รีเซต

วงคุยเพื่อไทย ชี้ อนามัยเจริญพันธุ์ คือความจำเป็นพื้นฐาน หนุน "ผ้าอนามัยฟรี"

วงคุยเพื่อไทย ชี้ อนามัยเจริญพันธุ์ คือความจำเป็นพื้นฐาน หนุน "ผ้าอนามัยฟรี"
ข่าวสด
8 มีนาคม 2565 ( 19:13 )
82
วงคุยเพื่อไทย ชี้ อนามัยเจริญพันธุ์ คือความจำเป็นพื้นฐาน หนุน "ผ้าอนามัยฟรี"

ข่าววันนี้ (8 มี.ค.) พรรคเพื่อไทย จัดงานเปิดตัวการศึกษานโยบายผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า และ นิทรรศการที่ชื่อ ‘นิทรรศกี’ เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องอคติที่มากับประจำเดือนและค่าใช้จ่ายที่เลี่ยงไม่ได้จากการเป็นเมนส์ ในบ่ายของวันเดียวกันจึงจัดวงพูดคุย ‘สวัสดิการผ้าอนามัยคือสิทธิมนุษยชน’ เพื่อขยายความต่อจากในนิทรรศการนิทรรศกี

 

 

โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ขัตติยา สวัสดิผล อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย, จิตติมา ภาณุเตชะ ที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา, วรางทิพย์ สัจจทิพวรรณ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ผ้าอนามัย Ira Concept และผู้รณรงค์การขจัด Period shaming, และ โชติรส นาคสุทธิ์ นักเขียน, เจ้าของเพจ ‘เจ้าแม่’ และ Host รายการ ‘Sex is More’ ดำเนินรายการโดย ชานันท์ ยอดหงษ์ ผู้รับผิดชอบนโยบายด้านอัตลักษณ์และความหลากหลาย พรรคเพื่อไทย

 

ขัตติยา เล่าว่า แม้พรรคไทยรักไทยในอดีตจะไม่มีนโยบายเพื่อความหลายทางเพศโดยตรง แต่ก็ได้จัดทำนโยบายเกี่ยวกับสวัสดิการและความเสมอภาคในภาพรวม ตั้งแต่ 30 บาทรักษาทุกโรค, กองทุนหมู่บ้าน, OTOP รวมไปถึงนโยบายเพื่อครอบครัวและพัฒนาการของเด็ก อย่าง ‘ถุงรับขวัญ’ เมื่อมาเป็นพรรคเพื่อไทยก็มีนโยบายอย่าง ‘กองทุนสตรี’ ที่ตั้งใจให้ผู้หญิงเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการนำมาสู่การพัฒนานโยบายเพื่อความหลากหลายทางเพศ ให้รับกับความหลากหลายของสังคม

 

“วันนี้พรรคเพื่อไทยมีคนรุ่นใหม่เข้ามาพัฒนานโยบาย เชื่อมกับบุลคลากรในพรรคที่เคยทำนโยบายสำเร็จ นี่จึงเป็นก้าวใหม่ของพรรคเพื่อไทยที่จะพัฒนานโยบายเพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม และร่วมมือกันของคนหลายรุ่นเพื่อทำงานร่วมกัน” ขัตติยากล่าว

 

จิตติมา ในฐานะภาคประชาชน อธิบายถึงความพยายามแก้ปัญหาเกี่ยวกับผ้าอนามัยตลอดมาว่า แม้มีความพยายามจะแก้ปัญหา แต่ก็เป็นการแก้เฉพาะเรื่อง เช่น แก้ปัญหาเรื่องโรค แต่ไม่ได้มองไปถึงความเป็นธรรม อนามัยเจริญพันธุ์ หรือมองถึงรากของปัญหาเพื่อตั้งใจแก้ปัญหาจริงๆ

 

จิตติมา ทิ้งท้ายว่า ความพยายามผลักดันนโยบายผ้าอนามัย ไม่ใช่เพียงแค่การออกกฎหมาย แต่เป็นการเปลี่ยนความคิดของสังคมว่าเรื่องสิทธิเนื้อตัวร่างกายเป็นเรื่องจำเป็น ถ้าเราอยู่ในสังคมที่เคารพสิทธิ เราจะออกกฎหมายเพื่อเป็นหลักพิงสำหรับคุ้มครองความเป็นธรรม ออกกฎหมายเพื่อให้คนรู้สึกดีกับอวัยวะเพศตัวเอง รู้สึกดีกับตัวเอง เพราะถ้าไม่รู้จักเราจะรักไม่เป็น และถ้ามีผ้าอนามัยอยู่ในห้องน้ำและฟรี มันกำลังจะบอกกับเราในฐานะพ่อ ในฐานะลุงป้าน้าอาว่า มันเป็นเรื่องปกตินะ คือเรากำลังเปลี่ยนมายเซ็ตว่ารัฐเห็นความจำเป็นพื้นฐาน และเรื่องนี้ต้องการความมุ่งมั่นตั้งใจในฐานะนโยบายการเมือง ประเด็นนี้ไม่ใช่แค่หยิบมาเพื่อสร้างความสนใจแต่ต้องการการเปลี่ยนแปลงจริงๆ

 

วรางทิพย์ ในฐานะผู้ประกอบการย้ำว่า ไม่ได้ทำผลิตภัณฑ์เพื่อผลตอบแทนทางการตลาด ไม่ได้ทำเพียงผ้าอนามัย แต่ต้องการเป็นกระบอกเสียงเพื่อขจัด Period shaming, Period joke และ Period poverty ด้วย ซึ่งจะขจัดมายาคติทั้งหมดนี้ได้ ต้องทำงานเชิงข้อมูลและต้องสร้างทางเลือกให้กับประชาชน

 

 

สุดท้าย กับประเด็นคำถามที่ว่านโยบายนี้จะเป็นเพียงการสร้างประโยชน์ให้กับคนเฉพาะกลุ่มหรือไม่ โชติรสตอบคำถามด้วยการตั้งคำถามกลับว่า ผู้ที่นั่งอยู่ในงานเสวนานี้ได้ใช้เรือดำน้ำหรือไม่ คนต่างจังหวัดได้ใช้รถไฟใต้ดินหรือรถไฟฟ้าหรือไม่ ? คำตอบชัดเจนก็คือ นโยบายบางชิ้นไม่ได้ตอบโจทย์คนทุกกลุ่ม แต่ความสำคัญคือ พรรคการเมืองหรือรัฐบาล ควรสนับสนุนนโยบายที่แก้ปัญหาประชาชนที่แตกต่างหลากหลายกันให้ได้ และทิ้งท้ายว่า คำว่า ‘สิทธิมนุษยชน’ ไม่มีอะไรใหม่ หลายคนต่อสู้เพื่อให้ได้มาและสิทธิของเราพัฒนาขึ้นทุกวัน เรียกว่าสิทธิมนุษยชนอัพเดทรายนาทีตามโลกที่หมุนไว จึงเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วที่เราจะพัฒนานโยบายนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง