กลอนแปดหรือกลอนสุภาพเป็นบทร้อยกรองที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน จะสังเกตุได้ว่าในชีวิตประจำวันของเรานี้เรามักจะคลุกคลีกับกลอนแปดกันอยู่บ่อย ๆ ตามสื่อโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และรวมไปถึงนิตยสาร กลอนแปดหรือกลอนสุภาพเป็นกลอนประเภทหนึ่งที่มีความแพร่หลายที่สุดในประเทศไทย ความนิยมในการเขียนกลอนแปดมาจากอิทธิพลของท่านสุนทรภู่ครูกวีที่สร้างผลงานอันลือเลื่องเอาไว้ให้เป็นมรดกของชาติ โดยผลงานของสุนทรภู่ส่วนใหญ่นิยมเขียนด้วยกลอนแปดอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและแฝงไปด้วยคารมคมคาย ด้วยเหตุนี้เองกลอนแปดของสุนทรภู่จึงเป็นต้นแบบให้กวีในรุ่นหลังได้ยึดเป็นมาตรฐานและกลายเป็นที่นิยมมาจนถึงทุกวันนี้ หากหลาย ๆ ท่านสงสัยว่ากลอนแปดที่เรานิยมเขียนกันนั้นมีลักษณะอย่างไรและมีหลักการเขียนอย่างไร เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาเรามาเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กันเลยดีกว่าครับ ลักษณะของกลอนแปด ลักษณะโดยทั่วไปของกลอนแปดนั้น 1 บทจะมีอยู่ 4 วรรค 1 วรรคจะมีคำอยู่ 8 -9 คำ วรรคแรกเราเรียกกันว่าวรรคสดับ วรรคที่สองเราเรียกกันว่าวรรครับ วรรคที่สามเราเรียกกันว่าวรรครอง และวรรคที่สี่เราเรียกกันว่าวรรคส่ง จังหวะในการอ่านกลอนแปดนั้นจะอ่านแบบ 3 2 3 ในกรณีที่วรรคนั้นมีอยู่ 8 คำ และจะอ่านแบบ 3 3 3 ในกรณีที่วรรคนั้นมีอยู่ 9 คำ สัมผัสนอกของกลอนแปด สัมผัสนอกของกลอนแปดนั้นเป็นสัมผัสบังคับ กลอนแปดในหนึ่งบทจะต้องมีสัมผัสนอกให้ครบทั้ง3 จุด จะขาดจุดใดจุดหนึ่งไปไม่ได้มิฉะนั้นจะเป็นการผิดฉันทลักษณ์ สัมผัสนอกของกลอนแปดมีอยู่ดังนี้ จุดที่ 1 คำสุดท้ายของวรรคแรกจะสัมผัสกับคำที่ 3 หรือ 5 ของวรรคสอง จุดที่ 2 คำสุดท้ายของวรรคสองจะสัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคสาม และจุดที่ 3 คำสุดท้ายของวรรคสามจะสัมผัสกับคำที่ 3 หรือ 5 ของวรรคสี่ และในกรณีที่เราแต่งกลอนแปดตั้งแต่ 1 บทขึ้นไปเราจะมีสัมผัสเพิ่มเข้ามาอีก 1 จุดนั่นคือสัมผัสระหว่างบท เป็นสัมผัสระหว่างคำสุดท้ายของวรรคสี่บทแรกกับคำสุดท้ายของวรรคสองบทถัดไปภาพโดย:ธารา สุวรรณราช สัมผัสในของกลอนแปด สัมผัสในเป็นสัมผัสที่ไม่บังคับจะมีก็ได้หรือไม่มีก็ได้ แต่ถ้ามีกลอนแปดของเราก็จะมีความไพเราะและน่าสนใจมากขึ้น สัมผัสในจะเป็นการสัมผัสกันเองของคำในวรรค 1 วรรค จะเป็นสัมผัสสระหรือสัมผัสพยัญชนะก็ได้ภาพโดย:ธารา สุวรรณราช เสียงวรรณยุกต์ท้ายวรรค เสียงวรรณยุกต์ท้ายวรรคก็เป็นอีกหนึ่งจุดบังคับของกลอนแปดที่จำเป็นจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยคำสุดท้ายของทั้ง 4 วรรคมีข้อบังคับในการใช้เสียงดังนี้ วรรคแรกอนุญาตให้ใช้ได้ทั้ง 4 เสียงคือเสียง เอก โท ตรี จัตวา แต่ไม่ให้ใช้เสียงสามัญ วรรคสองสามารถลงท้ายด้วยเสียง เอก โท จัตวา ได้แต่ห้ามใช้เสียงสามัญกับตรี ส่วนวรรคที่ 3 และวรรคที่ 4 บังคับเหมือนกันคือใช้เสียงสามัญกับเสียงตรีได้แต่ห้ามเสียงเอก โท และจัตวา ภาพโดย:ธารา สุวรรณราช ทั้งหมดนี้คือหลักการเบื้องต้นของกลอนแปดครับ ทุกท่านจะเห็นได้ว่าฉันทลักษณ์ของกลอนแปดนั้นมีระเบียบแบบแผนที่วิจิตรบรรจงสมกับการเป็นบทร้อยกรองที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในไทย ดังนั้นแล้วพวกเราชาวไทยควรอนุรักษณ์มรดกที่มีความงดงามสิ่งนี้เอาไว้ เพื่อให้ลูกหลานในรุ่นหลัง ๆ ได้เกิดความภาคภูมิใจในสมบัติของชาติที่ลำ้ค่ากว่าอัญมณีใด ๆ