่าทีที่แข็งกร้าวขึ้นต่อเกาหลีเหนือ และได้ตกลงกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งเดินทางเยือนกรุงโซลเมื่อปลายเดือนที่แล้ว ว่าจะยกระดับการซ้อมรบร่วม โดยทั้งสองชาติเพิ่งเสร็จสิ้นการซ้อมรบทางทะเลเป็นเวลาสามวัน ในน่านน้ำสากลนอกชายฝั่งเกาะโอกินาวาของญี่ปุ่น โดยมีเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯเข้าร่วมซ้อมรบด้วยเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี


ที่ผ่านมา เกาหลีเหนือวิจารณ์การซ้อมรบที่ผ่านมาของสองชาติว่า เป็นตัวอย่างของการมีนโยบายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อเกาหลีเหนือของรัฐบาลสหรัฐฯ แม้ว่ากำลังมีการเจรจาทางการทูตอยู่ก็ตาม


ขณะที่ในปีนี้เกาหลีเหนือยิงทดสอบขีปนาวุธอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่อาวุธความเร็วเหนือเสียง ไปจนถึงขีปนาวุธข้ามทวีป หรือ ICBM เป็นครั้งแรกในรอบเกือบห้าปีด้วยและมีการคาดการณ์ว่าเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา เกาหลีเหนือทดสอบ ICBM ครั้งที่สอง แทบจะทันทีที่ประธานาธิบดีไบเดนเสร็จสิ้นภารกิจเยือนเอเชีย และเดินทางออกจากประเทศญี่ปุ่น


เจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯและเกาหลีใต้ได้เตือนว่า ดูเหมือนเกาหลีเหนือจะพร้อมที่จะกลับมาทดสอบอาวุธนิวเคลียร์แล้ว และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สหรัฐฯ เรียกร้องให้สหประชาชาติคว่ำบาตรเกาหลีเหนือเพิ่มเติม แต่จีนและรัสเซียชิ้ทธิในการวีโตข้อเสนอนี้


---ชาวเกาหลีใต้อยากให้จัดการเด็ดขาด---


ขณะเดียวกัน สำนักข่าว Al Jazeera รายงานว่า แม้ชาวเกาหลีใต้จะมองการทดสอบขีปนาวุธที่บ่อยครั้งของเกาหลีเหนือแบบไม่แยแสนัก แต่ส่วนใหญ่กล่าวว่า พวกเขาต้องการให้ประธานาธิบดียุน ตอบโต้เกาหลีเหนืออย่างจริงจัง และอาจถึงเวลาแล้วที่เกาหลีใต้ต้องพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของตนเอง


Chicago Council on Global Affairs หรือสภาชิคาโกด้านกิจการโลก เผยผลสำรวจในเดือนกุมภาพันธ์พบว่า ชาวเกาหลีใต้มากถึง 71% เห็นด้วยกับการมีอาวุธนิวเคลียร์ของตนเอง หลัก ๆ เป็นเพราะเกาหลีเหนือยังเดินหน้าพัฒนาโครงการอาวุธอยู่ โดยไม่สนมาตรการคว่ำบาตรใด ๆ


แจ ชุนคิม นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยโซกัง กล่าวว่า ตอนนี้เกาหลีเหนือได้พัฒนาอาวุธเชิงยุทธวิธี ที่สามารถใช้ในสนามรบได้ นอกจากนี้ เกาหลีเหนือยังพัฒนายานพาหนะหลายประเภท ตลอดจนขีปนาวุธทั้งพิสัยใกล้และไกล ซึ่งสามารถยิงเข้ามาในเกาหลีใต้ได้ จึงทำให้เกาหลีใต้อยู่ในภาวะเปราะบาง และยังต้องพึ่งพาสหรัฐฯ ในการป้องปราม


---พันธสัญญาของสหรัฐฯ---


ทั้งนี้ สหรัฐฯ มีพันธสัญญาอย่างเป็นการทางการในการช่วยป้องปรามสงคราม นับตั้งแต่ช่วงสงครามเกาหลีระหว่างปี 1950-53 นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังเคยนำอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีมาประจำการบนผืนแผ่นดินเกาหลีใต้ด้วย แต่ถอนออกไปในปี 1991 เพื่อโน้มน้าวให้เกาหลีเหนืออนุญาตให้คณะผู้ตรวจสอบนานาชาติเข้าไปตรวจสอบสถานที่ต่าง ๆในเกาหลีเหนือ


ทำให้ในตอนนั้น สหรัฐฯ ให้คำมั่นว่าจะช่วยปกป้องเกาหลีใต้ เพราะเกาหลีใต้ยอมละทิ้งความต้องการในการมีอาวุธนิวเคลียร์ และลงนามในสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์


อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ระบุว่า มีความคลางแคลงใจเกิดขึ้นในเวลานี้ที่เกาหลีใต้ ว่า “ยุทธศาสตร์ป้องปราม” ของสหรัฐฯ นั้นดีเพียงพอที่จะปกป้องเกาหลีใต้ได้หรือไม่ จากสถานการณ์ที่เกาหลีเหนือยกระดับแสนยานุภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ชาวเกาหลีใต้เริ่มชั่งใจว่า ต้องมีอะไรบางอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การกลับมาประจำการอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ในเกาหลีใต้ หรือการที่เกาหลีใต้พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เอง


นอกจากนี้ ลี ซอง-ยุน ผู้เชี่ยวชาญด้านเกาหลีที่ Tufts University มองว่า ปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครน ยิ่งตอกย้ำทัศนคติเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์ของชาวเกาหลีใต้ เพราะสถานการณ์ในยูเครนเป็นเครื่องเตือนใจว่า ท้ายที่สุด แต่ละประเทศต้องพึ่งพาตนเอง เพราะแม้กระทั่งพันธมิตรที่มีสนธิสัญญาร่วมกัน ยังต้องคิดแล้วคิดอีก ก่อนที่จะส่งคนของตนเอง หรือทหารของตนเองเข้าไปสู่สถานการณ์อันตราย

—————

แปล-เรียบเรียง: ธันย์ชนก จงยศยิ่ง

ภาพ: https://www.aljazeera.com/news/2022/6/6/s-korea-us-fire-eight-missiles-in-response-to-n-korea-tests



ข่าวที่เกี่ยวข้อง