รีเซต

สกพอ. ตั้งเป้าดึงเงินลงทุนเข้าอีอีซีระยะ 2 รวม 2.2 ล้านล. ดันศก.ไทยโตปีละ 5%

สกพอ. ตั้งเป้าดึงเงินลงทุนเข้าอีอีซีระยะ 2 รวม 2.2 ล้านล. ดันศก.ไทยโตปีละ 5%
มติชน
23 กุมภาพันธ์ 2565 ( 15:47 )
48

ข่าววันนี้ นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี (สกพอ.) เปิดเผยในงานสัมมนา 2022 NEXT ECONOMIC CHAPTER : NEW CHALLENGES AND OPPORTUNITIES ปี 2565 ความท้าทายและโอกาสใหม่ ผ่านช่องทางออนไลน์ว่า เศรษฐกิจไทยได้พ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว จากเดิมปี 2563 ที่เศรษฐกิจไทยติดลบ 6.2% ในปี 2564 ฟื้นตัวกลับมาบอกที่ 1.6% ส่วนปี 2565 จะกลับมาเติบโตต่อเนื่อง ที่ 4% เพราะคาดว่าโอมิครอนจะไม่รุนแรง แต่ต้องเข้าใจว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ได้กลับไปสู่ที่เก่า โดยคาดว่าต้องใช้เวลาอีก 12-15 เดือน ดังนั้นจะต้องใช้เวลากว่าหนึ่งปี ในการเตรียมตัวและก้าวไปข้างหน้า เพื่อรับผลจริงในปี 2566 ที่เศรษฐกิจไทยจะพลิกกับไปสู่จุดเดิมก่อนเกิดโควิดหรือดีกว่าเดิม

 

นายคณิศ กล่าวว่า ส่วนภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ภาคการท่องเที่ยว โดยก่อนโควิดมีสูงถึง 40 ล้านคน และในปี 2564 เป็นปีที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่ำที่สุด คือ 4 แสนคน และในปี 2565 ประเมินไว้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเพียง 6 ล้านคน และในปี 2566 จะกลับมาอยู่ที่ 20ล้านคน โดยจะกลับมาเท่าจำนวนเดิมก่อนมีโควิดได้ คงใช้เวลา 20 เดือน

 

นายคณิศ กล่าวว่า ทั้งนี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเป็นลักษณะตัวเค ( K-Shaped) โดยปี 2565 เศรษฐกิจที่โตเฉลี่ย4% โดยประกอบด้วยตัวเค ขาบนที่มาจากการส่งออกที่คาดว่าจะโต 5-6% กลุ่มธุรกิจและคนที่เกี่ยวกับกลุ่มส่งออกนี้ยังไปได้ดี แต่ตัวเค ขาล่างคือคนมีรายได้นอกภาคการเกษตร เช่นอาชีพอิสระ ลูกจ้าง ที่ยังคงติดลบ หรือไม่ฟื้นตัวนักสะท้อนจากหนี้ภาคครัวเรือน

 

 

ซึ่งภาครัฐจึงยังคงต้องเข้าไปดูแล คือ การเร่งส่วนที่อยู่ บนตัวเค ขาบนไปให้ไปข้างหน้าให้ได้เร็วที่สุด อย่าให้ตกหล่นลงมา โดยเร่งการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายให้เกิดระบบนิเวศ (Ecosystem) ในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ 5 ใหม่ (S-Curve) ได้แก่ หุ่นยนต์ โลจิสติกส์ การแพทย์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมชีวภาพ หมุนเวียน และสีเขียว (บีซีจี) และเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าและบริการใหม่ๆ และการเตรียมบุคลากรให้พร้อมรองรับ

 

“ในขณะเดียวก็ต้องมีมาตรการมาพยุง ตัวเคขาด้านล่างให้ฟื้นตัวกลับขึ้นมา โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ต้องพยุงเศรษฐกิจต่อไปอีกระยะหนึ่ง แก้หนี้ครัวเรือนและการอัดสินเชื่อเพื่อให้ธุรกิจกลับมา กับอีกส่วนคือการสร้างต่อ ด้วยการใช้เทคโนโลยีสร้างรายได้โดยเฉพาะ อีคอมเมิร์ซ การฝึกอบรมทำงานกับเทคโนโลยีใหม่ เกษตรตรงตลาดและใช้เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพ การพัฒนาท่องเที่ยวชุมชน และเขตพัฒนาพิเศษใหม่ๆ ถึงจะสามารถทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโต และเจริญเติบโตได้ตามที่คาดไว้” นายคณิศ กล่าว

 

นายคณิศ กล่าวว่า สำหรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ในระยะ 4 ปีที่ผ่านมาได้มีการลงทุนไปแล้ว 1.6 ล้านล้านบาท ซึ่งเร็วกว่าแผนเดิม 1 ปี โดย 6 แสนล้านบาทเป็นโครงสร้างพื้นฐานเดิม อาทิ รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือมาบตาพุด ส่วนอีก 1 ล้านล้านบาทเป็นการลงทุนผ่าน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และในการลงทุนนั้น มีการใช้งบรัฐแค่ 8 หมื่นล้านบาท หรือเพียง 5% เท่านั้น ทำให้เห็นว่าไม่ใช้การลงทุนที่มีการใช้งบประมาณภาครัฐ จำนวนมากอย่างที่หลายคนเขาใจ แต่เป็นพื้นที่การลงทุนที่สามารถดึงเม็ดเงินจากภาคเอกชน และการลงทุนจากต่างชาติได้จำนวนมาก

 

นายคณิศ กล่าวว่า จากผลการการระดมลงทุนที่รวดเร็วนั้น สกพอ.เลยมีเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษอีอีซี ระยะ 2 ใน 5ปี (2565- 2569) ให้ได้ 2.2 ล้านล้านบาท หรือเฉลี่ย 6แสนล้านบาทต่อปี โดยจะมีส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ปีละ 5% และหากทำได้สัดส่วนนี้ติดต่อกันอีก 7 ปีก็จะทำให้ไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางก้าวสู่ประเทศพัฒนาได้ในปี 2572 ตามเป้าหมายที่วางไว้

 

“ ทั้งนี้ผลกระทบโควิด-19 ที่ผ่านมาไม่ได้กระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนในพื้นที่อีอีซีมากนักหากเทียบกับเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวที่สูงกว่าโดยสะท้อนจากตัวเลขการขอรับส่งเสริมการลงทุนจาก บีโอไอ อย่างไรก็ตามสิ่งที่ขอกับรัฐบาลไว้คือ ต้องการให้รัฐได้ขับเคลื่อนความร่วมมือกับต่างประเทศให้มากขึ้นเพื่อที่จะแข่งขับกับประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะ เวียดนามและมาเลเซีย เนื่องจากยังมีความร่วมมือหลายด้านที่เพื่อนบ้านได้เปรียบ อาทิ การทำข้อตกลงข้อตกลงความครอบคลุมและความก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกหรือ ซีพีทีทีพี และ ความตกลงทางการค้าเสรี ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป หรืออียู” นายคณิศ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง