ชัดเจนสเต็มเซลล์คือยา แพทยสภาพร้อมหนุน

#สเต็มเซลล์ #ทันหุ้น - สบส.- อย.- แพทยสภา - ภาคเอกชน ผนึกกำลัง พัฒนาผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง ดันนวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ ยีนบำบัด เซลล์บำบัด และการวิศวกรรมเนื้อเยื่อ หรือ ATMPs หวังดันไทยเป็น “ศูนย์กลางการแพทย์สมัยใหม่” ด้าน แพทยสภา ยกประกาศรัฐมนตรี สเต็มเซลล์ คือยา พร้อมประกาศหนุนงานวิจัย
นพ.กรกฤช ลิ้มสมมติ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เปิดเผยในการประชุมหัวข้อ “ผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูงกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมบริการสุขภาพ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสุขภาพของประเทศไทย” ว่า “ตลาดผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูงทั่วโลก หรือ ATMPs ในปี 2023 (2566) มีมูลค่ากว่า 11.99 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตเป็น 35.59 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2032 (2575) โดยประเทศไทยมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล่านี้มากกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงโอกาสอันยิ่งใหญ่ในการพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์
ทั้งนี้ สบส. ได้วางยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านการแพทย์และสุขภาพของประเทศไทยในช่วงปี 2568-2577 มุ่งเน้น 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1. เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่งเสริมนวัตกรรมทางการแพทย์และปรับปรุงกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการลงทุน 2. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากร เตรียมความพร้อมด้านระบบนิเวศและพัฒนาผู้เชี่ยวชาญในสาขาการแพทย์ล้ำสมัย 3. ส่งเสริมธุรกิจสุขภาพและ Medical Tourism ดึงดูดนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและพัฒนาบริการที่มีมูลค่าสูง
@โลกพัฒนาด้านเซลล์
ขณะเดียวกันในการประชุมวิชาการนานาชาติ หัวข้อ ผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูงกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมบริการสุขภาพเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสุขภาพของประเทศไทย เพื่อให้ทุกฝ่ายทราบว่า เทคโนโลยีด้านการแพทย์ในปัจจุบันระดับโลกได้พัฒนาก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านการนำเซลล์ เนื้อเยื่อ และยีน ของมนุษย์มาดัดแปลงมาใช้ในการรักษาโรคของมนุษย์ การรักษาโรคทางการแพทย์จึงก้าวกระโดดข้ามอุปสรรคกีดขวางที่มีอยู่ ทำให้สามารถรักษาโรคที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยเทคโนโลยีแบบเดิม โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) และ อย.สหรัฐ (USFDA) เรียกหมวดการผลิตภัณฑ์แบบใหม่นี้ว่า Cell, Tissue and Gene Therapy Products และ อย. ยุโรป (EMA) เรียกว่า Advanced Therapy Medicinal Products (ATMPs)
ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรองรับเทคโนโลยีด้านการแพทย์แบบใหม่ โดยหน่วยงานควบคุมกำกับของไทยได้เริ่มการพัฒนาระบบควบคุมกำกับสำหรับผลิตภัณฑ์การรักษาทางการแพทย์ไปบางส่วนแล้ว
@สเต็มเซลล์คือยา
ด้าน รศ.นพ.ถนอม บรรณประเสริฐ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง (EC-ATMPs), โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า แพทยสภามีวัตถุประสงค์ คือ ควบคุมการประพฤติของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมให้ถูกต้องตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม และต้องส่งเสริมการวิจัย ไม่ใช่ควบคุมกำกับการวิจัย ซึ่งการกำหนดนิยามวัตถุ (คือ เซลล์) ที่ใช้กับมนุษย์ในทางการแพทย์การใช้เซลล์สำหรับมนุษย์ในทางการแพทย์ มีดังนี้ 1. วินิจฉัยโรค เช่น Lab on a Chip เป็นเครื่องมือแพทย์แบบ IVD 2. ใช้รักษาโรคของมนุษย์แบบไม่ใช่ยา เป็นเวชปฏิบัติทางการแพทย์ 3.ใช้รักษาโรคของมนุษย์ แบบเป็นยา 4. ใช้บำบัด บำรุง บรรเทา ทางสุขภาพ แบบผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์
และวันที่ 31 ตุลาคม 2567 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การผลิตยาในโรงพยาบาล ออกมาเป็นราชกิจจานุเบกษา โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สมศักดิ์ เทพสุทิน) ประกาศให้ ATMPs เป็นยา
@ แพทยสภาพร้อมหนุนสเต็มเซลล์
ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี กรรมการแพทยสภา กล่าวว่า แพทยสภา พร้อมส่งเสริม ATMPs และงานวิจัยด้านสเต็มเซลล์เต็มที่ ไม่ได้ขัดขวางการวิจัยเรื่องสเต็มเซลล์แต่อย่างใด เพื่อให้วงการแพทย์มีการพัฒนาและก้าวหน้าต่อไป
ขณะที่ พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล อดีตผู้อำนวยการสำนักกฎหมายการแพทย์ กรมการแพทย์ ปัจจุบันเป็นหัวหน้ากลุ่มแพทย์ชื่อกลุ่มเพื่อแพทย์ลงสมัครกรรมการแพทยสภา กล่าวว่า ถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องก้าวหน้าทางการแพทย์ เช่น สเต็มเซลล์ ที่ทั่วโลกมีผลวิจัยว่าใช้ได้จริงในโรคที่มีผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลและให้คำปรึกษา ดังนั้นประเทศไทยต้องยึดความเป็นอินเตอร์เนชันแนลในการกำหนดกฎหมายให้ออกมาเป็นมาตรฐานสากล