เมื่อกล่าวถึงอาชีพหมอ คุณผู้อ่านจะนึกถึงภาพหมอในแบบไหนกันบ้างครับ คาดว่าส่วนมากคงเป็นภาพคุณหมอในห้องตรวจผู้ป่วยนอกที่เราต้องมานั่งรอประมาณสามชั่วโมงกว่าจะได้เข้าตรวจ มาถึงก็ถามนู่นถามนี่ ส่องไฟฉายดูภายในปากเรา เอาหูฟังมาแนบที่อกเรา คุยเรื่องอาการเจ็บป่วย สั่งยาและให้คำแนะนำบางอย่างที่เราเองก็ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง อย่างนั้นหรือเปล่าครับเป็นที่ทราบกันดีว่าชีวิตการเรียนแพทย์นั้นยาวนาน แต่หลังจากนั้นคุณหมอเหล่านี้ไปทำอะไรกันบ้าง แล้วปลายเส้นทางอาชีพของพวกเขาไปจบที่ตรงไหน เมื่อ 6 ปีในรั้วมหาวิทยาลัยสิ้นสุดลง บางคนเลือกเรียนต่ออีกหลายต่อหลายปี บางคนต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ บางคนเป็นครูมาสอนรุ่นน้อง บางคนเลือกเดินในเส้นทางที่ต่างไป วันนี้จึงขอพาทุกท่านมาส่องบทบาทการทำงานของบุคลากรเหล่านี้ พวกเขาเป็นหมอในแบบที่เรานึกภาพไว้หรือเปล่า ถ้าพร้อมแล้วเรามาเริ่มหาคำตอบกันเลย1. แพทย์ผู้ดูแลรักษาผู้ป่วยในสถานพยาบาลปฏิเสธไม่ได้ว่าคงเป็นบทบาทที่ใกล้เคียงกับคุณหมอในภาพความคิดของผู้อ่านหลายท่านมากที่สุด โดยผู้ที่สำเร็จการศึกษาปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิตและสอบได้ใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม จะได้รับคำนำหน้าชื่อ ‘นายแพทย์’ หรือ ‘แพทย์หญิง’ และเริ่มต้นชีวิตการทำงานเป็นคุณหมอเต็มตัว แล้วตกลงหมอที่เราเจอเวลาไปโรงพยาบาลนั้นเป็นใครกันบ้าง ผมขอเริ่มจากส่วนรัฐบาลก่อนนิสิตนักศึกษาแพทย์ชั้นคลินิก (Medical student)นักเรียนแพทย์ชั้นปีที่ 4 ถึงปีที่ 6 จะได้ ‘ขึ้นวอร์ด’ นั่นคือการปฏิบัติงานในหอผู้ป่วย ซึ่งจะวนไปตามสาขาวิชาต่าง ๆ เพื่อประสบการณ์การทำงานกับผู้ป่วยจริง แน่นอนว่าคุณหมอน้อยกลุ่มนี้ยังไม่สามารถดำเนินกระบวนการรักษาคนไข้เองทั้งหมดได้ ทุกอย่างอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์ประจำบ้านและอาจารย์แพทย์แพทย์ใช้ทุน (Intern)อย่างที่กล่าวข้างต้นว่าแพทย์ที่เรียนจบและได้รับใบอนุญาตฯ จะเข้าสู่การทำงาน โดยต้องชดใช้ทุนต่อรัฐบาลในฐานะแพทย์ใช้ทุนเป็นระยะเวลา 3 ปี (ยกเว้นบางกรณี) คุณผู้อ่านที่มีประสบการณ์เจ็บป่วยอาจเคยพบคุณหมอเหล่านี้ได้ที่ห้องฉุกเฉิน หอผู้ป่วย หรือห้องตรวจผู้ป่วยนอก หลังจากใช้ทุนครบ คุณหมอบางคนเลือกที่จะเป็นแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปต่อไป บางคนก็เลือกเรียนต่อ บางคนก็ออกจากระบบราชการ หรือทางเลือกอื่น ๆ ตามแต่เป้าหมายแพทย์ประจำบ้าน (Resident)คุณหมอที่เลือกศึกษาต่อเฉพาะทางสาขาที่สนใจ จะสมัครเข้าฝึกอบรมเป็นแพทย์ประจำบ้าน (Residency training) เช่น สาขาอายุรศาสตร์ สูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา จิตเวชศาสตร์ วิสัญญีวิทยา ศัลยศาสตร์ ออร์โธปิดิกส์ ฯลฯ คุณหมอกลุ่มนี้มีทักษะและประสบการณ์ที่มากขึ้น แพทย์ประจำบ้านชั้นปีสูงสุด (Chief Resident) นั้นสามารถควบคุมดูแลคนไข้ทั้งหมดในวอร์ดหนึ่งได้ พวกเขาทำวิจัยได้ และคอยรับปรึกษาแพทย์รุ่นน้องเมื่อมีเคสผู้ป่วยที่ซับซ้อนหรือต้องการการรักษาเฉพาะทางแพทย์ประจำบ้านต่อยอด (Fellow)ต่อเนื่องจากแพทย์ประจำบ้าน คุณหมอกลุ่มนี้ศึกษาด้านที่ตัวเองสนใจในเชิงลึก อาจต่อยอดงานวิจัยร่วมด้วย ทั้งนี้เพื่อความชำนาญที่จำเพาะขึ้น ยกตัวอย่าง อนุสาขาอายุรศาสตร์โรคไต เวชศาสตร์การกีฬา กุมารเวชศาสตร์โรคติดเชื้อ เป็นต้นแพทย์เฉพาะทาง (Staff)ผู้ที่ได้รับวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญฯ ในสาขาเฉพาะทางหรือเฉพาะทางต่อยอด และทำงานในโรงพยาบาลในฐานะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เป็นเจ้าของไข้ที่มีอำนาจดำเนินการรักษาผู้ป่วยสูงที่สุด แพทย์เฉพาะทางในโรงเรียนแพทย์นั้นจะมีหน้าที่สอนนักเรียนแพทย์ชั้นคลินิก ซึ่งจะกล่าวถึงในบทบาท ‘อาจารย์แพทย์’ ต่อไปในส่วนของแพทย์ที่ทำงานในโรงพยาบาลเอกชนหรือองค์กรสาธารณะนั้นก็มีบทบาทหน้าที่ในการดูแลรักษาผู้ป่วยลักษณะคล้ายกันกับแพทย์รัฐ อาจแตกต่างกันที่ระบบการทำงานและทรัพยากรเป็นหลัก โดยแพทย์กลุ่มนี้ก็มีทั้งแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปและแพทย์เฉพาะทางสาขาต่าง ๆ เช่นกัน2. อาจารย์แพทย์ปัจจุบันมีโรงเรียนผลิตแพทย์ในประเทศที่แพทยสภารับรองทั้งหมด 27 แห่ง (เป็นของรัฐบาล 23 แห่ง และเอกชน 4 แห่ง) สถาบันเหล่านี้เป็นสถานที่บ่มเพาะนักเรียนที่ก้าวเข้าสู่วงการแพทย์และจะเป็นกำลังสำคัญของระบบสาธารณสุขไทยต่อไป ผู้ที่รับหน้าที่ปลูกฝังบุคคลเหล่านี้ก็คือ อาจารย์แพทย์หรือครูแพทย์ในช่วงชั้นปรีคลินิก (ชั้นปีที่ 1 ถึงปีที่ 3 โดยคร่าว ๆ) รูปแบบการเรียนการสอนของคณะแพทย์จะคล้ายคลึงกับคณะอื่น นั่นคือการเรียนเลคเชอร์เป็นหลัก มีทำแล็บบ้าง workshop บ้าง สิ่งที่โดดเด่นขึ้นมาหน่อยคงเป็นวิชา Gross Anatomy หรือการศึกษาร่างอาจารย์ใหญ่ ซึ่งครูแพทย์ที่ทำหน้าที่ตรงนี้หลายท่านอาจไม่ได้ดูคนไข้ในโรงพยาบาลเป็นหลัก เนื่องจากต้องเป็นอาจารย์เต็มเวลา กล่าวคือให้ความรู้นักเรียนแพทย์ตลอดปี สอนต่อเนื่องไปสู่นักเรียนหน้าใหม่รุ่นต่อไป และรุ่นต่อ ๆ ไปที่ก้าวขึ้นมาส่วนในชั้นคลินิก (ชั้นปีที่ 4 ถึงปีที่ 6 โดยคร่าว ๆ) โดยทั่วไปแพทย์ในโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์หรือโรงพยาบาลศูนย์ที่มีการฝึกอบรม จะมีสถานะเป็นอาจารย์แพทย์ผู้สอนและดูแลนิสิตนักศึกษาแพทย์ นั่นคือการเรียนควบคู่ไปกับการปฏิบัติงานนั่นเอง สถานที่การเรียนการสอนนั้นไม่ใช่ห้องเลคเชอร์เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นหอผู้ป่วยใน แผนกผู้ป่วยนอก ห้องผ่าตัด ห้องคลอด ห้องหัตถการต่าง ๆ ทุกที่สามารถเป็นห้องเรียนได้ทั้งหมด การเรียนแพทย์ในชั้นคลินิกจึงค่อนข้างแตกต่างจากชั้นปรีคลินิกในหลายด้าน ทั้งวิธีการเรียน ภาระงานที่มากขึ้น เวรนอกเวลาราชการ การจัดแบ่งเวลาทบทวนความรู้ เป็นต้นดังนั้นผู้ที่จะเป็นครูแพทย์ได้ ไม่เพียงแค่ต้องเป็นแพทย์ที่ดี มีความรู้ความสามารถเท่านั้น หากแต่ยังต้องเข้าใจนักเรียนแพทย์ พร้อมดูแลช่วยเหลือทั้งด้านการเรียน การทำงาน และการใช้ชีวิต ครูแพทย์จึงเป็นบุคคลต้นแบบ เป็นแรงบันดาลใจของลูกศิษย์จากรุ่นสู่รุ่น3. แพทย์ผู้บริหารทุกองค์กรย่อมมีตำแหน่งหน้าที่ วงการแพทย์ก็เช่นกัน กระทรวงสาธารณสุขนั้นมีโครงสร้างใหญ่โต มีราชการบริหารอย่าง ‘กรมการแพทย์’ ‘กรมควบคุมโรค’ ‘กรมสุขภาพจิต’ ‘กรมอนามัย’ และหน่วยงานอื่น ๆ มากมาย หรือสภาวิชาชีพอย่างแพทยสภา ซึ่งพัฒนามาตรฐานวิชาชีพและดูแลส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน องค์กรหรือหน่วยงานต่าง ๆ นี้จำเป็นต้องมีแพทย์ในการเชื่อมต่องานบริหารไปสู่เสถียรภาพขององค์กร ตลอดจนการแก้ปัญหาและยกระดับสุขภาพของประชาชนไม่ใช่เรื่องง่ายในการจัดการ ‘ผู้คน เงิน และทรัพยากร’ ให้เข้าที่เข้าทาง คุณหมอกลุ่มนี้มักมีความสามารถในการเจรจา แก้ไขปัญหาต่าง ๆ พวกเขามีความอดทนในการพัฒนาองค์กร และมีวิสัยทัศน์เพื่อการบรรลุพันธกิจ4. แพทย์นักวิจัยคุณผู้อ่านคิดว่าเครื่องมือการตรวจวินิจฉัยโรค แนวทางการรักษา ยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ และนวัตกรรมทางการแพทย์ต่าง ๆ ที่มีอยู่มากมายในปัจจุบันมาจากไหนครับศาสตร์การแพทย์นั้นไม่เคยหยุดนิ่ง องค์ความรู้ใหม่ ๆ ถูกอัปเดตอยู่ตลอดเวลา ทั้งเกณฑ์การวินิจฉัยโรค วิธีการรักษา กลไกการเกิดโรคต่าง ๆ ข้อมูลเหล่านี้จำเป็นต่อแพทย์เจ้าของไข้ในการเข้าใจโรค และให้การดูแลรักษาผู้ป่วยทุกรายให้ดีตามมาตรฐานวิชาชีพ ซึ่งผู้อยู่เบื้องหลังข้อมูลสำคัญนี้ก็คือแพทย์นักวิจัยและกลุ่มนักวิทยาศาสตร์การแพทย์นั่นเอง พวกเขาอาจใช้เวลานานหลายสัปดาห์ หลายเดือนหรือหลายปีในการทดลอง ค้นคว้า เก็บรวบรวมข้อมูลประวัติผู้ป่วยและสถิติต่าง ๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์ บางคนใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ภายในห้องแล็บเพื่อสังเคราะห์อะไรบางอย่าง สิ่งเหล่านี้ล้วนมีส่วนช่วยยกระดับวงการแพทย์และเกิดประโยชน์ต่อสังคมวงกว้างปัจจุบันนี้คุณหมอหลายท่านนิยมทำงานวิจัยกันมาก โดยเฉพาะกลุ่มอาจารย์แพทย์ แพทย์เฉพาะทางสาขาต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาวิทยาการ ตอบสนองความสนใจ รวมถึงความก้าวหน้าในตำแหน่งทางวิชาการ นอกจากนี้คุณหมอบางท่านก็อาจไม่ได้ทำงานสัมผัสผู้ป่วยโดยตรง แต่เป็นนักวิจัยเต็มเวลา โดยส่วนตัวผมมีโอกาสรู้จักเพื่อนและรุ่นพี่หลายคนที่ค้นพบตัวเองได้เร็ว ชื่นชอบการทำวิจัยตั้งแต่เป็นนักเรียนแพทย์ และสามารถวางแผนเส้นทางอาชีพของพวกเขาได้อย่างตรงเป้าหมายขึ้น บางคนได้รับทุนไปศึกษาวิจัยต่อต่างประเทศ บางคนสมัครเป็น Research Fellow ในมหาวิทยาลัย สามารถทำงานในหัวข้อที่ตัวเองสนใจได้เต็มที่โดยไม่ต้องแบ่งเวลาให้กับงานในหอผู้ป่วยและงานรูปแบบอื่น ๆคุณหมอที่เป็นนักวิจัยเต็มตัวหลายท่านได้รับการยกย่องในวงการแพทย์ แต่มักไม่เป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไปนัก เนื่องจากสถานที่และรูปแบบการทำงานที่อาจไม่ได้พบเจอผู้ป่วยทุกวัน ผมจึงขอยืนยันว่าพวกเขาเหล่านี้คือบุคคลสำคัญที่ได้รักษาคนหมู่มากด้วยผลลัพธ์ของงานวิจัยที่ส่งผ่านมายังเวชปฏิบัติในโรงพยาบาล และยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไปท่ามกลางองค์ความรู้มากมายที่จะถูกค้นพบในอนาคตข้างหน้าอย่างแน่นอน5. แพทย์ที่ทำงานด้านอื่น ๆบทบาทสุดท้ายที่เราจะคุยกัน เป็นของคุณหมอกลุ่มที่เลือกเดินออกจากสายงานแพทย์ อาจเป็นภายหลังชดใช้ทุนครบกำหนด หลังจบการศึกษา หรือช่วงเวลาใดก็เป็นได้ ด้วยเหตุผลนานาประการที่คงไม่ได้กล่าวถึง ณ ที่นี้ บทบาทของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไปเป็นนักธุรกิจ นักการเมือง นักร้อง นักแสดงในวงการบันเทิง ยูทูปเบอร์ และอื่น ๆ อีกมากมาย และแม้ไม่ได้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล คุณหมอกลุ่มนี้ก็อาจให้คำปรึกษาด้านสุขภาพหรือโรคทั่วไปเบื้องต้นได้แน่นอนว่าแพทย์แต่ละคนนั้นอาจไม่ได้มีเพียงบทบาทเดียว ยกตัวอย่างศัลยแพทย์ประจำโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่ง เขาอาจเป็นทั้งหมอผ่าตัดของคนไข้ เป็นอาจารย์ของนิสิตนักศึกษา เป็นหัวหน้าหน่วยวิจัย เป็นกรรมการแพทยสภา และเป็นนักแต่งเพลงก็เป็นได้ผมในฐานะผู้เขียนและแพทย์คนหนึ่ง จากที่ได้รู้จักกับคุณหมอในทุก ๆ บทบาทข้างต้น (รวมถึงบทบาทอื่นที่ไม่ได้กล่าวถึงในที่นี้) สรุปได้ว่า ทุกคนย่อมมีเส้นทางเป็นของตัวเอง ทุกคนล้วนเป็นแพทย์ในแบบที่ตัวเองอยากเป็น ทำคุณประโยชน์แก่สังคมจากงานในรูปแบบของตัวเอง และสิ่งสำคัญที่สุดคือพวกเขามีความสุข ดังนั้นขอฝากถึงคุณผู้อ่านที่เป็นรุ่นน้องนักเรียนแพทย์ว่าเส้นทางวิชาชีพนี้มีความหลากหลาย สามารถต่อยอดได้ทุกด้าน ค่อย ๆ ค้นหาตัวเองจากความชอบหรือความสนใจ และจงเชื่อมั่นในตัวเอง สุดท้ายนี้ขอขอบคุณผู้อ่านทุกท่าน หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย ขอบคุณครับเครดิตภาพประกอบจาก Pixabayภาพปก (Elf-Moondance)ภาพประกอบเนื้อหา :ภาพที่ 1 (Mohamed_hassan) / ภาพที่ 2 (chandan_ai) / ภาพที่ 3 (marionbrun) / ภาพที่ 4 (Iffany) / ภาพที่ 5 (LeeJeoungSoo) / ภาพที่ 6 (cromaconceptovisual) / ภาพที่ 7 (arivleone) / ภาพที่ 8 (Excellentcc) / ภาพที่ 9 (Mohamed_hassan) / ภาพที่ 10 (SportsLeague) / ภาพที่ 11 (darkside-550) / ภาพที่ 12 (Mohamed_hassan)ส่องที่เที่ยว พิกัดลับห้ามพลาด มุมถ่ายรูปสวยที่ทรูไอดีคอมมูนิตี้