รีเซต

กรมแพทย์ย้ำ! ตรวจเอทีเคได้ผลบวก ไร้อาการ รักษาที่บ้าน สกัดรับเชื้อใน รพ.สนาม

กรมแพทย์ย้ำ! ตรวจเอทีเคได้ผลบวก ไร้อาการ รักษาที่บ้าน สกัดรับเชื้อใน รพ.สนาม
มติชน
27 กรกฎาคม 2564 ( 14:34 )
95

ข่าววันนี้ 27 กรกฎาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงชี้แจงกรณีการใช้ชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท (ATK) และระบบรองรับภายหลังการตรวจหาเชื้อโควิด-19 สำหรับประชาชน ว่า สำหรับการตรวจด้วยเอทีเค เมื่อได้ผลบวกแล้ว จะใช้คำว่า “เป็นผู้ที่น่าจะติดเชื้อโควิด-19 หรือคนที่น่าจะติดเชื้อ” เนื่องจากชุดตรวจมีหลายชนิด บางชนิดคุณภาพอาจไม่สู้ดี ผลหรือความไว ความจำเพาะอาจไม่ถึงร้อยละ 90 แต่ส่วนใหญ่ที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้การรับรอง ที่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นำไปใช้ได้ผลบวก ร้อยละ 95 ขึ้นไป แต่สิ่งสำคัญคือ ชุดเอทีเคสามารถให้ผลลวงได้ถึงร้อยละ 3-5 แปลว่า มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ผลบวกแล้ว อาจไม่ได้ติดเชื้อจริง ตรงนี้น่ากังวล เพราะหากเรานำผู้ที่ไม่ได้ติดเชื้อจริงไปรวมกับผู้ติดเชื้อ ก็อาจติดเชื้อไปด้วย

 

“ส่วนผู้ที่ผลเป็นลบ และสงสัยอาการอยู่ ก็ต้องทำซ้ำหลัง 3-5 วันภายหลัง ดังนั้น ผลบวกและผลลบมีผลปลอมได้ แต่กรณีผลบวกนั้น ขอเรียนยืนยันว่า เมื่อตรวจเอทีเค หากเป็นบวก สามารถแยกกักที่บ้านได้ทันที (Home Isolation: HI) แต่ต้องแยกกักที่บ้านแบบอยู่ห้องนอนคนเดียว ใช้ห้องน้ำคนเดียว แยกอยู่แยกกินแยกนอน ต้องแยกหมด โดย สปสช. สนับสนุนอาหาร 3 มื้อส่งถึงบ้าน โดยให้งบประมาณมาที่ รพ. ในการส่งอาหารถึงบ้าน และยังมีเครื่องมือดูแล ทั้งเครื่องวัดอุณหภูมิ เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด ยาที่จำเป็น และหากเป็นคนไข้ที่มีโรคประจำตัว ทางการแพทย์แนะนำให้เริ่มยาฟาวิพิราเวียร์ให้เร็วที่สุด หากเข้าเกณฑ์สามารถส่งยาไปที่บ้านได้” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

 

นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับประชาชนที่ตรวจแล้วผลเป็นบวก สามารถทำแยกกัก (HI ) ได้เลยโดยไม่ต้องตรวจซ้ำ แต่หากทำไม่ได้ และต้องเข้าศูนย์พักคอยในชุมชน หรือแยกกักที่ชุมชน (Community Isolation: CI) ซึ่งกรุงเทพมหานคร (กทม.) ทำการเปิดแล้ว 20 กว่าแห่ง

 

“หลักการสำคัญ เราไม่สามารถนำคนไม่แน่ใจว่าติดเชื้อ ไปรวมกับคนติดเชื้อได้ แต่จะทำยังไงไม่ให้การรักษาล่าช้า สิ่งสำคัญคือ ต้องสื่อสารว่า ท่านเป็นผู้น่าจะติดเชื้อ และต้องเซ็นใบยินยอมรักษา และนำตัวพาไปที่ศูนย์พักคอยในชุมชน (CI) ฮอสปิเทล หรือโรงพยาบาล แต่ให้ตรวจมาตรฐานด้วยอาร์ที-พีซีอาร์ (RT-PCR) คู่ขนานกันไป ซึ่งไม่ตรวจเลยก็ไม่ได้ เพราะท่านอาจไม่ได้ติดเชื้อ แต่ตรวจช้าก็ไม่ได้” นพ.สมศักดิ์ กล่าวและว่า จึงต้องมีระบบการรอ การแยก โดยศูนย์พักคอยจะมีการจัดมุมหนึ่งให้สำหรับคนที่รอผลตรวจ เนื่องจากเราต้องแยก ไม่เช่นนั้นหากไม่ติดเชื้อจะปนกับคนติดเชื้อ ทั้งหมดก็เพื่อผลประโยชน์ผู้ป่วย ซึ่งเราจะเร่งการทำอาร์ที-พีซีอาร์ ควบคู่กันไป

 

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. ออกข่าวว่า จะยกระดับศูนย์พักคอยทำอาร์ที-พีซีอาร์ทุกแห่ง และจะพยายามเร่งรัดผล เนื่องจากปัจจุบันบางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) สามารถใช้วิธีอย่างรวดเร็ว 45 นาที หรือ 1 ชั่วโมง ก็ ทราบผล หากเป็นลบก็ต้องแยกออกมาไม่ให้ปะปน ต้องแยกให้ชัดเพื่อความปลอดภัย จริงๆ RT-PCR ยังจำเป็นในกลุ่มที่ต้องเข้าศูนย์พักคอยชุมชน หรือโรงพยาบาล

 

“ขอย้ำปัจจัยสู่ความสำเร็จในการควบคุมโควิด-19 มี 5 ด้าน คือ 1.นโยบายที่ชัดเจน 2.ระบบการควบคุมโรคดี 3.ระบบการรักษาพยาบาลเข้มแข็ง 4.การฉีดวัคซีนครอบคลุม และ 5.ทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือ ขณะนี้ขอย้ำว่า บุคลากรเจ้าหน้าที่หน้างานยินดีดูแลผู้ป่วยเต็มที่ แต่ด้วยตอนนี้ล้นเตียงจริงๆ อย่าง รพ.ราชวิถี มีรอเตียงอีก 10 กว่าเตียง รอที่ห้องฉุกเฉิน (ER) เมื่อเตียงบนตึกว่าง ก็จะต้องนำส่วนที่รอขึ้นไปทันที ซึ่งไม่ใช่แค่ รพ.ราชวิถี แต่ทุก รพ.เป็นเหมือนกันทั้งหมด ทั้งนี้ พวกเราคนไทยไม่ทิ้งกัน ขอสัญญาว่าจะทำดีที่สุด เพื่อทุกชีวิต” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

 

เมื่อถามถึงกรณีพระภิกษุสงฆ์ในโรงเรียนปริยัติธรรม ย่านบางนา ติดเชื้อกว่า 200 รูป รพ.สงฆ์ ดูแลอย่างไร นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า กรณีพบพระสงฆ์ติดเชื้อนั้น รพ.สงฆ์ ได้เข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งหลักการคล้ายๆ คอมมูนิตี้ ไอโซเลชั่น โดยกรณีนี้เรียกว่า temple Isolation โดยดูแลพระที่วัดนั้น หากอาการไม่มาก รพ.สงฆ์ ได้จัดแพทย์ พยาบาล และร่วมกับชุมชนมาดูแลพระภิกษุสงฆ์ ดูอาการภาพรวมทั้งหมด หากพระรูปใดอาการมากขึ้น เข้าข่ายสีเหลืองเข้ม ต้องการออกซิเจนก็จะนิมนต์ไปดูแลที่ รพ.สงฆ์ แต่หากเริ่มมีอาการก็จะเริ่มให้ยา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง