รีเซต

ผลวิจัย ม.รังสิต ชี้ คนกรุงเทพฯ 99% ทุกอาชีพ รายได้ การศึกษา ไม่เอาแล้วผู้ว่าฯแต่งตั้ง

ผลวิจัย ม.รังสิต ชี้ คนกรุงเทพฯ 99% ทุกอาชีพ รายได้ การศึกษา ไม่เอาแล้วผู้ว่าฯแต่งตั้ง
มติชน
19 พฤษภาคม 2565 ( 22:04 )
49
ผลวิจัย ม.รังสิต ชี้ คนกรุงเทพฯ 99% ทุกอาชีพ รายได้ การศึกษา ไม่เอาแล้วผู้ว่าฯแต่งตั้ง

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต เปิดเผยผลวิจัยของนายภาณุพัฒน์ เหลือพร้อม นางสาวพิมพ์ณัฐชยา โรจนโยทิน นางสาวฐรดา สิรปวเรศ นักศึกษาปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต เรื่อง “ทัศนคติของประชาชนต่อการเลือกตั้งท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2565” เจาะลึกเขตดอนเมือง เขตพระนคร และเขตจอมทอง ตามลำดับ ซึ่งเก็บแบบสอบถามผู้มีสิทธิเลือกตั้งอายุ 18 ปีขึ้นไป เขตละ 400 คน รวม 1,200 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 16 เมษายน ถึง 8 พฤษภาคม 2565

 

โดยมีคำถามเกี่ยวกับความต้องการ ผู้ว่าฯ กทม. มาจากการแต่งตั้ง หรือเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน

 

ได้ผลสรุป ดังนี้

ผู้ว่าฯ กทม. แต่งตั้ง 5 คน 0.4%
ผู้ว่าฯ กทม. เลือกตั้ง 1,188 คน 99%
ไม่มีความเห็น 7 คน 0.6%

 

รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ ยังสรุปข้อมูลที่น่าสนใจ ได้แก่

1. นายกรัฐมนตรีแห่งรัฐบาลรัฐประหาร คสช. ได้ปลดผู้ว่าที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนด้วยอำนาจตามมาตรา 44 เมื่อ 18 ตุลาคม 2559 และแต่งตั้งบุคคลอื่นขึ้นมาเป็นผู้บริหารกรุงเทพฯแทน ได้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าเป็นการกระทำที่ขัดแย้งกับความประสงค์ของประชาชนที่ต้องการผู้ว่าฯ กทม. มาจากเลือกตั้งที่สูงมากถึง 99%

 

2. ความปรารถนาให้มีผู้ว่าฯ กทม. จากเลือกตั้งโดยประชาชนที่สูงมาก สอดคล้องกับการที่คนกรุงเทพฯ ไม่เอารัฐประหาร คสช. 2557 ที่สูงมากถึง 93.0%

 

3. ทั้งชายหญิงเพศทางเลือก ทุกช่วงอายุ ทุกกลุ่มรายได้ ทุกกลุ่มการศึกษา ทุกอาชีพแม้แต่ข้าราชการพนักงานของรัฐ ไม่เอารัฐประหาร คสช. และต้องการผู้ว่าฯ กทม. มาจากการเลือกตั้ง

 

4. เท่ากับประชาชนคนกรุงเทพฯ ได้คัดค้านที่มาของผู้ว่า กทม. ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. 2560 มาตรา 252 ที่จะให้ผู้ว่าฯ กทม. นั้น “จะให้มาโดยวิธีอื่นก็ได้” ไม่ใช่จากเลือกตั้งโดยประชาชนเท่านั้น

 

ผลวิจัยนี้สอดคล้องกับผลที่ว่าคนกรุงเทพฯ ไม่เอารัฐประหาร คสช. 2557

ทั้งนี้ ยังมีรายละเอียดเพิ่มเติม ดังนี้

ด้านเพศ ชาย 554 คน 46.2% หญิง 618 คน 51.5% เพศทางเลือก 28 คน 2.3%

 

ด้านอายุ Gen Z (อายุ 18-25 ปี) 300 คน 25.0% Gen Y (อายุ 26-42 ปี) 572 คน 47.6% Gen X (อายุ 43-57 ปี) 247 คน 20.6% Gen Baby Boomer ขึ้นไป (อายุ 58 ปีขึ้นไป) 81 คน 6.8%

 

ด้านรายได้ต่อเดือน รายได้น้อยกว่าหรือเท่ากับ 10,000 มี 86 คน 7.1% รายได้ 10,001-20,000 มี 498 คน 41.5% รายได้ 20,001-30,000 มี 404 คน 33.7% รายได้ 30,001-40,000 มี 130 คน 13% รายได้ตั้งแต่ 40,001 ขึ้นไป มี 56 คน 4.7%

 

ด้านการศึกษา ประถมศึกษาหรือต่ำกว่า 10 คน 0.8% มัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า 179 คน 14.9% อนุปริญญาหรือเทียบเท่า 412 คน 34.3% ปริญญาตรีหรือเทียบเท่า 506 คน 42.2% สูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า 93 คน 7.8%

 

ด้านอาชีพ นักเรียนนักศึกษา 154 คน 12.8% พนักงานเอกชน 416 คน 34.7% รับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน 171 คน 14.2% เจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ 131 คน 10.9% ข้าราชการ/พนักงานของรัฐ/รัฐวิสาหกิจ 199 คน 16.6% พ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน 93 คน 7.8% อื่นๆ 36 คน 3.0%

 

คำถาม ท่านเห็นด้วยกับการรัฐประหารของ คสช. พ.ศ.2557 หรือไม่ (1,200 คน)

เห็นด้วย 32 คน 2.7%
ไม่เห็นด้วย 1,116 คน 93.0%
ไม่มีความเห็น 52 คน 4.3%

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง