“พิพิธภัณฑ์การศึกษาไทย แหล่งเรียนรู้ในเมืองหลวง” วันนี้ผมจะพาท่าน มารู้จักแหล่งเรียนรู้ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองหลวงก็ว่าได้นะครับ พิพิธภัณฑ์การศึกษาไทย ซึ่งตั้งอยู่ที่วังจันทรเกษม อาคารราชวัลลภกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นหน่วยงานการศึกษากระทรวงศึกษาธิการ ที่เป็นหน่วยงานส่วนกลางที่จัดการศึกษาให้กับเยาวชนและนักศึกษาทุกระดับของประเทศไทยเรา ก่อนที่ผมจะพาท่านไปเรียนรู้เกี่ยวกับแหล่งเรียนรู้ภายในพิพิธภัณฑ์การศึกษาไทย ผมจะขอเล่าประวัติความเป็นมาแบบย่อ ๆ ของพิพิธภัณฑ์การศึกษาไทยแห่งนี้ พิพิธภัณฑ์การศึกษาไทยแห่งนี้ ตั้งอยู่ที่วังจันทรเกษม อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ เดิมทีนั้นสถานที่แห่งนี้เคยเป็นวังของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์พระราชทานให้สร้างเป็นที่ประทับ ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ซึ่งในตอนเริ่มสร้างวังนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชดำริให้ดำเนินการสร้างต่อให้จนแล้วเสร็จ และโปรดเกล้าให้สถานที่แห่งนี้เป็นโรงเรียนการเรือน ซึ่งเป็นสถานพยาบาลสำหรับข้าราชการ และข้าราชบริพาร รวมทั้งที่ทำการของกรมมหรสพ ต่อมาในสมัยสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ได้ยกวังจันทรเกษมให้เป็นที่ทำการของกระทรวงธรรมการ และต่อมาก็เปลี่ยนเป็น “กระทรวงศึกษาธิการ” จนถึงปี พ.ศ. 2559 กระทรวงศึกษาธิการ เห็นว่าอาคารราชวัลลภ มีสภาพเสื่อมโทรมตามอายุ ตามกาลเวลา จึงได้ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่าง ๆ ร่วมบูรณะ และอนุรักษ์อาคารราชวัลลภ วังจันทรเกษม ขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่งและก็เสร็จสมบูรณ์ สวยงาม อย่างสมพระเกียรติ ดั่งที่ท่านเห็นในปัจจุบัน ซึ่งภายในอาคารแห่งนี้ประกอบด้วย พิพิธภัณฑ์การศึกษาไทย ห้องทำงานรัฐมนตรีปลัดกระทรวง รองปลัดกระทรวง ผู้ช่วยปลัดกระทรวง และมีห้องประชุมขนาดใหญ่และขนาดเล็กในวังจันทรเกษมนี้อีกด้วย วันนี้ผมจะมาพูดถึง “พิพิธภัณฑ์การศึกษาไทย” และแหล่งการเรียนรู้ ว่ามีอะไรบ้างในพิพิธภัณฑ์การศึกษาไทยแห่งนี้ ซึ่งจากการที่ผมได้เข้าอบรมเรื่องการประชาสัมพันธ์ครั้งก่อนของสำนัก ได้รับมอบหมายให้ทำกิจกรรมนำเสนอความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์การศึกษาไทยแห่งนี้ วันนี้จึงได้เก็บความรู้และบรรยากาศในการทำงานครั้งนั้นมาเล่าให้เพื่อน ๆ ฟัง การอบรมครั้งนั้น เราไปเก็บข้อมูลที่นี่ถึง 2 วันเต็ม ๆ นะครับ วันแรกที่เราเข้าไปก็เจอกับ คุณปรีชา เจนรัตนา (คุณหนุ่ม) และน้องส้ม ซึ่งเป็นบรรณารักษ์และเจ้าหน้าที่ ที่รับผิดชอบและดูแลพิพิธภัณฑ์แห่งนี้อยู่ ซึ่งทั้งสองท่านนี้ก็เป็นเพื่อนของผมเองแหละครับ ซึ่งเป็นเพื่อนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการด้วยกัน และก็เคยอบรมร่วมกันมาก็หลายครั้ง หลังจากที่ผมได้พบคุณหนุ่มและน้องส้มแล้ว เราก็ทักทายกันตามคนรู้จักหลังจากนั้นคุณหนุ่มและน้องส้มก็เล่าประวัติคร่าว ๆ ของสถานที่แห่งนี้โดยรวมให้เราฟัง โดยพิพิธภัณฑ์การศึกษาไทยแห่งนี้ ก็จะแบ่งเป็นห้องการเรียนรู้จำนวน 5 ห้อง ซึ่งคุณหนุ่มก็ได้อธิบายความหมายทีละห้องให้เราฟังคร่าวๆ ก่อน และพาพวกเราเดินชมทีละห้อง ดังนี้ ห้องที่ 1 ห้องวิชาการบทเรียน ห้องนี้คือห้องราชสกุลมหิดลกับการศึกษา ซึ่งจะมีโต๊ะทำงานของท่าน มีหนังสือเก่าที่จัดเรียงอย่างเป็นระเบียบ เหมือนว่าท่านยังมาทำงานที่นี่นี่ประจำ เพราะความสะอาดและความมีชีวิตของโต๊ะทำงาน ถัดมาก็จะมีจอโปรเจคเตอร์ซึ่งฉายสไลด์ภาพพระกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเริ่มตั้งแต่เรื่องศาสตร์พระราชาของพระองค์ ความรู้เกี่ยวกับแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งรวบรวมเป็นวีดีทัศน์สั้น ๆ จะฉายบนจอวนไปตลอด ซึ่งรอบหนึ่งก็ใช้เวลาประมาณ 15 นาที ห้องที่ 2 ห้องเรียนสมัยรัตนโกสินทร์ ห้องเรียนห้องนี้จะมีบรรยากาศความมืดสลัวนิดนึง และภายในห้องก็จะมีลักษณะจำลองเป็นแบบห้องเรียน เป็นกระดานดำ และก็ยังมีโต๊ะหนังสือ โต๊ะนักเรียน และตรงหน้าจอภาพในห้องนั้นก็จะมีเสียงของครูมิชชันนารีสาว บรรยายเหมือนว่ากำลังสอนหนังสืออยู่ 3. ห้องเรียนในยุคสุโขทัย อยุธยา ห้องเรียนในห้องนี้จะเป็นห้องนั่งเรียน แบบนั่งกับพื้น โดยการใช้กระดานชนวนเรียน ซึ่งเป็นบรรยากาศแบบสมัยอยุธยา พวกเราจึงลองเขียนหินลงบนกระดานชนวน ก็เขียนได้แต่ว่าการเขียนหินมันจะต่างจากปากกาและดินสอ เพราะเราต้องใช้น้ำหนักมือกดแรงให้มากขึ้น หลังจากที่เราเขียนเสร็จแล้วการจะลบเราก็ใช้ นิ้วเราลบออกซึ่งก็ลบออกได้อย่างง่ายดายเหมือนยางลบกันเลยทีเดียว แล้วเดินต่อมาอีกนิดก็จะเจอลายเสือไทยที่พาเราย้อนไปถึงในยุคสมัยกรุงสุโขทัย ที่สามารถให้เราเรียนหนังสือได้ในยุคนั้น แล้วถัดมาก็จะมีแท่นศิลาจารึกในสมัยพ่อขุนรามคำแหง 4. ห้องจินดามณี ห้องนี้จะเป็นตู้กระจกใสหลายตู้ มีโต๊ะที่ปูด้วยผ้าสีเพื่อวาง สมุด หนังสือ ของโบราณที่วางโชว์ โดยมีแสงไฟส่องให้เราเห็นชัดเจนขึ้น ซึ่งในห้องนี้ก็มีแบบหนังสือเรียนแบบไทยเล่มแรกในประเทศไทย และหนังสือเก่าอีกมากมายหลายเล่มให้เราได้ชม 5. ห้องสมุดหยุดอ่านไม่ได้ ซึ่งห้องนี้เป็นห้องสมุดที่ออกแบบได้สวยงาม และ อยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ซึ่งมีหนังสือมากมายให้เราได้ลองหยิบอ่าน ซึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับการศึกษาเกี่ยวกับงานวิจัยต่าง ๆ ของหน่วยงานราชการต่าง ๆ ซึ่งก็มีมากมายหลายเล่ม ซึ่งก็สามารถให้เราเลือกหยิบเลือกอ่านดูได้ตามใจชอบ พิพิธภัณฑ์การศึกษาไทย : ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 319 อาคารราชวัลลภกระทรวงศึกษาธิการ วังจันทรเกษม ถนนราชดำเนินนอก แขวงดุสิต เขตดุสิตกรุงเทพมหานคร เปิดบริการให้ชมฟรี ในวัน และเวลาราชการ ตั้งแต่เวลา 8.00 - 17.00 น. หวังว่าเพื่อน ๆ ที่ต้องการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติการศึกษาไทยก็สามารถมาศึกษาที่แห่งนี้ สำหรับน้อง ๆ นักศึกษาที่ต้องการไปเรียนรู้ หรือว่าต้องการที่จะไปเก็บรายละเอียดเพื่อทำรายงานหรือเพื่อประกอบกิจกรรมอะไรอย่างอื่น ก็สามารถไปได้นะครับภาพประกอบ โดย ครูชอวร์