ชาวบ้านบุกถึงตัว! "อุตตม" ลง 5 พัน ไม่ได้ ตอบปมจ่ายต่ออีก 3 เดือน
เราไม่ทิ้งกัน - ชาวบ้าน ถามถึงตัว! "อุตตม" ลงทะเบียน 5 พัน ไม่ได้หลายรอบ ตอบปมจ่ายต่อเดือนถัดไป จาก 3 เดือน ขอไปดูเรื่องงบประมาณก่อน
เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ที่กรมประชาสัมพันธ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศผู้เดินทางมาร้องเรียนเงิน 5,000 บาทจากการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com เป็นวันสุดท้าย มีประชาชนเดินทางมาเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่เช้ามืด
โดยในช่วง 12.00 น. เจ้าหน้าที่แจ้งว่ามีประชาชนเดินทางมาร้องเรียนแล้วกว่า 5,000 ราย และคาดว่าตลอดทั้งวันจะไม่ต่ำกว่า 8,000 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นประชาชนที่ได้รับเอสเอ็มเอส เมื่อวานนี้ว่า ไม่ได้รับสิทธิ์เพราะเป็นเกษตรกร และผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ทั้งที่จริงมีอาชีพอิสระ ได้รับความเดือดร้อน
จากนั้น เวลา 12.30 น. นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ได้เดินทางมาที่จุดตั้งโต๊ะร้องเรียน ซึ่งเป็นการเดินทางมาครั้งแรก นับตั้งแต่มีการเปิดให้รับคำร้อง ตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย. หรือในรอบ 9 วันที่ เพื่อมาพบปะกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ แต่ไม่ได้เงิน 5,000 บาท โดยได้ชี้แจงกับผู้ที่มาร้องเรียนให้ใจเย็นๆ กระทรวงการคลัง พร้อมดูแลทุกคน
จากนั้น มีประชาชนได้เข้ามาสอบถาม โดยถูกระบบตัดสิทธิ์ และต้องการให้ นายอุตตม ยืนยันว่ามีข่าวว่ากระทรวงการคลัง เงินหลวงหมดแล้วจริงหรือไม่ ซึ่งนายอุตตม ขอให้ใจเย็นๆ และเจ้าหน้าที่ได้กันผู้ร้องเรียนออก
นายอุตตม เปิดเผยภายหลังการพบปะกับประชาชนว่า วันนี้ได้มีโอกาสมาเยี่ยมศูนย์รับเรื่อง ของกระทรวงการคลัง สำหรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน และต้องการให้รัฐบาลช่วยดูแลเยียวยา ซึ่งก็มากันหลายกลุ่ม
กระทรวงการคลังได้เปิดทำการมาสักพักใหญ่แล้ว ขอขอบคุณกรมประชาสัมพันธ์ ที่เอื้อเฟื้อใช้สถานที่ วันนี้คิดว่าคนมาอย่างน้อย 7,000-8,000 คน มีทั้งเจ้าหน้าที่กรมประชาสัมพันธ์ กรมกอง ต่างๆช่วยให้คำปรึกษารับเรื่อง ที่ประชาชนมาร้องเรียน
“ผมคิดว่ามาตรการดูแลเยียวยาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะดูแลประชาชนได้ครบทุกกลุ่มครอบคลุมมากที่สุด ดังนั้นการเปิดรับเรื่องก็จะดูว่าเรื่องไหนที่ตรงกับกระทรวงการคลังดูแล เช่น อาชีพอิสระ คลังก็จะดำเนินการช่วยเหลือโดยเร็ว แต่มีบางเรื่องที่เกี่ยวกับกระทรวงอื่นดูแลอยู่ ก็ไม่ต้องห่วง คลังก็จะประสานให้หน่วยงานที่ดูแล ช่วยเหลือประชาชนต่อไป”
นายอุตตม กล่าวว่า คลังจะพยายามช่วยเหลือเต็มที่ เพราะเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยประสบปัญหาโควิด-19 พยายามเตรียมการดีที่สุด และรับเรื่องต่อเนื่อง หวังว่าจะทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชนที่มาร้องเรียนมากที่สุด
การรับร้องเรียนที่กรมประชาสัมพันธ์ เป็นวันสุดท้าย แต่ตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค. ได้ประสานกับธนาคารรัฐ กรุงไทย ออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้จัดพื้นที่ในสาขาทั่วประเทศ รับเรื่องร้องทุกข์ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 29 พ.ค.
ทั้งนี้ สาเหตุเพราะยังพบว่าคนที่มาร้องเรียนส่วนใหญ่มีปัญหาลงทะเบียนแล้วยังเข้าบัญชีไม่ได้ มีการติดขัด มีปัญหาเรื่องของบัญชี ผูกบัญชีพร้อมเพย์ไม่เรียบร้อย ผู้ที่จะช่วยเหลือได้ดีที่สุดคือเจ้าหน้าที่ของธนาคาร จึงต้องการให้ไปที่ธนาคารโดยตรง หากเป็นเรื่องอื่นๆก็ยื่นเรื่องฝากไว้ได้เหมือนกัน รัฐบาลไม่ทอดทิ้งกัน เราจะดูแลไปด้วยกัน
สำหรับการลงทะเบียนจะมีกลุ่มถูกตัดสิทธิ์เยอะหรือไม่ ตอนนี้กระทรวงการคลังประมวลข้อมูลการลงทะเบียนใกล้สิ้นสุดแล้ว พบว่ามีผู้ได้สิทธิ์ 14 ล้านคน การทยอยจ่ายเงินก็เกือบครบ 14 ล้านคนแล้ว หากไม่ได้ 5,000 บาท ของการลงทะเบียนนี้
ก็ต้องไปดูว่าเข้ากับมาตรการอื่นหรือไม่ ก็มีจำนวนมากที่ไม่ได้ 5,000 บาท จากเราไม่ทิ้งกัน แต่ไปได้ 5,000 บาทจากเยียวยาเกษตรกร ซึ่งวันนี้จ่ายเงินเป็นวันแรก บางส่วนอาจจะไปได้รับจากประกันสังคม
สำหรับกลุ่มที่ลงทะเบียนไม่สำเร็จกว่า 1.7 ล้านคน ก็ลงไปดูเป็นรายกรณี ลงไม่สำเร็จด้วยสาเหตุอะไร มีจำนวนมากที่การลงชื่อไม่ตรงกับบัตรประชาชน เราก็จะดูทบทวนอีกครั้งว่ามีเหตุผลอะไร ปัญหาต้องดูเป็นรายกรณีว่าจะได้ 5,000 บาท หรือไม่ ถ้าตรงสิทธิ์ตามเกณฑ์ก็จะได้รับเงิน
“กรณี 1.7 ล้านคนดำเนินการได้เร็วไม่ช้า ซึ่งตอนนี้เหลือแค่ 1.1 ล้านคน เพราะส่วนหนึ่งเป็นหัวหน้าเกษตรกร ซึ่งได้ส่งชื่อไปให้กระทรวงเกษตรดำเนินการทันที ส่วนจะจ่ายเดือนที่ 4-6 หรือไม่ยังตอบไม่ได้ เป็นสถานการณ์ที่ต้องติดตามดูอยู่และเป็นเรื่องที่รัฐบาลตัดสินใจ และดูงบประมาณประกอบด้วย ทำให้ตอบไม่ได้ว่าจะให้ต่อหรือไม่ และจะเป็นการช่วยเหลือรูปแบบไหน”
นายอุตตม กล่าวว่า ตอนนี้นายกรัฐมนตรีสั่งให้ติดตามการเยียวยา มีการตั้งคณะทำงาน 10 ปลัดกระทรวงมาดูแล เราต้องดูเรื่องงบประมาณประกอบด้วย วันนี้มีการใช้เงินจาก พ.ร.ก. เงินกู้ แจกเกษตรกร ใช้เงิน 1.5 แสนล้านบาท
ส่วนโครงการเราไม่ทิ้งกัน 15-16 ล้านคน ใช้เงิน 2.4 แสนล้าน โดยในจำนวนนี้เป็นงบประมาณ 7 หมื่นล้านบาท เป็นเงินกู้จาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1.7 แสนล้านบาท และยังมีอีกส่วนหนึ่งเป็นแรงงาน 10-11 ล้านคนซึ่งประกันสังคมดูแล จะมีคนได้รับความช่วยเหลือ 36 ล้านคนที่รัฐบาลได้ดูแลแล้ว แต่ก็ยังไม่หมด ยังมีบางคนที่ยังไม่เข้าเกณฑ์ของ 3 กลุ่ม
คลังกำลังหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือกลุ่มที่ตกหล่นว่าจะมีมาตรการอะไรที่มาเสริม แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นการแจกเงิน 5,000 บาท (3 เดือน) เช่น กลุ่มชายขอบ กลุ่มเปราะบาง ทาง กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ก็ดูแลอยู่
ซึ่งก็จะช่วยกันดูแล มีจำนวนเป็น 10 กว่าล้านคน ทำให้ทั้งหมดแล้วรัฐบาลดูแลเยียวยาประชาชน 40-50 ล้านคน โดยจะใช้งบประมาณราว 3.5 แสนล้านคนจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ยังเหลือเงินอีก 2 แสนกว่าล้านบาท ในส่วน 6 แสนล้านที่ใช้เยียวยา ก็ต้องเก็บไว้เพื่อดูแลเยียวยาภาคผู้ประกอบการ