เมื่อใดที่ฝนตกหนักน้ำท่วมกรุงเทพฯ ความโกลาหลทำให้ผู้คนตื่นตัวและตระหนักถึงความเป็นไปได้ที่เมืองหลวง อาจจะจมบาดาลในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้าเรื่องนี้ทำให้ผมคิดถึงบ้านขุนสมุทรจีน ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศและโฮมสเตย์ชื่อดังติดทะเลกรุงเทพฯ เขตบางขุนเทียน แต่อีกมุมหนึ่ง ที่นี่ประสบปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งรุนแรงที่สุดในไทยมายาวนานกว่าสามทศวรรษ ดังนั้นในช่วงปี 2557 ผมจึงเข้าไปเพื่อหาคำตอบว่าทำไมที่นี่จึงประสบปัญหาดังกล่าว แล้วพวกเขาอยู่กันอย่างไร และจะมีทางแก้ไขอย่างไร เพราะบ้านของผมก็อยู่ไม่ไกลจากจุดนี้ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี น้ำทะเลได้กัดกินแผ่นดินบ้านขุนสมุทรจีนรุกคืบเข้ามาแล้ว 5 กิโลเมตร และมีอัตราการกัดเซาะเฉลี่ยปีละเกือบ 5 เมตรต่อปี โดยมีสาเหตุหลายอย่าง เช่น มาจากความรุนแรงของคลื่นลมทะเล การทรุดตัวของแผ่นดินบริเวณปากแม่น้ำ และการลดลงของปริมาณตะกอนในแม่น้ำจากการสร้างเขื่อน ทั้งยัง สภาวะโลกร้อนเป็นตัวเร่งให้ปริมาณน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นชาวบ้านหลายครอบครัวต้องสูญเสียที่ดินที่ถูกต้องตามกฎหมายให้กับน้ำทะเล บางคนย้ายบ้านเรือนเกือบสิบครั้ง บางคนสิ้นเนื้อประดาตัว บางคนต้องเช่าพื้นที่นายทุนที่กว้านซื้อที่ดินแถบนี้เมื่อครั้งยังมีสภาพสมบูรณ์ เพื่ออาศัยและทำกินหาเลี้ยงชีพ แน่นอนว่ารายได้ก็แค่พอประทังชีวิต ในขณะที่บางบ้านที่พอมีฐานะทางการเงินดีก็อพยพโยกย้ายถิ่นฐานออกไป จนปัจจุบันบ้านขุนสมุทรจีนมีจำนวนครัวเรือนลดลงจากสามถึงสี่ร้อยหลังคาเรือนเหลือเพียงหลักร้อยต้นๆบ้านขุนสมุทรจีนไม่ได้เป็นชุมชนเกิดใหม่ หากแต่มีอายุยาวนานกว่า 300 ปี ตั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย มีการพบหลักฐานที่แสดงถึงการดำรงอยู่ของผู้คนในอดีต เป็นพวกเศษซากเครื่องปั้นดินเผาลวดลายครามแบบจีนสมัยราชวงศ์ชิง เช่น ถ้วย ชาม ช้อน หม้อ ไห เงินพดด้วง เครื่องประดับ รวมถึงโครงกระดูกมนุษย์ และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งชาวบ้านขุดพบใต้ผืนดินโดยบังเอิญจากการย้ายบ้านเรือนหนีน้ำทะเลเข้ามาในแผ่นดินหลายครั้ง ตลอดจนคลื่นลมที่ซัดวัตถุโบราณเหล่านี้เข้ามายังชายฝั่ง ปัจจุบันถูกจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ของชุมชนนั่นทำให้นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม สอดคล้องกับคำบอกเล่าของผู้คนในท้องถิ่นว่า พื้นที่บ้านขุนสมุทรจีนเคยมีลักษณะเป็นแหลมยื่นไปในทะเล ด้วยชัยภูมิที่ตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา จึงเป็นจุดพักเรือสินค้าของนักเดินทางพ่อค้าวาณิช โดยเฉพาะชาวจีนโล้สำเภาบางกลุ่มที่ตัดสินใจลงหลักปักฐานกับคนท้องถิ่นมีลูกหลานสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบันชาวบ้านขุนสมุทรจีนดั้งเดิมมีอาชีพทำประมงพื้นบ้านบริเวณชายฝั่งทะเลอันอุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์น้ำ ทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา สร้างรายได้ดีพอสมควร แต่ด้วยสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง ประกอบกับการสูญเสียพื้นที่อยู่อาศัยและทำกินนับหมื่นไร่ให้กับน้ำทะเล จึงเหลือพื้นที่อยู่เพียงพันกว่าไร่ ส่งผลให้จับสัตว์น้ำได้น้อยลง ชาวบ้านจึงต้องขุดดินทำวัง หรือบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำที่ต้องอาศัยการขึ้นลงของน้ำทะเลโดยมีประตูระบายน้ำเปิดปิดซึ่งไม่อาจคาดเดาผลผลิตได้ แม้แต่วัดขุนสมุทราวาส หรือวัดขุนสมุทรจีนที่เป็นศูนย์กลางทางจิตวิญญาณ ซึ่งเคยมีพื้นที่มากถึง 76 ไร่ ปัจจุบันถูกทะเลกัดเซาะไปเหลือเพียง 5 ไร่ เท่านั้นเคราะห์ซ้ำกรรมซัดในปี 2554 เกิดมหาอุทกภัยมีการระบายน้ำจำนวนมหาศาลจากแม่น้ำลงทะเลอ่าวไทย จนทำให้สัตว์น้ำที่เลี้ยงไว้ตามแนวชายฝั่งตายเกือบหมด เนื่องจากปรับสภาพไม่ทัน ที่แย่กว่านั้นคือระบบนิเวศทางทะเลในบริเวณนี้ได้รับผลกระทบอย่างเลวร้าย ทำให้สัตว์น้ำลดจำนวนลงไปอีก คาดว่าอาจต้องใช้เวลาฟื้นตัวนานนับสิบปี ชาวบ้านบางคนจึงเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่น เช่น รับจ้าง ก่อสร้าง ฯลฯ และมีความกังวลว่าอาจจะสูญเสียอัตลักษณ์ของชุมชน ตลอดจนลมหายใจของผู้คนไปในไม่ช้าด้วยน้ำมือของทะเลด้วยความไม่แน่นอนดังกล่าว ผู้นำชุมชนและชาวบ้านขุนสมุทรจีนจึงได้พร้อมใจกันแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง อาทิ การทำแนวกันคลื่นไม้ไผ่ เมื่อเกินกำลังจึงต้องการความช่วยเหลือจากภายนอก โดยทำหนังสือร้องขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน หนังสือ เอกสาร จดหมายนับร้อยนับพันฉบับวางกองอยู่ในห้องทำงานของผู้ใหญ่บ้าน หวังเพียงเพื่อชะลอการกัดเซาะของทะเลให้ได้มากที่สุด ไม่นานความช่วยเหลือจากหน่วยต่างๆ ได้เข้ามายังบ้านขุนสมุทรจีนอยู่เป็นระยะๆ แต่โดยส่วนใหญ่เป็นการช่วยเหลือในระยะสั้น เช่น การจัดทำแนวกันคลื่นไม้ไผ่ แนวกันคลื่นเสาปูนรูปแบบต่างๆ และตลิ่งหินทิ้ง เป็นต้น ซึ่งสองอย่างหลังชาวบ้านบอกว่าช่วยให้วัดขุนสมุทรจีนมีแนวกันคลื่นที่มีประสิทธิภาพ สามารถลดความรุนแรงของคลื่นได้เป็นอย่างดี แต่ในจุดอื่นยังคงอยู่สภาพวิกฤติอย่างไรก็ตาม หน่วยงานภาครัฐบางแห่งได้มีการพิจารณาเสนอโครงการก่อสร้างเขื่อนเพื่อการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งแล้ว ซึ่งประมาณการงบประมาณก็สูงถึง 2,000 ล้านบาท และการก่อสร้างอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศเป็นวงกว้าง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอีกนาน ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงไม่สบายใจและยังไม่แน่ใจว่าจะเป็นทางออกที่คุ้มค่าหรือไม่ หรือใครจะได้ประโยชน์จากตรงนี้ประเด็นสำคัญคือ ชาวบ้านไม่ต้องการให้มีการสร้างสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ส่งผลต่อระบบนิเวศมากเกินไป และไม่ต้องการสร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชนอื่นตามแนวชายฝั่งอ่าวไทย เพราะที่นี่คือบ้านหลังสุดท้ายที่พวกเขาต้องอาศัยและทำมาหากินร่วมกับธรรมชาติ สิ่งที่ชาวบ้านต้องการ คือ การช่วยเหลือของหน่วยงานต่างๆ อย่างบูรณาการร่วมกันให้เป็นเอกภาพเพื่อชะลอการกัดเซาะชายฝั่งบ้านขุนสมุทรจีน เพราะที่ผ่านมาเป็นไปแบบต่างคนต่างทำ จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้จริง ก่อนจะดำเนินการใดๆ ภาครัฐควรหารือกับชาวบ้านเพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างตรงจุด ก่อนที่ชุมชนโบราณที่มีอัตลักษณ์แห่งนี้จะกลายเป็นเพียงเรื่องเล่าขาน และในไม่ช้าคนกรุงเทพฯ อาจไม่ต้องเดินทางไปกินลมชมทะเลไกลถึงเขตบางขุนเทียนเมื่อใดที่ฤดูฝนฤดูน้ำหลากผ่านไป ผู้คนก็ลืมไปแล้วว่าน้ำอาจจะท่วมกรุงเทพฯ และเป็นเมืองบาดาลในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า.ภาพถ่ายทั้งหมดโดย madaya (ครีเอเตอร์)7-11 Community ห้องลับเมาท์มอยของกินของใช้ในเซเว่น อะไรดีอะไรใหม่ ต้องรู้ ต้องคุย ต้องแชร์