รีเซต

โควิด-19: สหรัฐฯ และประเทศเศรษฐกิจใหญ่ในยุโรปรับมือกับเศรษฐกิจตกต่ำอย่างไร

โควิด-19: สหรัฐฯ และประเทศเศรษฐกิจใหญ่ในยุโรปรับมือกับเศรษฐกิจตกต่ำอย่างไร
ข่าวสด
14 กรกฎาคม 2563 ( 00:54 )
38
โควิด-19: สหรัฐฯ และประเทศเศรษฐกิจใหญ่ในยุโรปรับมือกับเศรษฐกิจตกต่ำอย่างไร

 

โควิด-19: สหรัฐฯ และประเทศเศรษฐกิจใหญ่ในยุโรปรับมือกับเศรษฐกิจตกต่ำอย่างไร - BBCไทย

สหราชอาณาจักร

นายริชี สุนัค รัฐมนตรีคลังสหราชอาณาจักร ออกมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดของโควิด-19

สถาบันอิสระเพื่อการคลังศึกษา (The independent Institute for Fiscal Studies) ประเมินว่า "ต้นทุนโดยตรง" ของมาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาตั้งแต่เดือน มี.ค. เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 อยู่ที่ 1.9 แสนล้านปอนด์ หรือราว 7.4 ล้านล้านบาท เทียบเท่ากับ 9% ของรายได้ประจำปีของทั้งสหราชอาณาจักร

สัปดาห์นี้ รัฐบาลได้ประกาศมาตรการช่วยเหลือสำหรับกลุ่มกิจการด้านศิลปะ พิพิธภัณฑ์ โรงละคร และดนตรี

Getty Images
นายริชี สุนัค รัฐมนตรีคลังสหราชอาณาจักร

มาตรการใหม่ของนายสุนัครวมถึง โครงการคงการจ้างงาน การยกเว้นภาษีบางประเภทและการยืดเวลาชำระหนี้ให้ธุรกิจ และยังมีสิทธิประโยชน์ด้านความเป็นอยู่เพิ่มเติมอีกหลายอย่าง

หลายประเทศต่างก็มีการรับมือกับวิกฤตสาธารณสุขและการตกต่ำทางเศรษฐกิจ แม้ว่าวัตถุประสงค์บางอย่างจะเหมือนกัน แต่รายละเอียดของมาตรการรับมือแตกต่างกันไป หลายประเทศให้แรงจูงใจทางการเงิน เพื่อไม่ให้คนงานต้องตกงาน

มีการพักการจ่ายภาษีและการให้เงินกู้กับบริษัทต่าง ๆ เพื่อช่วยให้พวกเขารับมือกับรายได้ที่หดหายไปจำนวนมหาศาล นอกจากนี้ยังมีมาตรการอีกหลายอย่างเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด หลายประเทศยังได้กันเงินส่วนหนึ่งในการช่วยระบบสาธารณสุขให้รับมือกับภาระที่เพิ่มขึ้นจากไวรัสด้วย

สหรัฐฯ

ในสหรัฐฯ หัวใจสำคัญในการรับมือคือ รัฐบัญญัติความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การช่วยเหลือและการบรรเทาผลกระทบไวรัสโคโรนา (Coronavirus Aid, Relief, and Economic Security Act) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า Care Act

Getty Images
สตีเฟน มนูชิน รัฐมนตรีคลังของสหรัฐฯ

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund--IMF) ระบุว่า ผลกระทบของโควิด-19 ต่อสหรัฐฯ อยู่ที่ 2.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 70.9 ล้านล้านบาท) หรือราว 11% ของรายได้ประจำปีของสหรัฐฯ ผลกระทบนี้รวมถึงเงินพิเศษมากกว่า 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 15.5 ล้านล้านบาท) ที่ทางการมอบให้ประชาชนในรูปของเงินคืนภาษีและสิทธิประโยชน์จากการว่างงาน

นอกจากนี้ยังมีเงินกู้ "ที่อาจไม่ต้องใช้คืน" สำหรับธุรกิจขนาดเล็ก เพื่อให้พวกเขาจ้างงานคนงานต่อไปได้ ในทางปฏิบัติอาจจะเรียกได้ว่าเป็นเงินให้เปล่า เพราะผู้กู้เงินไม่ต้องใช้เงินคืนเต็มจำนวน ถ้าพวกเขาเข้าเงื่อนไขที่กำหนด

เงินจำนวน 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 7.76 แสนล้านบาท) สำหรับระบบตาข่ายความปลอดภัยด้านอาหารแก่คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ซึ่งรวมถึงการขยายโครงการที่ช่วยเหลือผู้มีรายได้ต่ำและครอบครัวในการซื้อหาอาหาร (บางครั้งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ แสตมป์อาหาร)

การออกกฎหมายในเวลาต่อมายังมีผลทำให้มีการใช้จ่ายเงิน 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 3.1 ล้านล้านบาท) ในด้านที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุขเพิ่มเติมด้วย โดยในจำนวนนี้ 1ใน 4 มีการใช้ในการเพิ่มการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่โดยเฉพาะ

เยอรมนี

วิกฤตที่เกิดขึ้นทำให้ภาวะเกินดุลทางการเงินของเยอรมนีจะต้องยุติลง หลังเกินดุลมาตั้งแต่ปี 2012

เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบมาจากเศรษฐกิจตกต่ำ แต่ส่วนหนึ่งก็มาจากการตัดสินทางนโยบายของเยอรมนีเอง เยอรมนีต้องใช้งบประมาณพิเศษซึ่ง IMF ระบุว่าอยู่ที่เกือบ 5% ของรายได้ทั้งประเทศ เพื่อครอบคลุมรายจ่ายด้านสาธารณสุข รวมถึงอุปกรณ์ป้องกันและการวิจัยค้นคว้าหาวัคซีนป้องกันโควิด

Getty Images
อังเกลา แมร์เคิล นายกฯ เยอรมนี

มีการขยายระบบความช่วยเหลือทางการเงินที่มีอยู่ในการช่วยบริษัทต่าง ๆ ให้ว่าจ้างพนักงานต่อไป ด้วยการให้ทำงานน้อยลง และชดเชยรายได้ที่หายไปของพนักงาน

โครงการนี้ หรือที่รู้จักกันในภาษาเยอรมันว่า Kurzarbeit ได้รับการยอมรับว่า มีส่วนช่วยทำให้การว่างงานไม่สูงขึ้นมาก ในช่วงหลังเกิดวิกฤตการเงินในปี 2008-2009

นอกจากนี้ยังมีเงินให้เปล่าแก่เจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก และคนที่จ้างงานตัวเอง และยืดเวลาการจ่ายภาษีโดยไม่คิดดอกเบี้ย มาตรการเพิ่มเติมในช่วงต้นเดือน มิ.ย. มีการเพิ่มเงินให้เปล่าแก่บริษัทขนาดเล็ก การสนับสนุนและการลงทุนในเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสู่ระบบดิจิทัล การลดภาษีมูลค่าเพิ่มชั่วคราว

โดยมีการให้เหตุผลว่า การลดภาษีมูลค่าเพิ่มลงชั่วคราวจะเป็นการกระตุ้นให้ผู้บริโภคจับจ่ายใช้สอย อาจจะมีการซื้อหาเครื่องใช้ต่าง ๆ ใหม่แทนที่จะชะลอออกไป

ฝรั่งเศส

ฝรั่งเศส ได้ออกกฎหมายให้มีการเพิ่มการใช้จ่ายโดยรวม โดย IMF ระบุว่า เทียบเท่า 5% ของรายได้ต่อปีทั้งประเทศ และขณะนี้กำลังมีการพิจารณาเพิ่มการใช้จ่ายต่อไป

Getty Images
ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส

ฝรั่งเศสได้ใช้มาตรการหลายอย่าง รวมถึงการส่งเสริมประกันสุขภาพ การช่วยเหลือทางการเงินแก่ธุรกิจขนาดเล็ก และคนทำงานอิสระ ขยายสิทธิประโยชน์การว่างงานที่กำลังจะหมดเขตออกไป

เลื่อนกำหนดการจ่ายเงินประกันสังคมและภาษีออกไป และมีการประกาศแผนการเพิ่มเติมสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยการส่งเสริมให้ผู้ผลิตรถยนต์กลับมาผลิตรถยนต์ในฝรั่งเศส

สหภาพยุโรปทำอะไรบ้าง

ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ทั้ง 3 แห่งคือ สหรัฐฯ เยอรมนี และฝรั่งเศส ได้ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สายการบินต่าง ๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมแรก ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19

การรับมือของสหภาพยุโรป ก็สัมพันธ์กับของฝรั่งเศสและเยอรมนี ซึ่งผู้นำของทั้งสองชาติเป็นกุญแจสำคัญในการผลักดันให้มีการรับมือ แม้ว่าประเทศอื่น ๆ อย่างสเปนและอิตาลี จะเป็นชาติที่ได้รับผลประโยชน์หลัก

AFP

มาตรการรับมือของสหภาพยุโรปมีมูลค่ามากกว่า 5 แสนล้านยูโร มีมาตรการที่ออกมาเพื่อช่วยเหลือประเทศที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤตด้านสาธารณสุขครั้งนี้โดยเฉพาะ รวมถึงการช่วยเหลือบุคคลและบริษัทต่าง ๆ ทำให้มีส่วนช่วยพนักงานและการจ้างงาน

แต่ก็ยังมีการโต้เถียงกันทางการเมืองว่า การช่วยเหลือประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป จะอยู่ในรูปของเงินให้เปล่าหรือเงินกู้

มีการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของสหภาพยุโรปที่กำหนดเรื่องการเงินของรัฐบาล (ปกติจะจำกัดการกู้ยืม) และการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ภาคธุรกิจ (การกำหนดว่าความช่วยเหลือภาครัฐจะต้องช่วยยุติความได้เปรียบทางการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม) เพื่อให้ประเทศสมาชิกมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจของตัวเอง

เปรียบเทียบการรับมือ

การเปรียบเทียบระดับการรับมือของทางการไม่สามารถเทียบกันได้ตรง ๆ นักวิเคราะห์ใช้ตัวเลขที่แตกต่างกันไปจาก IMF โดยมาตรการของ IMF ที่มีการนำใช้ทั่วโลก ไม่ได้รวมตัวเลขของสหราชอาณาจักรในสัดส่วนรายได้ของทั้งประเทศในทุกกรณี

สถานการณ์กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มาตรการบางอย่างก็เป็นการเพิ่มการใช้จ่ายโดยตรง บางมาตรการก็เป็นการอนุญาตให้ประชาชนและบริษัทต่าง ๆ ชะลอการจ่ายเงิน นอกจากนั้นก็มีเงินกู้และการรับประกันเงินกู้

กรณีส่วนใหญ่มักเป็นการช่วยเหลือชั่วคราว แม้ว่าการรับประกันเงินกู้จะต้องใช้เงินคืน แต่เงินกู้บางก้อนของรัฐบาลก็ไม่ได้รับชำระคืน

สิ่งที่ชัดเจนก็คือ ไม่ว่าจะเปรียบเทียบกันด้วยมาตรฐานใด การรับมือวิกฤตนี้ของสหราชอาณาจักรและประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่ใช้เงินจำนวนมหาศาล