สาธิต ยันเชียงใหม่คุมโควิด-19 ได้ มีเตียง ยา เวชภัณฑ์ พร้อมรับมือ 3 เดือน
วันนี้ (10 ธันวาคม 2563) นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความพร้อมสถานบริการสาธารณสุขในการรับมือโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ของ จ.เชียงใหม่ และให้กำลังใจบุคลากรที่ปฏิบัติงาน ที่โรงพยาบาล (รพ.) นครพิงค์ จ.เชียงใหม่ ว่า ผู้ป่วยโควิด-19 จากกรณี จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ขณะนี้มีจำนวน 46 ราย เป็นการลักลอบเข้ามา 17 ราย เข้ามาถูกต้องและเข้าสู่ระบบกักกัน 27 ราย และติดเชื้อในประเทศ 2 ราย สำหรับพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ไม่มีการแพร่ระบาดในพื้นที่มามากกว่า 6 เดือนแล้ว มีเพียง 5 ราย จากกรณี จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ซึ่งลักลอบเข้ามาทั้งหมด
“ด้วยความเชี่ยวชาญและความรวดเร็วของทีมสอบสวนโรค ทำให้ตามผู้สัมผัสได้อย่างครบถ้วน แบ่งเป็น ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 95 ราย ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำมากกว่า 300 ราย ตรวจหาเชื้อแล้ว 3 ครั้ง ไม่พบผู้ใดติดเชื้อ ขณะที่การตรวจคัดกรองเชิงรุกโดยรถเก็บตัวอย่างตรวจหาเชื้อชีวนิรภัยพระราชทาน ตั้งแต่วันที่ 4-9 ธันวาคม 2563 จำนวน 914 ราย ผลเป็นลบทั้งหมด” นายสาธิต กล่าว
นอกจากนี้ นายสาธิต กล่าวว่า ยังมีมาตรการป้องกันควบคุมโรคผู้เดินทางมาจากประเทศเมียนมา ด้วยการขอให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล โดยสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง สแกนไทยชนะ บุคลากรทางการแพทย์ทุกคนเข้มมาตรการป้องกันการติดเชื้อ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เฝ้าสังเกตและดูแลบุคคลที่กลับเข้ามาในพื้นที่ ทราบว่าขณะนี้ฝ่ายความมั่นคงมีการเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่บริเวณชายแดนเพื่อสกัดกั้นการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย บูรณาการตรวจกำกับกิจการหรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด โดยให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการตรวจคัดกรองวัดไข้พนักงานและผู้รับบริการ สนับสนุนทีมสอบสวนโรคในการสืบสวนผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย และส่งเสริมการทำความสะอาดพื้นที่ต่างๆ โดยการจัดบิ๊ก คลีนนิ่ง เดย์ (Big Cleaning Day) ทำให้สถานการณ์ของ
จ.เชียงใหม่ ขณะนี้ไม่มีสัญญาณการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง ถือว่าอยู่ในระดับที่ควบคุมได้แล้วและมีความปลอดภัย
“สำหรับทรัพยากรต่างๆ ทั้งเตียง ยา เวชภัณฑ์ หน้ากากอนามัย ชุด PPE ของ จ.เชียงใหม่ มีความพร้อมรองรับผู้ป่วยประมาณ 3 เดือน โดยมี AIIR 62 เตียง ห้องแยก Isolation Room 69 ห้อง Cohort Ward 369 เตียง ICU 92 เตียง และเครื่องช่วยหายใจ 188 เครื่อง ถือว่าเพียงพอ มีสถานกักกันโรคที่รัฐจัดให้ (Local Quarantine) มีจำนวน 4 แห่งรองรับได้ 1,158 คน สามารถตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการได้ 2,088 ตัวอย่างต่อวัน และพร้อมยกระดับการบริหารจัดการกรณีมีผู้ป่วยจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยประสานมายังส่วนกลางซึ่งมีการสำรองอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ต่างๆ ไว้” นายสาธิต กล่าวและว่า ทั้งนี้ มีความมั่นใจในการทำงานของบุคลากรในการสอบสวนควบคุมโรค แต่ขอให้เพิ่มเติมเรื่องของการช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนว่า ไม่มีการปกปิดข้อมูล หากประชาชนมีข้อสงสัยพบคนลักลอบเข้ามา สามารถแจ้งได้ที่หน่วยงานสาธารณสุข